กว่าจะตัดสินใจเริ่มออกกำลังกายได้ก็ต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่าง แค่จะจัดสรรเวลาให้ได้ก็ไม่ง่าย ทั้งความเหนื่อยแสนสาหัสยามออกแรง แต่วันถัดมาร่างกายกลับปวดระบมจนทำเอาไม่อยากกลับไปยิมอีก อาการปวดตึงกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนนึกท้อแท้จนบอกลากับการออกกำลังกายให้สุขภาพดี แต่แท้จริงแล้วอาการปวดนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เป็นกันได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งเลิกออกกำลังกายเลย เพราะอาการนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก็ได้นะ
อาการ DOMS = สัญญาณที่ดีของการออกกำลังกาย
อาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกาย (Delayed Onset Muscle Soreness) หรือหลายคนเรียกว่า ดอมส์ (DOMS) จะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังออกกำลังกาย แต่เราจะรู้สึกได้หลังออกกำลังกายไปแล้ว 12-72 ชั่วโมง และอาการนี้จะหายไปเองใน 7-10 วันโดยไม่จำเป็นต้องกินยา หากอยู่เฉยๆ เราจะไม่รู้สึกปวด แต่เมื่อลองขยับหรือกดกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ จะรู้สึกเจ็บหรือตึง และไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเท่านั้นที่ทำให้เกิดอาการดอมส์ได้ แต่การใช้แรงอย่างการยกของหนัก หรือการเต้นสุดเหวี่ยง ก็ทำให้เกิดอาการดอมส์ได้เช่นกัน
จากการพูดคุยกับ พันเอก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิภู กำเหนิดดี จากกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คุณหมอได้พูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อนี้ว่า “อาการดอมส์เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ นั่นก็เพราะว่ากล้ามเนื้อของเรายังไม่คุ้นชินกับการออกกำลังกายหนักในระดับนั้น และแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เกิดอาการดอมส์ได้เช่นกัน”
อาจพูดได้ว่าอาการดอมส์เป็นจุดเริ่มต้นของคนที่เริ่มออกกำลังกาย เพราะร่างกายไม่เคยชินกับการออกแรง เมื่อเราออกกำลังกายสม่ำเสมอจนร่างกายพัฒนาและมีความทนทานต่อกิจกรรมที่ใช้แรงมากขึ้น อาการดอมส์จากกิจกรรมนั้นก็จะหายไป แต่เมื่อเราลองทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือใช้แรงมากขึ้นกว่าเดิม อาการดอมส์ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก
“ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดที่รับรองสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอาการดอมส์” นายแพทย์วิภูกล่าว แต่หนึ่งสาเหตุที่พูดถึงกันมากก็คือเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากอาการกล้ามเนื้อฉีกขาด (Muscle Strain) ขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในระดับที่ปลอดภัย เพราะเป็นการฉีกขนาดเล็กที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง และกล้ามเนื้อสามารถซ่อมแซมตัวเองได้
นายแพทย์วิภูได้พูดถึงผลกระทบของอาการดอมส์ไว้ว่า “สำหรับคนทั่วไป อาการดอมส์ไม่ส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย เพียงแค่ทำให้รู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อ ขยับได้ลำบาก แต่สำหรับนักกีฬาอาจส่งผลต่อการแข่งได้ หากไม่วางแผนการฝึกซ้อมให้ดี”
แม้อาการดอมส์จะเป็นอาการที่ไม่มีวันหายไป แต่นายแพทย์วิภูก็ให้คำแนะนำในการบรรเทาอาการดอมส์ไว้ว่า “หลังจากออกกำลังกาย ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 5-10 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อ อาจใช้วิธีประคบน้ำแข็ง หรือแช่น้ำเย็นก็จะช่วยบรรเทาอาการดอมส์ได้”
อ่านเรื่องยืดตัว หรือวอร์มอัพ เรื่องสำคัญที่คุณอาจทำผิดมาตลอดได้ที่นี่
อ้างอิง:
- physioworks.com.au/injuries-conditions-1/doms-delayed-onset-muscle-soreness
- www.naturallyintense.net/blog/exercise/no-pain-no-gain-understanding-muscle-soreness
- www.naturallyintense.net/blog/exercise/weight-training/how-do-muscles-get-bigger-and-stronger
- www.painscience.com/articles/delayed-onset-muscle-soreness.php
- muscleevo.net/sore-muscles-after-a-workout
- breakingmuscle.com/fitness/doms-the-good-the-bad-and-what-it-really-means-to-your-training
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/12617692
- อาการดอมส์ไม่ใช่ตัววัดว่าเราออกกำลังกายได้ผลดีเสมอไป ดังนั้นไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายให้ถึงจุดดอมส์ทุกครั้ง
- อาการดอมส์ไม่ใช่อาการที่ทำให้กล้ามใหญ่ขึ้น