×

เปิดตำราอาหารจานด่วนแดนปลาดิบ ‘ดงบุริ’ (Donburi, 丼) พร้อม 8 พิกัดในโตเกียวที่ต้องไปโดน

02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ‘ดงบุริ’ ไม่ใช่ของใหม่ในวัฒนธรรมอาหารแดนอาทิตย์อุทัย แต่เป็นจานดั้งเดิมที่ประยุกต์จากความเร่งรีบจนมีลักษณะคล้ายข้าวราดแกง หรืออาหารจานเดียวของบ้านเรา
  • น้ำซอสที่ใช้ในการปรุงดงบุริจะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมกับวัตถุดิบ เครื่องปรุงหลักที่ใช้มักมี ‘ดาชิ’ น้ำสต็อกปลาญี่ปุ่น ปรุงรสด้วยโชยุและมิรินเป็นส่วนประกอบยืนพื้น
  • ดงบุริรองรับทุกความต้องการของคนช่างกินได้ทุกประเภทไม่มีสิ้นสุด แม้กระทั่งในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแบบสาขาก็ยังมีร้านขายดงบุริอยู่มาก ดงบุริจึงเปรียบเสมือน ‘แมคโดนัลด์’ หรือ ‘เคเอฟซี’ ของแดนอาทิตย์อุทัย
  • แนะนำ 8 เมนูดงบุริห้ามพลาด พร้อมพิกัดของอร่อยเมื่อไปเยือนโตเกียว

     สำหรับการเดินทางแต่ละครั้ง อาหารนับเป็นส่วนประกอบสำคัญอันขาดไม่ได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ตกถึงท้องแล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่อาหารรสเลิศล้ำยังสร้างความอิ่มหนำสำราญและอิ่มอกอิ่มใจได้อีกด้วย อาหารอร่อยมักทำให้ผู้กินอารมณ์ดี ยิ่งเป็นทริปท่องเที่ยวด้วยแล้ว การกินอาหารถิ่นอร่อยถูกปากย่อมเป็นยาใจชูกำลังให้เราเพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ผิดหวังกับสถานที่ไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดหวังกับมื้ออาหาร คะแนนทริปพักผ่อนจะตกฮวบในทันที

     ประเทศญี่ปุ่นมีอาหารพื้นถิ่นอยู่หลายอย่าง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก อย่างอาหารจำพวกเส้นก็เช่น ราเมน โซบะ อุด้ง จำพวกข้าวก็มีทั้งซูชิ ข้าวปั้น ไหนจะมีของดิบอย่างซาชิมิ เมนูหม้อไฟ และจานทอดสารพันอย่าง ในทุกเมนูที่ผ่านตานักเดินทางมาทั้งหมด เราเชื่อว่า 99.99% ต้องรู้จัก เคยเห็น และเคยกินเมนูจำพวก ‘ดงบุริ’ (Donburi, ) ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะถูกปิดหูปิดตาจริงๆ เพราะไม่ว่าจะย่างกรายไปทางไหนในแดนปลาดิบก็สามารถหาซื้อดงบุริกินได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หน้าสถานีรถไฟ ร้านอาหารข้างทาง ตามซูเปอร์มาเก็ต หรือแม้กระทั่งตามสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อต่างๆ

     เมนูดงบุรินั้นหาง่าย ทำกินเองได้ รสชาติอร่อย และอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เป็นอาหารที่เรียกได้ว่า ‘ตอบโจทย์’ คนญี่ปุ่นทุกเพศวัย รวมถึงนักเดินทางต่างถิ่นอย่างเราด้วย บทความนี้ THE STANDARD จะพาคุณไปเจาะลึกท่องโลกของดงบุริว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มาจากไหน มีส่วนประกอบใดบ้าง พร้อม 8 ร้านแนะนำ เผื่อไปญี่ปุ่นคราวหน้าจะได้ชิมกันได้ถูกจริตและหาพิกัดร้านไปหม่ำได้ถูกต้อง!

 

 

ประวัติ ‘ดงบุริ’

     ดงบุริเป็นอาหารจานเดียวซึ่งเต็มไปด้วยหน้าต่างๆ ถ้าเทียบกันก็คล้ายอาหารของร้านตามสั่งบ้านเรานั่นแหละ เพียงแต่สั่งตามใจไม่ได้

     คำว่า ‘ดงบุริ’ แต่เดิมว่ากันว่าใช้อิงถึง ‘ชามก้นลึก’ อาจทำจากไม้ เซรามิก หรือดินเผา จะมีฝาปิดหรือไม่มีก็ได้ ทว่าปัจจุบันถูกใช้เรียกแทนประเภทของอาหาร มีลักษณะเป็นข้าวสวยเสิร์ฟในถ้วยก้นลึกและมีท็อปปิ้งหน้าต่างๆ เช่น หมูทอด ปลาไหล เนื้อตุ๋น เทมปุระ ฯลฯ

     ที่ญี่ปุ่นมีดงบุริเป็นสิบๆ ชนิด อะไรก็สามารถทำเป็นดงบุริได้ การเรียกชื่อให้เรียกตามท็อปปิ้ง แล้วเติม ‘ด้ง’ (Don, 丼) ต่อท้าย เมนูยอดฮิตคุ้นหูคนไทยมีหลายอย่าง เช่น คัตสึด้ง (Katsudon) ข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอด, เทนด้ง (Tendon) ข้าวหน้าอาหารทะเลและผักชุบแป้งทอด, กิวด้ง (Gyudon) ข้าวหน้าเนื้อ หรือ อุนะด้ง (Unadon) ข้าวหน้าปลาไหล ฯลฯ

     ต้นกำเนิดของดงบุริ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามาจากที่ใด บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ‘ดนบุรี’ หรือ ‘กรุงธนบุรี’ บ้านเรานั่นแหละ เหตุจากการค้าขายถ้วยชามสมัยนั้น ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นชั้นสูงนิยมหาซื้อเครื่องชามดินเผาจากเมืองธนบุรี ซึ่งก็มีนักวิชาการหลายท่านยกหลักฐานมาถกกันว่าเป็นไปได้ยาก เพราะอยู่ในช่วงสงครามและไม่เคยค้าขายกันโดยตรง อย่างมากก็กระทำผ่านประเทศจีนที่เรานิยมค้าขายด้วยในสมัยนั้น บ้างก็บอกว่าไม่ได้มาจากธนบุรีหรอก แต่มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 17 อีก

     แต่ที่ให้ข้อมูลเหมือนกันเกือบทุกสำนักคือดงบุริเริ่มปรากฏให้เห็นในยุคเอโดะช่วงราว ค.ศ. 1603-1868 เป็นปีใดไม่แน่ชัด เป็นอาหารจานง่ายๆ ชามเล็กที่นิยมเสิร์ฟกันตามโรงละครหรืองานเทศกาลต่างๆ เพราะทำง่าย สะดวก รวดเร็ว ต่อมาจึงแพร่หลายและนิยมมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา มีการปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อตอบสนองกลุ่ม ‘ช่างฝีมือ’ (Craftman) ที่มีนิสัยกินอะไรก็ได้ ใช้เวลาน้อย อร่อย และปริมาณเยอะ โดยหน้าที่เริ่มปรากฏให้เห็นแรกๆ คือ ‘อุนะด้ง’ ข้าวหน้าปลาไหล ตามมาด้วย ‘โอยาโกะด้ง’ ข้าวหน้าไก่และไข่ และ ‘คัตสึด้ง’ ข้าวหน้าหมูทอด ในภายหลัง

     หลังจากนั้นดงบุริก็พัฒนามาเรื่อยๆ จากหน้าอาหารเพียงไม่กี่อย่างก็มีให้เลือกกินเป็นร้อยชนิด อะไรก็ทำเป็นดงบุริได้ จะเป็นอาหารฟิวชันหรือเมนูท้องถิ่นก็ทำได้หมด ทุกอย่างปรับเปลี่ยนตามความต้องการ เวลา และยุคสมัย จนตอนนี้อาหารชนิดใดก็ตามที่มีข้าวและโปะด้วยหน้าต่างๆ ก็จะถูกเหมารวมเป็นดงบุริหมด ไม่เว้นแม้แต่ ‘เบนโตะ’ ข้าวกล่องยอดฮิตของคนญี่ปุ่นด้วย

 

 

ส่วนประกอบของดงบุริ

     ดงบุริมีส่วนประกอบหลักสำคัญ 3 อย่างคือ ข้าวสวย ท็อปปิ้ง และเครื่องเคียงเสริมรส ซึ่งอย่างหลังจะมีหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่มักเสิร์ฟมาเป็นชุดเพื่อความอร่อยและเพลิดเพลินในการกิน

     ท็อปปิ้งบนข้าวสวยที่ประกอบเป็นดงบุรินั้นมีหลายอย่าง ทั่วไปมักเป็นของทำง่าย มีรสชาติเข้มข้นเป็นพิเศษ และมีส่วนของเหลวหรือซอสมาก

     น้ำซอสที่ใช้ในการปรุงดงบุริจะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของวัตถุดิบแต่ละชนิด เครื่องปรุงหลักที่ใช้มักมี ‘ดาชิ’ น้ำสต็อกปลาญี่ปุ่น ปรุงรสด้วยโชยุและมิรินเป็นส่วนประกอบยืนพื้น ส่วนใครจะอร่อยแบบไหนก็ปรุงตามใจปากกันไป บางสูตรแนะนำให้ใส่ดาชิมากกว่าโชยุและมิรินสัก 3-4 เท่า เนื้อสัตว์หรือผักที่ปรุงในซอส ถ้ามี ‘ของเหลือ’ ติดครัวก็สามารถนำมาปรุงใหม่กับซอสรสเค็มๆ หวานๆ ได้อีก ตักราดข้าวสวยร้อนๆ ได้ดงบุริหนึ่งชาม อิ่มได้อีกหนึ่งมื้อ

     เครื่องเคียงที่นิยมเสิร์ฟคู่ดงบุริมี ‘ซุปมิโสะ’ และ ‘ผักดอง’ ผักดองจะโปะไปบนข้าวหรือเสิร์ฟใส่ถ้วยแยกก็ได้ นอกจากสองอย่างนี้แล้วอาจมี ‘นัตโตะ’ หรือถั่วหมักญี่ปุ่น สาหร่ายทะเลชนิดแผ่น และไข่ลวกให้กินคู่กัน

       

ดงบุริกับวิถีคนแดนปลาดิบ

     แม้อาหารแบบ ‘ไคเซกิ’ (Kaiseki) จะเปรียบเสมือนตัวแทนวัฒนธรรมการกินดื่มของคนญี่ปุ่นดั้งเดิม ทว่าความจริงดงบุริไม่ใช่ของใหม่ในวัฒนธรรมอาหารแดนอาทิตย์อุทัยแม้แต่น้อย แต่เป็นจานดั้งเดิมที่ประยุกต์จากความเร่งรีบจนมีลักษณะคล้ายกับข้าวราดแกง หรืออาหารจานเดียวของบ้านเรา

     คนญี่ปุ่นสมัยก่อน เวลากินก็จะตักข้าวใส่ถ้วยและทำกับข้าวกินพร้อมหน้ากันเหมือนคนไทย แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน อะไรก็เร่งรีบไปหมด จากข้าวสวยในถ้วยชามโตและกับข้าวสารพัดอย่างก็เหลือเพียงอาหารจานเดียว หรืออาหารชุดของใครของมัน

     คนญี่ปุ่นผูกพันกับอาหารที่มีลักษณะใกล้เคียงดงบุริตั้งแต่เด็ก เด็กญี่ปุ่น ถ้าไม่ซื้อขนมปังที่ร้านค้ากินช่วงพักกลางวันก็จะมีข้าวกล่องที่แม่ทำไปให้ มักประกอบด้วยข้าวและกับข้าว บางครั้งก็โปะบนข้าวเป็นดงบุริ ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นหรือร้านอาหารกล่องตามสถานีรถไฟอย่าง ‘เอคิเบ็น’ (Ekiben) ก็นิยมขายอาหารพร้อมรับประทานในลักษณะนี้เช่นกัน

     เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ในชั่วโมงเร่งด่วน หากตื่นสาย มีเหตุให้เร่งรีบ เวลาเพียง 15 นาทีก็อิ่มอร่อยกับดงบุริได้แล้ว เพียงต่อคิวเข้าร้าน เลือกซื้อ จ่ายเงิน ยืนกินไม่ถึง 10 นาทีก็กลับไปทำงานต่อได้ชิลล์ๆ มีเวลาเหลืออีกต่างหาก

     ส่วนคุณแม่ ถ้าคิดเมนูทำกับข้าวไม่ออกก็ยังมีดงบุริเป็นไม้ตาย เด็กๆ ชอบ เพราะมีของทอด ราดซอสหวานๆ พกไปกินยามทัศนศึกษา กินเย็นกินร้อนก็อร่อยหมด คนแก่ผู้สูงวัยก็ยังถูกใจกับดงบุริได้ เพราะมีข้าว ซุป และของดองครบถ้วนตามวิถีการกินดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา

     จะเห็นได้ว่าดงบุริรองรับทุกความต้องการของคนช่างกินได้ทุกประเภทไม่มีสิ้นสุด แม้กระทั่งในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแบบสาขาก็ยังมีร้านขายดงบุริอยู่มาก ดงบุริจึงเปรียบเสมือนแมคโดนัลด์ หรือเคเอฟซี ในเวอร์ชันแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งในไทยเองก็มีกิจการมาขายอยู่หลายร้าน เช่น Yoshinoya หรือ Sukiya ที่เราคุ้นชินกันดี

 

8 เมนูดงบุริห้ามพลาด เมื่อไปเยือนโตเกียว

     ดงบุริเป็นเมนูทำง่ายและทำได้ทุกบ้าน นิสัยคนญี่ปุ่น ถ้าไม่อร่อยหรือคุ้มค่าแก่การรอคอยจริงๆ เมนูบ้านๆ จะไม่สามารถเปิดขายอย่างประสบความสำเร็จได้เลย ฉะนั้นหากคุณไปญี่ปุ่นแล้วเห็นคนต่อคิวเยอะๆ ในร้านข้าวแบบดงบุริ อนุมานไปก่อนเลยว่านี่คือร้านอร่อยระดับเทพที่ควรไปโดน และนี่คือตัวอย่าง 8 เมนู 8 พิกัดในกรุงโตเกียวที่เรารวบรวมไว้ให้ปักหมุดเช็กอิน แต่ละร้านอร่อยเด็ด ควรค่าแก่การเสียเงิน ไม่มีผิดหวังแน่นอน

 

ข้าวหน้าไก่กับไข่ รสเกลือ ร้านโทริเมชิ โทริโต บุนเต็น

Oyakodon : Koutagawa

 

     1. โอยาโกะด้ง (Oyakodon, 親子丼) – ข้าวหน้าไก่กับไข่

     โอยาโกะ แปลว่า แม่กับลูก หมายถึงไก่กับไข่นั่นเอง เป็นจานตำรับดั้งเดิมของโตเกียวที่ใช้เนื้อไก่และไข่เป็นส่วนประกอบหลัก เนื้อไก่หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ นำไปผัดกับหอมใหญ่จนสุกนุ่ม ปรุงด้วยซอสรสเค็มอมหวานเล็กน้อย ต่อยไข่สดลงไปหนึ่งฟอง ตีกวนๆ แล้วราดบนข้าวสวยในชาม

    พิกัดร้านอร่อย: โทริเมชิ โทริโต บุนเต็น (Torimeshi Toritoh Bunten) ร้านขนาดเล็กไม่กี่สิบเก้าอี้ในตลาดซึกิจิ (Tsukiji) โดดเด่นด้วยข้าวหน้าไก่และไข่แบบข้นๆ จากซุปเกลือ โดยใช้ไก่พันธุ์ดี ‘ไดเซ็นโดริ’ ที่ผ่านการเลี้ยงด้วยน้ำ อาหาร และอากาศที่ดีของเชิงเขาไดเซ็น จานนี้เราไปกินมาแล้วถึงถิ่น เข้าคิวยาว 30-40 นาทีในช่วงเช้า แต่คุ้มค่ามาก กินทีอร่อยน้ำตาไหล ต้องไปลอง!

 

เทนด้งสูตรดั้งเดิม ของร้านคาเนโกะ ฮันโนะสุเคะ

Tendon: kanekohannosuke/Instragram

 

     2. เทนด้ง (Tendon, 天丼) – ข้าวหน้าอาหารทะเลและผักชุบแป้งทอด

     เมนูกุ้งเทมปุระที่คนไทยคุ้ยเคยดี คนญี่ปุ่นไม่เพียงแค่เอากุ้งมาทอด แต่เอาทั้งปลา ผักตามฤดูกาล หรืออะไรก็ได้ที่คิดว่าอร่อยมาชุบแป้งทอดจนเหลืองกรอบ โปะบนข้าวแล้วราดซอส หรือจุ่มซอสหลังทอดแล้วค่อยวางบนข้าวก็แล้วแต่สูตร รสชาติเค็มนำหวานตาม ได้สัมผัสกรุบกรอบและรสชาติของวัตถุดิบครบถ้วน

     พิกัดร้านอร่อย: คาเนโกะ ฮันโนะสุเคะ (Kaneko-hannosuke) ร้านเทนด้งอร่อยๆ มีให้เลือกหลายร้าน แต่เหตุที่เราเลือกร้านนี้เพราะตั้งอยู่ในย่านนิฮงบาชิ (Nihonbashi) ซึ่งไปมาสะดวก ที่สำคัญ ราคาถูกและอร่อยสมเหตุสมผล เทนด้ง 1 ชุด ประกอบด้วยกุ้ง ปลาหมึก ปลา และผักตามฤดูกาล สนนราคาเพียง 950 เยน ถือว่าไม่แพง แต่คิวยาวมาก เวลารอ 40 นาทีถึงชั่วโมงครึ่ง

 

ข้าวหน้าปลาไหลย่าง ชุดใหญ่ ร้านอิโคคาวะ

Unadon: ayaya00

 

     3. อุนะด้ง (Unadon, うな丼) – ข้าวหน้าปลาไหล

     เมนูนอดนิยมช่วงฤดูร้อน ว่ากันว่าเป็นดงบุริชนิดแรกที่คนญี่ปุ่นทำกิน ปลาไหลน้ำจืดนำมาทำความสะอาด แล่บาง เลาะก้างจนเกลี้ยง แล้วนำไปย่างด้วยเตาถ่านไฟอ่อนถึงปานกลาง ทาซีอิ๊วหวานหอมไปเรื่อยๆ จนสุกดี เสิร์ฟบนข้าวสวยร้อนๆ หอมอร่อย

     พิกัดร้านอร่อย: อิโรคาวะ (Irokawa) ร้านดังระดับตำนานในย่านอาซากุสะ (Asakusa) ที่เปิดขายมากว่า 100 ปี ตกทอดมาแล้วถึง 6 รุ่น เสิร์ฟเพียงเมนูเดียวคืออุนะด้ง มีให้เลือก 2 ไซส์คือ ชุดเล็ก ปลา 2 ชิ้น และชุดใหญ่ ปลา 3 ชิ้น หนึ่งชุดมีซุปและผักดองเสิร์ฟคู่เนื้อปลานุ่มลื่น ย่างสุกกำลังพอดี รสเค็มอมหวาน หอมกลิ่นถ่าน คนไม่ชอบปลาไหลยังกินได้ง่าย แนะนำเลย

 

ข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอด ร้าน ซากาโมโตะยะ

Katsudon: Japanhoppers

 

     4.คัตสึด้ง (Katsudon, カツ丼) – ข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอด

     ตามประวัติเล่าว่าคนโตเกียวเป็นผู้ริเริ่มเช่นเดียวกัน จานข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอดที่ประยุกต์สูตรจากโอยาโกะด้ง แต่เปลี่ยนจากไก่เป็นหมูทงคัตสึ มีเกร็ดเล่าว่านักเรียนญี่ปุ่นใกล้สอบนิยมกินกัน เพราะคำว่า ‘คัตสึ’ ในชื่อคัตสึด้ง ออกเสียงเหมือนคำว่า ‘คัตสึ’ ที่แปลว่า ‘ชนะ’ เพียงแต่เขียนไม่เหมือนกัน

     พิกัดร้านอร่อย: จริงๆ ร้านนี้เรายังไม่เคยไป แต่มีหลายรีวิวบอกว่าคัตสึด้งของร้าน ซากาโมโตะยะ (Sakamotoya) ใกล้กับสถานีนิชิ-โอกิคุโบะ (Nishi-Ogikubo Station) เป็นคัตสึด้งหน้าตาธรรมดา แต่รสชาติไม่ธรรมดา เคล็ดลับอยู่ที่น้ำซอสทำจากน้ำสต็อกสุกี้ยากี้ ซึ่งมีรสกลมกล่อมระหว่างเค็มและหวาน เนื้อหมูก็เหนียวนุ่มกำลังดี แทบจะไม่มีมันเพิ่มความเลี่ยนใดๆ

 

กิวด้ง ของร้าน คิซึเนยะ แค่เห็นก็หิวแล้ว

Gyudon: dekaliber , candice_gotianuy

 

     5. กิวด้ง (Gyudon, 牛丼) – ข้าวหน้าเนื้อ

     เมนูดงบุริที่คนไทยคุ้นเคยและกินกันบ่อย เพราะมีร้านแฟรนไชส์ของญี่ปุ่นเปิดขายอยู่ทั่ว ไม่ว่าจะเป็น Sukiya, Yoshinoya หรือยี่ห้ออื่นก็ตามแต่ กิวด้งเป็นข้าวหน้าเนื้อที่ทำหน้าจากเนื้อติดมันสไลด์บาง นำไปตุ๋นต้มกับซอสและหอมใหญ่ นิยมกินกับขิงดองและไข่ลวก เป็นเมนูอาหารที่ง่ายมาก มีทุกร้าน แต่หาร้านอร่อยล้ำยาก

     พิกัดร้านอร่อย: เราแนะนำร้าน คิซึเนยะ (Kitsuneya) ตั้งอยู่ริมถนนตรงทางเข้าตลาดซึกิจิ กลิ่นหอมมาก และคนญี่ปุ่นต่อคิวรอเยอะมาก ร้านนี้ได้ 3.57 คะแนนจาก tabelog.com (เว็บรีวิวอาหารญี่ปุ่นคล้าย Tripadvisor) และถูกจัดอันดับให้เป็นข้าวหน้าเนื้อที่อร่อยที่สุดในโตเกียว เมนูยอดนิยมคือข้าวหน้าเนื้อเครื่องในวัว ครบเครื่องทั้งเนื้อและเครื่องในหลากชนิด รสชาติเค็มหวานกลมกล่อม อร่อยมาก ใครไปตลาดซึกิจิแล้วมัวแต่ต่อคิวกินร้านปลาชื่อดังแล้วไม่ได้กินที่นี่ ถือว่าพลาดอย่างแรง!

 

ข้าวหน้าปลาดิบรวม (หน้าล้น) ร้านโนกุจิเซ็นกิวเต็น

Kaisendon: kuachan , marcosora

 

     6. ไคเซนด้ง (Kaisendon, 海鮮丼) – ข้าวหน้าปลาดิบรวม

     ภูมิประเทศของญี่ปุ่นเป็นเกาะ และอาหารประจำชาติที่นิยมทุกครัวเรือนคือ ‘ปลาดิบ’ โดยเฉพาะจังหวัดแถบติดทะเลที่หาอาหารทะเลสดๆ กินง่ายยิ่งกว่าเนื้อหมู ไคเซนด้งเป็นดงบุริหน้าปลาดิบรวมที่รวมเอาของทะเลสดมาโปะข้าว นิยมเสิร์ฟพร้อมขิงดอง ใบชิโสะ และวาซาบิ เวลากินจะคีบปลาเป็นชิ้นจิ้มซีอิ๊วก่อนแยกข้าว หรือราดโชยุแล้วคีบกินพร้อมกัน อร่อยทั้งสองแบบ แล้วแต่ชอบ

     พิกัดร้านอร่อย: อาหารทะเลต้องวัดกันที่ความสด โดยปกติเมนูปลาที่ญี่ปุ่นก็สดอยู่แล้ว แต่ของร้าน โนกุจิ เซ็นกิวเต็น (Noguchi Sengyoten) นั้นสดมาก มากเสียจนคุณไม่จำเป็นต้องไปกินที่ตลาดปลาซึกิจิให้เสียเวลา แต่ที่ทำให้ร้านโดดเด่นมากที่สุดคงเป็นปริมาณท็อปปิ้งที่คุ้มค่า เยอะล้นจานจนตะลึงเมื่อเทียบกับราคา เพราะถูกกว่าที่คิด ตัวร้านตั้งอยู่ใกล้ Tokyo Sky Tree เดินไปง่ายๆ ไม่ถึง 10 นาที

 

ร้าน ฟุคากาวะ ซึริบุเนะ กับเมนูแซลมอน+ไข่ปลาแซลมอนด้ง

Salmondon: Japanhoppers

 

     7. แซลมอนด้ง (Salmondon, 鮭丼) – ข้าวหน้าปลาแซลมอน

     หนึ่งในเมนูข้าวหน้าปลาดิบที่คนไทยนิยมชอบ นิยมกินมาก และถูกปากมากที่สุด เนื้อแซลมอนสดแล่บางนำมาวางเรียงต่อจนเต็มถ้วน เสิร์ฟพร้อมกับวาซาบิ ใบชิโสะ และขิงดองเฉกเช่นไคเซนด้ง

     พิกัดร้านอร่อย: ใครที่อยากกินข้าวหน้าปลาดิบแสนอร่อย เรายังคงขอให้มุ่งหน้าไปที่ร้าน โนกุจิ เซ็นกิวเต็น แต่ถ้าคุณเบื่อข้าวหน้าปลาแซลมอนแบบธรรมดา เราขอแนะนำให้ไปลอง ฟุคากาวะ ซึริบุเนะ (Fukagawa Tsuribune) ตั้งอยู่ในย่านฮิกาชิ (Higashi) ใกล้กับสถานีคุนิตาชิ (Kunitachi) เมนูเด็ดของร้านเป็นข้าวหน้าปลาแซลมอนที่มาทั้งเนื้อแซลมอนสดๆ และไข่แซลมอนจัดเต็มแบบล้นถ้วย เติมข้าว เติมซุปได้ฟรีอีกต่างหาก

 

ข้าวหน้าหมู ร้านบูตะคุ โทคาจิ

Butadon: Tokyostory

 

     8. บูตะด้ง (Butadon, 豚丼) – ข้าวหน้าหมู

     จานสุดท้ายที่แนะนำคือเมนู ‘บูตะด้ง’ ข้าวหน้าหมูที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ส่วนใหญ่นิยมใช้หมูสามชั้นหรือหมูส่วนสันคอไปย่าง แล้วทาด้วยซอสเทอริยากิ หรือซอสสูตรเฉพาะ ย่างไปเรื่อยๆ จนสุกหอมแล้วเสิร์ฟบนข้าวสวยร้อนๆ กับผักสด หรือต้นหอมยักษ์ย่าง

     พิกัดร้านอร่อย: บูตะคุ โทคาจิ (Butaku Tokachi) ตั้งอยู่ใกล้สถานีอุเอโนะ-ฮิโรโคจิ (Ueno-Hirokoji) ละแวกเดียวกับสวนอุเอโนะ (Ueno) และตลาดอาเมโยโกะ (Ameyoko) ร้านนี้ไม่ได้อร่อยที่สุด แต่เราแนะนำเพราะขายแต่เมนูหมูโดยเฉพาะ และมีให้เลือกกินทั้งหมูย่างทั้งชิ้นและหมูสามชั้นแล่บางม้วนย่าง ซึ่งรสชาติของหมูทั้งสองแบบทำให้ได้สองรสชาติที่อร่อยต่างกัน ร้านนี้หาง่าย ราคาไม่แพง แถมยังใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising