×

สำรวจวิถีชีวิต ‘สุนัขและแมว’ ในเมืองกรุง ก่อนที่ กทม. จะบังคับใช้ข้อบัญญัติฝังไมโครชิป

โดย THE STANDARD TEAM
04.11.2024
  • LOADING...
สุนัขและแมว

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) ช่างภาพทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังจากเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดย นภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 

 

การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ในครั้งนี้ เพื่อกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ และเป็นการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญและอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ กทม. สมควรปรับปรุงข้อบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

 

อย่างไรก็ตาม การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยให้ กทม. เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมวเกินจำนวนที่กำหนด เช่น พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หรือหากเกินเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว, ที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว, เนื้อที่ดิน 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว, เนื้อที่ดิน 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว และเนื้อที่ดิน 100 ตารางวาขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว

 

รวมทั้งใบรับรองการจดทะเบียนที่เจ้าของต้องดำเนินการนำสัตว์เลี้ยงไปทำเครื่องหมายระบุตัวอย่างถาวรจากสัตวแพทย์ โดยการฝังไมโครชิปตามมาตรฐานที่ กทม. กำหนด พร้อมนำใบรับรองไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย 

 

นอกจากนี้ยังกำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ประกอบด้วย พิตบูลเทอร์เรียร์, บูลเทอร์เรียร์, สแตฟฟอร์ดไชร์บูลเทอร์เรียร์, รอตไวเลอร์, ฟิลาบราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา

 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และจะเสนอร่างดังกล่าวให้ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้วันถัดไปหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 360 วัน

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising