ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ และวิธีที่จะเช็กว่าเรา ‘ฉลาด’ แค่ไหน ให้ลองย้อนดูที่ ‘แม่’ ของเรานี่ล่ะ
จากผลการศึกษาของเว็บไซต์ psychology-spot ระบุหลักฐานทางชีววิทยาที่ช่วยยืนยันว่า ยีนจากแม่ เป็นตัวกำหนดความฉลาดของลูกน้อย
XX
ยีนจากผู้เป็นแม่จะเป็นตัวกำหนดความฉลาดของลูก เนื่องจากความฉลาดจะถูกส่งต่อผ่านยีนที่มีโครโมโซมเอ็กซ์ ซึ่งเพศหญิงมีโครโมโซมเอ็กซ์ 2 ตัว ในขณะที่เพศชายมีเพียง 1 ตัวเท่านั้น แถมความฉลาดที่เราอาจจะได้จากพ่อผ่านยีนก็ยังถูกระงับการทำงานอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการศึกษาในปี 1994 ของ Medical Research Council Social and Public Health Sciences Unit ที่จัดสัมภาษณ์คนกว่า 12,686 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 14-22 ปี และผลลัพธ์ที่ได้คือ ความฉลาดทางปัญญา (IQ) เชื้อชาติ การศึกษา และระดับสถานภาพทางสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของความฉลาดนั้น ได้มาจากแม่ล้วนๆ
รวมทั้งการส่งต่อดีเอ็นเอ ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ที่ลูกจะได้จากผู้ที่เป็นแม่เท่านั้น ซึ่งไมโทคอนเดรียจะช่วยดูแลกระบวนการเมตาบอลิซึม การที่ร่างกายของเรามีไมโทคอนเดรียที่ดี ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลทำให้ระบบการทำงานของสมองนั้นดีตามไปด้วย
1+1
นอกเหนือจากหลักฐานทางชีววิทยาแล้ว การที่แม่ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยกัน สร้างความผูกพันธ์ซึ่งกันและกัน ก็ช่วยส่งเสริมให้แม่ส่งต่อความฉลาดให้กับลูกได้
ผลการศึกษาพบว่า แม่ รับบทบาทสำคัญในการดูแลลูกในช่วงการพัฒนาสติปัญญาของลูกวัยแรกเริ่ม ผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์และร่างกาย ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยังส่งผลต่อระดับสติปัญญาที่ดีด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมินเนโซต้า (University of Minnesota) พบว่าเด็กที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับแม่ จะมีความสามารถในการแก้โจทย์เกมที่ซับซ้อนได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี และยังแสดงความหงุดหงิดในขณะที่แก้ไขปัญหาน้อยกว่าด้วย เนื่องจากผู้เป็นแม่มักหยิบยื่นแรงสนับสนุนให้ลูกในการแก้ไขปัญหาได้มากกว่า ซึ่งส่งผลให้ลูกน้อยพัฒนาความสามารถของตัวเองต่อได้มากขึ้น
30>20
รู้หรือไม่ว่าแม่ที่มีอายุมาก มักเป็นแม่ที่ดีกว่าแม่ที่มีอายุน้อย
Aarhus BSS แสดงผลการศึกษาที่ระบุว่าแม่ที่มีอายุมาก มีแนวโน้มที่จะ ทำโทษหรือตะคอกลูกของตนน้อยกว่าแม่ที่มีอายุน้อย ซึ่งส่งผลทำให้ลูกเติบโตมาพร้อมปัญหาทางพฤติกรรม สังคม และอารมณ์ที่น้อยกว่า
มีการศึกษาที่ติดตามเด็กในวัยเรียน พบว่าเด็กในวัย 7-11 ปีที่มีแม่อายุมาก จะมีการใช้ภาษาที่ดีกว่า ซับซ้อนกว่า และไม่มีปัญหาทางพฤติกรรม รวมทั้งสภาวะอารมณ์ขณะตั้งครรภ์ของผู้เป็นแม่ที่มีอายุมากจะเครียดน้อยกว่า และค่อนข้างมีทัศนคติด้านบวกต่อการรับบทบาทเป็นผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นเพราะอายุที่มากขึ้น ทำให้คนเรามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มากขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้งในสังคมปัจจุบัน ก็มีการยืนยันมาแล้วว่า สตรีเริ่มสร้างครอบครัว และมีบุตรคนแรกในช่วงวัยที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างในผลสำรวจของ Centers for Disease Control and Prevention ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผู้หญิงจะมีลูกคนแรกในช่วงวัย 20 ปี แต่ในปี 2016 ผู้หญิงที่มีอายุ 30-34 ปี กลับมีลูกเพิ่มสูงขึ้นถึง 103 คนต่อ 1,000 คน อย่างไรก็ตามช่วงวัยที่ผู้หญิงกลายเป็นแม่คนมากที่สุด คือวัย 28 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นวัยที่สูงกว่าเมื่อก่อนอยู่ดี
รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่ลังเลกับการมีครอบครัว จะไปเรียนต่อเพื่อสะสมความรู้ แล้วรอมีลูกตอนแก่กว่านี้สักนิดก็ไม่เสียหาย
ภาพประกอบ: พัชชา พูนพิริยะ