×

Dow Jones ดิ่งเกือบ 3,000 จุด หนักสุดนับจาก ‘Black Monday’ ปี 1987 แม้ Fed งัดมาตรการ QE ลดดอกเบี้ยรับมือโควิด-19

17.03.2020
  • LOADING...

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงระนาวต่อเนื่องวานนี้ (16 มีนาคม) โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ดิ่งหนักสุดนับจากเหตุการณ์ Black Monday ปี 1987 ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 1% สู่ระดับ 0-0.25% พร้อมออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัว ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาก็ตาม

 

ดัชนี Dow Jones ร่วง 2,997.10 จุด หรือ 12.9% ปิดที่ 20,188.52 จุด ขณะที่ S&P 500 ร่วง 12% ปิดที่ 2,386.13 จุด ทำสถิติปิดที่ระดับต่ำสุดนับจากเดือนธันวาคม 2018 ส่วน Nasdaq Composite ดิ่ง 12.3% ปิดที่ระดับ 6,904.59 จุด ซึ่งเลวร้ายสุดเป็นประวัติการณ์

 

นักวิเคราะห์ในต่างประเทศมองว่า ความเคลื่อนไหวของ Fed ไม่ช่วยกระตุ้นอารมณ์อยากซื้อหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทมากนัก ตลาดยังคงตื่นตระหนกกับข่าวการระบาดของโควิด-19 หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแนะนำวานนี้ ให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันมากกว่า 10 คนขึ้นไป ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐบาลยังขาดแผนที่ชัดเจนในการปกป้องภาคธุรกิจและแรงงานในประเทศ จากภาวะที่เข้าใกล้การชัตดาวน์เศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัส

 

ถึงแม้นักวิเคราะห์มองว่า Fed มีความกล้าหาญที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยรวดเดียวอีก 1% หลังจากเพิ่งลด 0.5% ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พร้อมงัดมาตรการ QE เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่เวลานี้บรรดาบริษัท ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ตลาด ต่างกำลังรอคอยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสตกลงกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นั่นคือแผนขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือทางการคลังจากภาครัฐ

 

ขณะที่ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ KTBST SEC บอกกับ THE STANDARD ว่า  สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นตัวแปรที่สำคัญตัวเดียวของตลาดในเวลานี้ 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลงอย่างหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา จนต้องใช้ Circuit Breaker พักการซื้อขายชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งการที่ Fed ดำเนินนโยบายแบบ Proactive เป็นสัญญาณที่สะท้อนความกังวลของ Fed ว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของ Fed ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความตกใจและเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก (Panic Sell)

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising