×

เรียนมาเป็นเป็ด รู้หลายอย่างแต่ไม่ลึกสักอย่าง จะรอดไหมคะ

19.06.2019
  • LOADING...
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ถ้าเรามองว่า “ดูสิ ฉันเป็นเป็ด ฉันทำได้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง” เราก็จะเห็นตัวเองเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่า “เฮ้ย! ฉันเป็นเป็ด ฉันทำได้ตั้งหลายอย่าง ฉันเป็นเป็ดที่เก่งได้ว่ะ” เราก็จะเห็นตัวเองเป็นอีกแบบหนึ่ง มันอยู่ที่มายด์เซตว่าเราจะเห็นตัวเองเป็นแบบไหน และเราอยากจะเป็นแบบไหนครับ
  • ถูกครับที่คณะให้เราเรียนวิชาพื้นฐานของคณะอื่นๆ เต็มไปหมดเลย แต่พี่คิดว่านั่นเป็นโอกาสดีมากที่เราจะได้เปิดหูเปิดตาว่าโลกนี้มีอะไรตั้งเยอะแยะ อ๋อ เศรษฐศาสตร์มันเป็นแบบนี้ว่ะ รัฐศาสตร์เป็นแบบนี้ สังคมสงเคราะห์เป็นแบบนี้ ฯลฯ ซึ่งการเปิดโลกนี่มันสำคัญมากนะครับ เพราะมันทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ความรู้ในสาขาใดสาขาเดียว ความมหัศจรรย์มีอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด
  • สิ่งที่พี่อยากบอกน้องก็คืออย่าฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัยอย่างเดียวว่ามหาวิทยาลัยจะทำให้เรารู้ทุกเรื่อง สิ่งที่เราควรได้จากมหาวิทยาลัยคือการรู้ว่าโลกนี้มีความรู้เต็มไปหมดให้เราเรียนรู้ โลกมันกว้างจังเลย และพี่คิดว่าการที่รู้ว่าเรารู้น้อยเป็นสิ่งที่ดีมากนะครับ เพราะมันจะนำไปสู่การพยายามทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือพอรู้แล้วว่าเรารู้น้อย เราจะทำอะไรต่อ เราจะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไหม หรือเราจะวิ่งไปหาความรู้

Q: หนูเรียนนิเทศศาสตร์มา รู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้หลายเรื่องแบบแตะๆ แต่ไม่ลึกสักอย่าง เรียนมาเหมือนเป็นเป็ดน่ะค่ะ ทำได้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งที่สุดสักอย่าง พอไปทำงานจริงจะรอดไหมคะ

 

A: สวัสดีเป็ดรุ่นน้องครับ พี่เป็นเป็ดรุ่นพี่ พี่เรียนจบคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกว่าเป็ด พี่คงเป็นเป็ดซ้ำซ้อน เพราะเรียนเป็นเป็ดทั้งตรีและโท ฮ่าๆ

 

คนชอบบอกกันว่าคณะการสื่อสารสอนให้เราเรียนหลายอย่าง แต่ไม่ลึกสักอย่าง เราจะได้ไปเรียนวิชาพื้นฐานของคณะอื่นๆ เยอะ เศรษฐศาสตร์เราก็เรียน การตลาดเราก็เรียน สังคมศาสตร์เราก็เรียน รัฐศาสตร์ก็เรียน แต่ที่เรียนเป็นระดับความรู้ 101 คือรู้แค่พื้นฐานแบบแตะๆ เรียนเยอะไปหมด แต่รู้ไม่ลึก เหมือนเป็ดที่ว่ายน้ำได้ แต่ก็ว่ายไม่เร็วมาก ดำน้ำก็ดำได้ แต่ก็ดำได้ไม่ลึก ไม่นาน มีปีกนะ แต่บินผาดโผนมากก็ไม่ได้ เขาบอกกันมาแบบนี้ บางทีเด็กนิเทศและเด็กวารสารก็มองตัวเองเป็นแบบนั้น


ถ้าจะให้พี่เล่าในฐานะเป็นรุ่นพี่ที่เรียนคณะเหล่านี้มา พี่คิดว่ามันอยู่ที่มุมมองที่เราจะมองตัวเอง

 

ถ้าเรามองว่า “ดูสิ ฉันเป็นเป็ด ฉันทำได้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง” เราก็จะเห็นตัวเองเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่า “เฮ้ย! ฉันเป็นเป็ด ฉันทำได้ตั้งหลายอย่าง ฉันเป็นเป็ดที่เก่งได้ว่ะ” เราก็จะเห็นตัวเองเป็นอีกแบบหนึ่ง

 

มันอยู่ที่มายด์เซตว่าเราจะเห็นตัวเองเป็นแบบไหน และเราอยากจะเป็นแบบไหนครับ

 

ถูกครับที่คณะเราให้เราเรียนวิชาพื้นฐานของคณะอื่นๆ เต็มไปหมดเลย แต่พี่คิดว่านั่นเป็นโอกาสดีมากที่เราจะได้เปิดหูเปิดตาว่าโลกนี้มีอะไรตั้งเยอะแยะ อ๋อ เศรษฐศาสตร์มันเป็นแบบนี้ว่ะ รัฐศาสตร์เป็นแบบนี้ สังคมสงเคราะห์เป็นแบบนี้ ฯลฯ ซึ่งการเปิดโลกนี่มันสำคัญมากนะครับ เพราะมันทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ความรู้ในสาขาใดสาขาเดียว ความมหัศจรรย์มีอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด  

 

การที่เรารู้กว้างแบบนี้มันทำให้รู้ว่าการจะอธิบายอะไรสักอย่าง เราสามารถอธิบายได้จากหลายมุมมอง พี่ยังเคยชวนเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเรื่องความโสดในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ หรือดูว่าถ้าเอาหลักการตลาดมามองเรื่องการประกวดนางงามจักรวาลจะเป็นอย่างไร แล้วลองมองเรื่องการเลือกตั้งผ่านเลนส์ดีไซเนอร์ดูว่าเราจะเห็นอะไรบ้าง ฯลฯ

 

เรื่องเดียว แต่เมื่อมองจากมุมมองของคนที่หลากหลาย เราจะได้ความรู้ที่กว้างขึ้น ได้เห็นโลกที่ต่างออกไป นั่นก็มาจากการที่เราเป็นเป็ดที่รู้ว่าโลกนี้มันมีอะไรกว้างและมากไปกว่าชุดความรู้เดียวหรือแค่คนคนเดียวจะอธิบายได้ มา! เดี๋ยวเป็ดจะไปหาคนนั้นคนนี้คนโน้นมาอธิบายให้สัตว์โลกสปีชีส์อื่นได้เปิดหู เปิดตา เปิดใจเหมือนกัน

 

แล้วพอเราได้ไปลองเรียนรู้จากคณะอื่นแล้ว มันมีเรื่องไหนที่เราชอบเป็นพิเศษไหมครับ พี่คิดว่ามันต้องมีเรื่องที่เราสนใจบ้างแหละ แล้วค่อยๆ ดำดิ่งไปกับมัน รู้ให้มากขึ้นกว่าจากเดิมที่เคยเรียนมาแบบผิวๆ ไม่ต้องรอคนมาป้อน ถ้าสนใจก็ลุยเลย ตรงไหนมีความรู้ก็พุ่งไปหา หรือถ้ามันไม่น่าสนใจ ลองกลับมาคิดว่าเราจะทำยังไงให้น่าสนใจได้บ้าง พี่คิดว่าในฐานะนักสื่อสาร เราก็ต้องหาทางทำให้มันเป็นเรื่องน่าสนใจ เรื่องที่อธิบายได้เข้าใจง่าย เราต้องสามารถทำให้คนเห็นว่า “เฮ้ย! มันน่าสนใจโคตรๆ เลยนี่หว่า” ให้ได้ เพราะหน้าที่ของนักสื่อสารคือคนที่ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่สื่อสารกันรู้เรื่องได้ ไปจนถึงทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย แต่เราคลายให้เห็นความซับซ้อนหลากมิติของมันได้ นั่นแหละเจ๋ง

 

ถ้าจะให้สนุก พี่คิดว่ามันคือโอกาสที่เราได้สัมผัสกับคนที่หลากหลาย แต่ละคณะมีธรรมชาติของคนที่ต่างกัน สิ่งนี้ถ้าเราอยู่แต่ในสังคมเดิม เราอาจจะไม่รู้เลย แต่ถ้าเราได้ลองออกไปดูชีวิตของคนในคณะอื่นๆ ที่ต่างจากเรา เราจะเข้าใจคนมากขึ้น ช่างสังเกตมากขึ้น ยิ่งเราได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแล้ว พี่คิดว่าเราจำเป็นต้องรู้จักคนให้มาก เข้าใจคนให้มาก มองเห็นความหลากหลายของคนให้ลึก เราถึงจะออกแบบการสื่อสารให้ตรงกับเขาได้

 

นี่มันไม่ใช่เรื่องแบบ ‘เป็ดๆ’ แล้ว เห็นไหมครับ

 

พี่คิดว่าการเอาตัวรอดในสังคมได้โดยที่เราสามารถทำตัวเป็นประโยชน์สูงสุด มันมาจากการที่เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ได้ในตัวเรา ถ้าหมอรักษาโรครู้เรื่องการรักษาโรคอย่างเดียว แต่ไม่รู้วิธีสื่อสารกับคน เราก็จะได้หมอที่บอกคนไข้แบบทื่อๆ ไม่คิดถึงหัวอกเขาว่า “เดี๋ยวคุณจะตาย” สถาปนิกออกแบบสิ่งก่อสร้างได้สวยอย่างเดียว แต่ไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ชุมชน เราก็จะได้อาคารสวย แต่โคตรจะไม่เข้ากับบริบททางสังคมและทำลายชุมชนนั้น เป็นทนายรู้เรื่องกฎหมายดีเชียว แต่ไม่มีศิลปะในการสื่อสารเรียบเรียงเหตุผล ทั้งอัยการ โจทก์ และจำเลย ก็คงกุมขมับว่าพูดอะไรวะ ฯลฯ เช่นเดียวกันครับ ถ้าเราเป็นนักสื่อสาร เราเก่งเรื่องการสื่อสาร แต่เราไม่มีความรู้ที่หลากหลายและไม่คอยตรวจสอบความจริง เราก็จะได้นักสื่อสารที่สักแต่ว่าทำข่าวแบบที่เขาแชร์ๆ กันมา แต่ไม่เคยลงมือตรวจสอบว่าจริงไหม แบบที่เราเห็นกันในสังคมเยอะแยะจนทุกวันนี้คนยังแชร์กันอยู่เลยน้องว่าดื่มมะนาวรักษาโรคมะเร็งได้ เออ! ดี!

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่จะบอกก็คือไม่ว่าเรียนอะไรมา อย่าแค่รู้เรื่องของเรา ให้รู้เรื่องของโลกด้วย แล้วเชื่อมโยงเรื่องของเราและเรื่องของโลกเข้าด้วยกัน

 

แล้วน้องดูนะครับ ทุกวันนี้อัลกอริทึมในโซเชียลมีเดียมันก็ฉลาดเหลือเกิ๊น เราชอบเรื่องไหน มันก็จะส่งคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาให้เราตลอด มันทำให้เรารู้ลึกขึ้นก็จริง แต่ถ้าเรารู้ลึก แต่รู้ไม่กว้าง และไม่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นได้ พี่ว่าเราก็จะแคบ

 

สิ่งที่พี่อยากบอกน้องก็คืออย่าฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัยอย่างเดียวว่ามหาวิทยาลัยจะทำให้เรารู้ทุกเรื่อง สิ่งที่เราควรได้จากมหาวิทยาลัยคือการรู้ว่าโลกนี้มีความรู้เต็มไปหมดให้เราเรียนรู้ โลกมันกว้างจังเลย และพี่คิดว่าการที่เรารู้ว่าเรารู้น้อยเป็นสิ่งที่ดีมากนะครับ เพราะมันจะนำไปสู่การพยายามทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือพอเรารู้แล้วว่าเรารู้น้อย เราจะทำอะไรต่อ เราจะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไหม หรือเราจะวิ่งไปหาความรู้

 

พี่จะบอกความลับให้อย่างหนึ่งว่าพี่ได้อะไรจากการเรียน ‘คณะเป็ด’ พี่คิดว่าสิ่งสำคัญที่พี่ได้จากคณะเป็ดคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่คำถามธรรมดา แต่เป็นคำถามไม่รู้จบ คำถามไม่รู้จบนี่แหละครับที่ทำให้เราสามารถต่อยอดความรู้ของเราได้ และมันทำให้เราไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะมันมีเรื่องให้เราเรียนรู้ได้อีกเยอะ เพราะคำถามของเราไม่เคยหมด และไม่ต้องกลัวว่าเรื่องนั้นเราก็ไม่รู้ เรื่องนี้เราก็ไม่รู้ เพราะเอาจริงๆ นะครับน้อง เราไม่รู้อะไรอีกเยอะมาก แต่ด้วยการตั้งคำถามของเรานี่แหละที่จะทำให้เราเปลี่ยนจากคนที่ไม่รู้เป็นคนที่รู้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น และสามารถช่วยให้คนอื่นๆ รู้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น

 

โลกนี้มีอะไรน่าสนใจตั้งเยอะแยะ ทำไมเราจะต้องจำกัดความรู้อยู่แต่เฉพาะสิ่งที่เราสนใจ ลองไปดูเรื่องที่เราเคยคิดว่ามันไม่น่าสนใจบ้าง ไปฟังคนที่ต่างจากเราบ้างว่าเขาคิดยังไง ขอบฟ้าของความรู้ของเราก็จะกว้างขึ้น และตัวเราก็จะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจมนุษย์ เข้าใจโลกมากขึ้นนะครับ

 

ก่อนที่เป็ดจะเป็นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ มันก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาตลอดกว่าจะพัฒนาเป็นเป็ดได้ ถ้าเราจะมองเป็ดว่ามันไม่เก่งสักอย่าง พี่ก็อยากให้มองให้เห็นด้วยเหมือนกันว่ามันไม่เคยนิ่งเฉยหรือไม่มีวิวัฒนาการ ไม่อย่างนั้นมันคงสูญพันธุ์ไปนานแล้ว

 

ไปเป็นเป็ดที่เจ๋งให้ได้นะครับน้อง เป็ดรุ่นพี่คนนี้เป็นกำลังใจให้ครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising