×

ดอน คาร์โล x บราซิล การผนึกกำลังของสองไอคอนโลกลูกหนัง

13.05.2025
  • LOADING...
ดอน คาร์โล x บราซิล

“นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ไอคอนทั้งสองจะได้มาร่วมกัน แชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัยทีมเดียวและโค้ชผู้มีสถิติผลงานไร้ใครเทียมในเกมฟุตบอลระดับสูงสุดของยุโรป”

 

ข้อความข้างต้นคือคำแถลงการณ์จากสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลเพื่อยืนยันการแต่งตั้ง คาร์โล อันเชลอตติ ยอดกุนซือชาวอิตาลี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตำนานของเกมลูกหนัง” เข้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติบราซิลคนใหม่

 

คำถามที่น่าสนใจคือ อันเชลอตติจะกอบกู้อดีตทีมหมายเลขหนึ่งตลอดกาลของโลกได้หรือไม่

 

และโค้ชทั้งในและต่างประเทศมีมากมายนับร้อยนับพัน ทำไมบราซิลถึงต้องเลือก “ดอน คาร์โล” จอมซิการ์ผู้นี้ด้วย?

 

ก่อนอื่นข่าวการประกาศแต่งตั้งอันเชลอตติขึ้นเป็นโค้ชคนใหม่ของทีมชาติบราซิล ซึ่งจะเริ่มงานอย่างเป็นทางการหลังจบฤดูกาล 2024/25 กับเรอัล มาดริด นั้นถือว่าไม่ได้เหนือไปกว่าความคาดหมาย เพราะชื่อของยอดกุนซือวัย 65 ปีเป็นชื่อที่ถูกเชื่อมโยงกับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มายาวนานร่วมปี

 

โดยที่ต้องบอกว่าหลังความพยายามมายาวนาน ในที่สุดสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลก็ประสบความสำเร็จในการได้ตัวโค้ชที่พวกเขาต้องการเสียที ซึ่งเป้าหมายนั้นคือการพยายามกอบกู้ทีม “เซเลเซา” ให้กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง หลังจากที่ตกต่ำมายาวนานกว่า 20 ปี

 

เพราะนับจากแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายในปี 2002 ที่ทวีปเอเชีย ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นทีมแรกของโลกที่ได้ครองแชมป์โลก 5 สมัย บราซิลไม่เคยได้ครอบครองแชมป์อีกเลยแม้แต่หนเดียว และยิ่งนานวันก็ยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 212 ล้านคน

 

ว่าแต่เกิดอะไรขึ้นกับบราซิล?

 

 

ความตกต่ำของบราซิลนั้นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และซึมลึกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับเป็น 2 ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าเพราะพวกเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยระดับชาติได้ 2 ครั้งคือแชมป์โคปา อเมริกา ในปี 2007 และ 2019

 

แต่แชมป์เหล่านั้นไม่อาจลบล้างผลงานอันเลวร้ายในศึกฟุตบอลโลกและผลงานในภาพรวมที่นับวันก็ยิ่งเลวร้ายลง

 

นับจากที่ โรนัลโด, ริวัลโด และโรนัลดินโญ ในนาม “RRR” ร่วมด้วยริคาร์โด กากา, โรแบร์โต คาร์ลอส, คาฟู, จิลแบร์โต ซิลวา และสุดยอดนักเตะอีกมากมายช่วยกันพาบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในปี 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทีมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศ “ราชาของเกมลูกหนัง” ที่มีสไตล์การเล่นสวยงามแตกต่างจากชนชาติอื่นไม่เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้อีกเลย

 

โดยเฉพาะในฟุตบอลโลก 3 สมัยหลังสุดที่ถือว่าน่าเจ็บปวดอย่างยิ่งและไม่มีครั้งใดจะเจ็บไปกว่าฟุตบอลโลก 2014 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันแต่กลับโดนฆาตกรรมกลางสนามถูกเยอรมนีไล่ถล่ม (แบบรักษาน้ำใจ) ด้วยสกอร์ขาดลอยถึง 7-1 ในรอบรองชนะเลิศ

 

เกมดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “การฆาตกรรมหมู่ที่เบโลฮอริซานเต” ที่ใกล้เคียงกับ “โศกนาฏกรรมที่มาราคานา” (มาราคานาโซ)

 

หลังจากนั้นในฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียพวกเขาพ่ายแพ้ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายให้กับเบลเยียม และในฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ภายใต้โค้ชที่ว่ากันว่าดีที่สุดของชาติอย่าง ติเต บราซิลก็ยังตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้งให้กับทีมชาติโครเอเชีย

 

 

การประกาศอำลาของติเต เกิดขึ้นหลังจากฟุตบอลโลกในครั้งนั้นซึ่งหลังจากนั้นบราซิลไม่เคยกลับมาตั้งหลักได้อีกเลย โดยโค้ชคนล่าสุดที่รับตำแหน่งได้เพียงแค่ปีเดียวก่อนโดนไล่ออกคือ โดริวาล จูเนียร์ หลังจากที่พ่ายต่ออาร์เจนตินา ในเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 4-1

 

สถานการณ์นั้นมาถึงจุดที่บราซิล ชาติที่เคยภาคภูมิใจในศาสตร์ลูกหนังของตัวเองไม่เหลือโค้ชฝีมือดีที่จะทำให้บราซิลกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

 

และนั่นคือจุดที่สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลเริ่มคิดว่าถ้าคนในชาติไม่มีใครที่เก่งพอ เพื่อความอยู่รอดก็อาจต้องดึงโค้ชชาวต่างชาติเข้ามา

 

แต่คนคนนั้นจะเป็นใคร?

 

ตามพงศาวดารลูกหนังฉบับแซมบ้า บราซิลไม่ใช่จะไม่เคยมีโค้ชชาวต่างชาติมาก่อน แต่ตลอดมานั้นบราซิลเคยมีโค้ชชาวต่างชาติเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

 

โดยที่ทั้ง 3 คนได้โอกาสคุมทีมรวมกันเพียงแค่ 7 นัดด้วย

 

รามอน ปลาเตโร โค้ชชาวอุรุกวัย คือโค้ชชาวต่างชาติคนแรกของทีมชาติบราซิลซึ่งคุมทีมได้เพียงแค่ 4 นัด ก่อนที่โจเรกา จะได้คุมทีม 2 นัดในปี 1944 และคนสุดท้ายคือ ฟิลโป นูเนส กุนซือชาวอาร์เจนไตน์ที่คุม “กานารินญา” ลงสนามเพียงแค่นัดเดียวในปี 1965

 

เรื่องนี้มันสะท้อนถึงความเป็นชาตินิยมของคนบราซิลที่นอกจากจะภาคภูมิใจแล้วยังทระนงในความเป็นชนชาติที่มีศาสตร์การเล่นฟุตบอลที่สวยงามลึกซึ้งเหนือคนอื่น ในฉบับที่เรียกว่า “Jogo Bonito” ซึ่งสอดคล้องกับวิถี “Ginga” ของชาวบราซิลที่เป็นคนสบายๆ รักสนุก มีจังหวะอยู่ในหัวใจ

 

ใครจะรู้จักฟุตบอลแบบบราซิลดีเท่ากับชาวบราซิล? ไม่มีหรอก

 

แต่จากความตกต่ำดำดิ่งของวงการฟุตบอลบราซิล ที่เริ่มตามความก้าวหน้าของโลกฟุตบอลในยุคโมเดิร์นไม่ทัน ความภาคภูมิใจในฟุตบอลของตัวเองกลายเป็นปมผูกมัดที่รัดคอไม่ให้ทีมบราซิล อย่าว่าแต่นำหน้าชาติอื่นเหมือนในอดีตเลย จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อไล่คู่แข่งให้ทันก็เป็นเรื่องยาก

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบความคิดความเชื่อคือการเข้ามาของ ฮอร์เก เชซุส โค้ชชาวโปรตุเกส ที่เข้ามารับตำแหน่งในทีมฟลาเมงโกเมื่อปี 2019 ท่ามกลางคำถากถางมากมายว่าจะเอาฟุตบอลแบบยุโรปมาใช้กับบราซิลได้เหรอ?

 

คำตอบของเชซุสคือการพาฟลาเมงโก คว้าแชมป์ทั้งลีกบราซิลและไปต่อด้วยการพิชิตโคปา ลิเบอร์ตาดอเรส คัพ แชมป์สูงสุดของลาตินอเมริกาที่เป็นรางวัลยอดปรารถนาของคนบราซิลด้วย ก่อนที่จะอำลาทีมไปอย่างผู้ชนะในปี 2020

 

นั่นนำไปสู่การพยายามหาคำตอบว่าหากบราซิลจะใช้โค้ชชาวต่างชาติ คนคนนั้นควรจะเป็นใคร?

 

เชซุส เคยเป็นหนึ่งในคนที่ถูกพูดถึงอย่างมากว่ามีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้ แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนคนใหญ่คนโตในสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลจะอยากได้ “บิ๊กเนม” มาคุมทีมมากกว่า

 

และคนที่พวกเขาต้องการคือ คาร์โล อันเชลอตติ กุนซือผู้อยู่เหนือกาลเวลา

 

 

ชื่อของ คาร์โล อันเชลอตติ เป็นที่ถกเถียงกันในช่วงหลายปีหลังว่าเขาควรจะได้รับการยกย่องในฐานะโค้ชลูกหนังที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ได้หรือยัง?

 

เขาเป็นคนเดียวที่สร้างผลงานคว้าแชมป์ลีกสูงสุดใน 5 ประเทศที่ได้โอกาสคุมทีม ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, สเปน, เยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส

 

นอกจากนี้ยังเป็นโค้ชคนเดียวในโลกที่พิชิตโทรฟีใหญ่ที่สุดในระดับสโมสรอย่าง ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก มาครองได้ถึง 5 สมัย

 

เกียรติประวัติเหล่านี้ ร่วมด้วยบทพิสูจน์ความสามารถในการทำงานในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็น “กุนซือร่วมสมัย” ที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ช่วงของการคุมทีมเอซี มิลาน ในยุคต้นมิลเลนเนียม จนถึงการพาเรอัล มาดริด คว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 15 และเป็นสมัยที่ 5 ของเขาได้ในฤดูกาล 2023/24

 

ถึงแม้ผลงานของทีม “ราชันชุดขาว” ในฤดูกาลนี้จะไม่ดีเท่าไรนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงของอันเชลอตติหม่นหมองลงแต่อย่างใด เขาคือตัวเลือกแรกเสมอสำหรับตำแหน่งนี้

 

“อันเชลอตติคือตัวเลือกหลัก เพราะเขามีธรรมเนียมของความสำเร็จที่ไร้ใครเทียม คว้าแชมป์ได้ถึง 5 ประเทศ” ทิม วิคเกอรี ผู้สันทัดกรณีฟุตบอลอเมริกาใต้ให้ความเห็นไว้กับ BBC Sport

 

เพียงแต่ความพยายามที่จะดึงตัวมาคุมทีมให้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลต้องอดทนรอเป็นระยะเวลานานร่วมปีเพราะอันเชลอตติยังไม่ต้องการที่จะอำลาถิ่นซานติอาโกเบร์นาเบวง่ายๆ จนกระทั่งการเดินทางกับเรอัล มาดริด มาถึงจุดสุดท้ายหลังพ่ายต่อบาร์เซโลนา ในเกมนัดชิงชนะเลิศโกปา เดล เรย์ รวมถึงในเกม “เอลกลาซิโก” นัดล่าสุดที่ส่งผลให้โอกาสป้องกันแชมป์ลาลีกาแทบเป็นไปไม่ได้

 

นั่นทำให้การเจรจาซึ่งมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ข้อยุติ

 

อันเชลอตติยอมรับงานและความท้าทายอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

 

งานของเขาคือการพยายามทำให้บราซิลกลับมาค้นพบสไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปพร้อมกับการค้นหาชัยชนะ ดึงศักยภาพในตัวของขุนพลในทีมซึ่งแม้จะไม่ได้สุดยอดยกทีมเหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยก็มีซูเปอร์สตาร์อย่าง วินิซิอุส จูเนียร์, โรดริโก, เอ็นดริก, ราฟินญา รวมถึงเนย์มาร์ เจ้าชายลูกหนังของชาติที่ทุกคนรอคอยการกลับมาอีกครั้ง

 

กุนซือชาวอิตาเลียนยังมีข้อได้เปรียบจากความคุ้นเคยในการร่วมงานกับ 3 กองหน้าที่เป็นลูกทีมเรอัล มาดริดทั้ง “วินิ”,​ โรดริโก และเอ็นดริก และรู้จักราฟินญา เป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 4 คือความหวังใหม่ของชาติ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือไม่มีโค้ชที่ดึงขีดความสามารถออกมาได้อย่างเหมาะสม

 

 

สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นงานถนัดของอันเชลอตติก็ว่าได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นงานง่ายสะดวกสบายไปหมด

 

แรงกดดันของการเป็นโค้ชทีมชาติบราซิลนั้นมากมายมหาศาล ยอดกุนซือฝีมือดีของบราซิลในอดีตล้มเหลวมานักต่อนัก ไม่ใช่ทุกคนที่จะหาส่วนผสมเคมีที่ลงตัวระหว่าง “การเล่นที่สวยงาม+การเล่นเพื่อชัยชนะ” ได้

 

ไม่นับการเมืองภายในบราซิลและความรู้สึกของแฟนฟุตบอลที่สามารถส่งผลต่อการทำงานได้แบบที่อันเชลอตติอาจไม่ทันได้คาดคิด

 

อย่างไรก็ดี นี่คือ คาร์โล อันเชลอตติ ผู้อยู่เหนือกฎเกณฑ์และกาลเวลา

 

หากจะมีใครสักคนที่จะพาบราซิลกลับมาเล่นแบบมีสไตล์ได้อีกครั้ง “ดอน คาร์โล” ก็น่าจะเป็นคนคนนั้น

 

ว่าแล้วก็สวมแว่นดำก่อนจุดซิการ์สักมวน

 

สบายๆ น่า เดี๋ยวจัดการเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising