×

บทบาทผู้หญิงในแอนิเมชัน Disney Pixar จากเจ้าหญิงผู้อ่อนแอสู่บทคุณแม่และเมีย

02.08.2018
  • LOADING...

“ตอนได้งานที่ดิสนีย์ ฉันเริ่มศึกษาประวัติของสตูดิโอ และพบว่าซินเดอเรลลา เจ้าหญิงนิทรา และสโนว์ไวท์ ล้วนถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงทำงานในตำแหน่งงานสร้างเลย นั่นทำให้ฉันคิดได้ว่าทำไมสโนว์ไวท์ถึงได้เหมือนคนไม่เต็มเต็งนัก เธอเอาแต่ร้อง อา อ๊า อา อ้า อา คือฉันหมายถึง เด็กผู้หญิงที่ไหนทำกัน…”

 

เบรนดา แชปแมน – นักสร้างแอนิเมชันค่าย Pixar (ผู้กำกับ Brave)

 

นี่คงเป็นคำถามเดียวกับที่ผู้ชมหลายคน (โดยเฉพาะผู้หญิง) อาจสงสัยเมื่อโตขึ้นและมองย้อนกลับไปพิจารณาแอนิเมชันที่เราโปรดปรานในวัยเด็ก ทำไมเจ้าหญิงต้องดูเรียบร้อย ทำไมพวกเธอต้องรอความช่วยเหลืออยู่ตลอด ไม่ว่าจะจากคนแคระ นางฟ้าแม่ทูนหัว และเจ้าชายรูปงาม ทำไม Happy Ending คือการแต่งงานและอยู่อย่างมีความสุขตลอดไป นั่นคือเป้าหมายในชีวิตที่ผู้หญิงปรารถนาจริงๆ หรือ

 

คำถามเหล่านี้ คงทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยกลอกตาบนและส่ายหน้า

 

คำตอบง่ายๆ อาจมาพร้อมข้อสังเกตที่ว่าในกระบวนการสร้างแอนิเมชันเหล่านี้ แทบไม่มีผู้หญิงทำงานอยู่ด้วยเลย ตัวการ์ตูนหญิงล้วนถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชาย และนั่นเป็นสาเหตุที่การกระทำหรือความคิดหลายๆ อย่างของตัวละครดูน่าหงุดหงิดและขัดใจ

 

THE STANDARD วิเคราะห์ลงในแอนิเมชันของดิสนีย์ พิกซาร์ เพื่อมองหาพัฒนาการของผู้หญิง จากบทหญิงผู้อ่อนแอสู่การเป็นคุณแม่และเมียยุคใหม่

 

 

Pixar: โลกในฝันที่ผู้ชายรันวงการ

เหมือนอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ แวดวงแอนิเมชันถูกยึดครองโดยผู้ชายตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และแน่นอนค่ายยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์จวบจนบริษัทลูกอย่างพิกซาร์ ซึ่งรับหน้าที่ผลิตแอนิเมชันให้ค่ายในปัจจุบัน ก็ยังคงอุดมไปด้วยเหล่าผู้ชายซึ่งทำงานอยู่ในทุกภาคส่วน ทั้งบริหาร เขียนบท กำกับ วาดการ์ตูน เทคนิค และใดๆ ในบริษัท

 

แม้กระทั่งตัวละครจากภาพยนตร์ส่วนใหญ่ ซึ่งมักออกแบบให้เพศชายเป็นผู้ดำเนินเรื่องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Mr. Incredible จาก The Incredibles (2004), ลุงคาร์ลจาก Up (2008), เมอร์ลิน จาก Finding Nemo (2003), เรมี่ จาก Ratatouille (2006), วูดดี้และบัซ จาก Toy Story (1995), ไลท์นิ่ง แม็คควีน จาก Cars (2006) หรือสัตว์ประหลาดซัลลีย์และไมค์ จาก Monsters, Inc. (2001) ทุกเรื่องล้วนมีตัวละครเพศชายเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น

 

แล้วตัวละครผู้หญิงไปไหนกันหมด

 

น่าเศร้าที่สถานะเพศหญิงในโลกพิกซาร์ มักมาในรูปคู่หู ผู้สนับสนุน และตัวประกอบ ตั้งแต่กลางยุค 90 ถึงปลาย 2000 แอนิเมชันทุกเรื่องล้วนมีตัวละครเอกที่สวมบทบาทโดยเพศชาย จนกระทั่งในปี 2012 เมื่อพิกซาร์ตัดสินใจสร้าง Brave ที่ไม่เพียงให้กำเนิดเจ้าหญิงองค์แรกของค่าย แต่ยังเป็นการพลิกมุมมองครั้งสำคัญต่อบทบาทสตรีในโลกแอนิเมชัน

 

 

เมอริดา: ‘เจ้าหญิง’ ผู้ฝ่าทุกกฎของการเป็น ‘เจ้าหญิง’

ในยุคหนึ่งเรามักคุ้นเคยกับภาพจำเจ้าหญิงจากแอนิเมชันคลาสสิกในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสโนว์ไวท์ ซินเดอเรลลา หรือเจ้าหญิงนิทรา ที่คอยส่งเมสเสจซ้ำๆ สู่เด็กผู้หญิงทั่วโลกว่า “ถ้าหนูทำตัวดี เรียบร้อยอ่อนหวาน สักวันหนึ่ง (ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะทุกข์ระทมขมขื่นแค่ไหน) จะมีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเสมอ” นั่นเป็นเหตุผลที่กระบวนการ ‘ปลุกให้ตื่นจากเทพนิยาย’ คือสิ่งจำเป็นที่เด็กผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

 

แม้ในยุคต่อมาเจ้าหญิงจะถูกพัฒนาบทบาทให้กล้าหาญมากขึ้น (Beauty and the Beast, 1991) เข้มแข็งมากขึ้น (Mulan, 1998) หรือไม่รอให้ผู้ชายเดินมาหาอีกต่อไป (Little Mermaid, 1989) แต่บทสรุปสุดท้ายก็ยังหนีไม่พ้นการลงเอยกับเจ้าชายและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

 

กระทั่งเมื่อเจ้าหญิงเมอริดา จาก Brave หยิบภาพจำทั้งหลายเหล่านั้นขึ้นมาทุบทิ้งจนไม่เหลือซาก ด้วยการแหกทุกขนบที่เจ้าหญิงในจักรวาลดิสนีย์เคยเป็นทั้ง รูปลักษณ์ นิสัย แรงจูงใจ รวมถึงการดำเนินเรื่องและแง่คิดที่แปลกออกไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

Brave เล่าเรื่องราววุ่นวายของเมอริดา เจ้าหญิงนักธนูผู้รักการผจญภัยเหนือสิ่งใด เมื่อเธอประกาศกร้าวต่อหน้าพ่อแม่ (กษัตริย์เฟอร์กัสและราชินีเอเลนอร์) พร้อมเหล่าบรรดาผู้อาวุโสของอาณาจักร ว่าจะไม่ปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมที่ต้องเลือกคู่ครองเมื่ออายุ 16 นำไปสู่เหตุชุลมุนบางอย่างที่เมอริดาต้องหาทางแก้ไขก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

 

สำหรับใครที่เคยรับชม Brave คงพอทราบดีว่าเมอริดา แตกต่างจากเจ้าหญิงของดิสนีย์โดยสิ้นเชิง อันพอสรุปให้เห็นภาพได้ดังนี้

 

1. เธอปฏิเสธกรอบธรรมเนียมที่ไม่เข้ากับตัวตนของเธอ: เมื่อต้องถูกแม่อย่างราชินีเอเลนอร์ บังคับให้เข้าพิธีเลือกคู่ เมอริดาประกาศกร้าวในจุดยืนที่ไม่ต้องการเป็น ‘เจ้าหญิง’ ในแบบที่แม่อยากให้เธอเป็น (และแบบที่เจ้าหญิงของดิสนีย์เคยเป็น) เธอรักที่จะยิงธนู ขี่ม้า และผจญภัยในป่า นั่นคือตัวตนของเธอ ไม่ใช่การเป็นเจ้าหญิงในชุดรัดๆ และลงเอยด้วยการแต่งงานที่พ่อแม่จัดหาให้

 

2. เธอไม่รอให้เจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วย: ใครที่ชม Brave มาก่อนคงทราบแล้วว่า ความชุลมุนวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนถูกสะสางด้วยตัวเจ้าหญิงเมอริดาเองทั้งสิ้น เมื่อเอเลนอร์ถูกสาป เมอริดาตัดสินใจหาทางแก้ไขและปกป้องแม่ด้วยตัวของเธอเอง ในขณะที่บทบาทของเจ้าหญิงส่วนใหญ่ คือการอยู่เฉยๆ และรอให้เจ้าชายมาช่วย

 

3. Brave มุ่งถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก: ใช่! เรื่องนี้ไม่มีเจ้าชาย ความโรแมนติกหญิง-ชายที่มักเป็นส่วนผสมสำคัญของแอนิเมชันหลายๆ เรื่อง ถูกแทนที่ด้วยประเด็นความเข้าใจระหว่างแม่ลูก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการ์ตูนเจ้าหญิงที่ไม่ลงเอยกับเจ้าชายก็สนุกและกินใจได้เช่นกัน

 

 

ไม่เพียงเบื้องหน้าเท่านั้นที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญต่อบทบาทตัวละครหญิงในการ์ตูน ในส่วนเบื้องหลัง Brave ยังนับเป็นก้าวยิ่งใหญ่ของบทบาทผู้หญิงในแวดวงแอนิเมชัน เมื่อพิกซาร์เลือกให้ เบรนดา แชปแมน มานั่งตำแหน่งผู้กำกับร่วมกับ มาร์ค แอนดรูว์ ซึ่งเธอยังรับหน้าที่เขียนบทที่ได้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ของเธอกับลูกสาว ทำให้เบรนดากลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวของพิกซาร์ และด้วยความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ ทำให้ Brave คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ และทำให้เบรนดา กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์จากสาขานี้

 

 

ลึกเข้าไปในหัวไรลีย์

ในปี 2015 พิกซาร์คลอดแอมิเมชันเรื่อง Inside Out ออกมา โดยใช้เด็กผู้หญิงวัย 11 ขวบนามไรลีย์ เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง นอกจากเนื้อหาที่สนุกสนานแล้ว Inside Out ยังแอบสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงไว้อย่างน่าสนใจ อย่างเรื่อง Gender Expectation หรือความคาดหวังทางเพศ

 

Inside Out เล่าเรื่องราววุ่นวายภายในหัวของหนูน้อยไรลีย์ เมื่อต้องย้ายบ้านตามพ่อแม่และปรับตัวเข้ากับที่ใหม่ โรงเรียนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ทำให้เหล่าอารมณ์ของเธออันประกอบด้วย Joy, Sadness, Anger, Fear และ Disgust ต้องช่วยกันประคับประคองให้ไรลีย์ก้าวผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้

 

 

เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากผู้กำกับ พีท ด็อกเตอร์ เมื่อเขาสังเกตเห็นลูกสาววัยสิบขวบต้นๆ เริ่มเก็บตัวเงียบและไม่ชั่งพูดจาเหมือนแต่ก่อน พีทจึงต้องการสร้างแอนิเมชันที่บอกเล่าเรื่องราวอันเกิดขึ้นภายในใจของเด็กผู้หญิง ซึ่ง Inside Out ก็สามารถเปลี่ยนพัฒนาการทางอารมณ์ที่ซับซ้อนชวนมึน ให้กลายเป็นเรื่องราวเข้าใจง่ายได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เด็กผู้หญิงต้องแบกรับจากการเลี้ยงดู นั่นคือความคาดหวัง (Expectation) ของบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่ต้องการให้พวกเธอ ‘มีความสุข’

 

จากภาพยนตร์จะพบว่าในบรรดาอารมณ์ทั้งหลาย จอยดูจะเป็นตัวแม่ที่เจ้ากี้เจ้าการไปซะทุกเรื่อง นั่นทำให้เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่มีความสุข เช่น กรณีไรลีย์คือย้ายบ้าน เด็กผู้หญิงจึงไม่สามารถแสดงออกถึงอารมณ์โกรธ กลัว หรือเศร้าได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของความชุลมุนวุ่นวายภายในเรื่องที่เหล่าอารมณ์โดยเฉพาะจอย ต้องเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับไรลีย์ โดย Inside Out ก็สามารถถ่ายทอดประเด็นนี้ออกมาได้อย่างสนุก คมคาย และเข้าใจผู้หญิงอย่างแท้จริง

 

 

ไม่เพียงเป็นแอนิเมชันเรื่องที่สองของพิกซาร์เท่านั้นที่ใช้เพศหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง Inside Out ทำยิ่งกว่าโดยการนำคู่หูเพศหญิงมาใช้เป็นตัวละครเอก ดังที่เรามักคุ้นตาในอดีตกับคู่หูชาย-ชาย ไม่ว่าจะเป็น ไมค์-ซัลลีย์ จาก Monsters, Inc. หรือวูดดี้-บัซ จาก Toy Story โดยในเรื่องนี้ได้วางบทให้ Joy และ Sadness เป็นศูนย์กลางการเล่าเรื่อง

 

ในส่วนเบื้องหลังก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เมื่อพีท ด็อกเตอร์ ผู้กำกับต้องการเพิ่มความหลากหลายให้ทีมสร้าง เขาจึงคัดเลือกทีมงานใหม่โดยกำหนดให้ครึ่งหนึ่งเป็นเพศหญิง ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะตั้งแต่อดีตทีมสร้างเกินกว่าครึ่งมักเป็นผู้ชาย

 

 

 

Inside Out

 

 

ซาลาเปา และทีมเราหญิงล้วน

แอนิเมชันสั้นเรื่อง Bao ในปี 2018 คงกลายเป็นอีกหนึ่งงานสร้างน่าจับตาของปีนี้ เพราะนอกจากเนื้อหาที่พูดถึงวัฒนธรรมฝั่งเอเชีย ซึ่งไม่ค่อยได้จุติบนงานของพิกซาร์เท่าไรนักแล้ว ยังมีเบื้องหลังที่ใครหลายคนคงต้องร้อง ว้าว!

 

Bao เล่าเรื่องของหญิงชาวจีนผู้ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านดูแลสามีซึ่งยุ่งกับการทำงาน จนกระทั่งวันหนึ่งระหว่างทานอาหารเช้า เธอพบว่าซาลาเปาที่ปั้นเกิดมีชีวิตขึ้นมา เธอจึงตัดสินใจเลี้ยงดูซาลาเปาลูกนั้นเหมือนเป็นลูกของเธอ โดยเรื่องราวได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตส่วนตัวของผู้กำกับเชื้อสายจีน-แคนาดา ดูมี่ ชี (Domee Shi) ซึ่งเธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์สั้นของพิกซาร์

 

ไม่เพียงเท่านั้น ดูมี่ยังกล่าวว่า เธอใช้เวลาพัฒนาเรื่องราวของ Bao กว่า 4 ปี โดยทีมงานเริ่มแรกล้วนเป็นผู้หญิงในเกือบทุกตำแหน่งทั้ง Producer, Production Design, นักตัดต่อและผู้ออกแบบเสียง นับเป็นอีกงานสร้างหนึ่งของพิกซาร์ ซึ่งพิสูจน์ความสามารถของผู้หญิงที่ผลิตงานคุณภาพได้ไม่แพ้ผู้ชาย

 

 

 

Bao

 

 

เฮเลน พารร์ กับหน้าที่แม่และเมีย 2018

ล่าสุดในปีนี้ เมื่อแอนิเมชันครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่ซึ่งห่างหายไปแสนนานจนไม่มีใครคิดว่าจะเอามาทำภาคต่ออย่าง Incredibles 2 เข้าฉาย ซึ่งนอกจากจะไล่ทำลายสถิติบนบ็อกซ์ออฟฟิศจนตามไม่ทันแล้ว Incredibles 2 ยังกลายเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ถ่ายทอดบทบาทของผู้หญิงในสังคมปัจจุบันได้อย่างทันสมัยไม่ตกเทรนด์

 

โดยในภาคนี้ผู้กำกับและมือเขียนบทคนเดิมอย่าง แบรด เบิร์ด ตัดสินใจเปลี่ยนเอาเฮเลน พารร์ หรือ Elastigirl ขึ้นมาเป็นตัวนำเรื่องแทน Mr. Incredible ทำให้ฮีโร่ผู้แข็งแกร่งบึกบึน ต้องเทิร์นสถานะตัวเองเป็นคุณพ่อเต็มเวลา ในขณะที่คุณแม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ปราบเหล่าร้าย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ชมสนุกสนานกับเรื่องราวใหม่ ทั้งฉากแอ็กชันของ Elastigirl ที่เพิ่มเยอะขึ้นมาก หรือความทุลักทุเลในการเป็นพ่อบ้านใจกล้าของ Mr. Incredible ซึ่งต้องรับมือวัยแตกสาวของไวโอเล็ต การบ้านคณิตของแดช และพลังของหนูน้อยแจ็ค-แจ็ค ที่คุ้มดีคุ้มร้าย Incredibles 2 ยังนำเสนอภาพของครอบครัวสมัยใหม่ที่ผู้หญิงไม่ถูกจำกัดอยู่แค่แม่บ้านเลี้ยงลูก รอทำอาหารให้สามี แต่สามารถออกไปทำงานที่ตัวเองรัก ในขณะที่ผู้ชายก็สามารถอยู่บ้านรับผิดชอบลูกๆ และทำงานบ้านแทนได้

 

 

ฮอลลี ฮันเตอร์ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้ให้เสียงภาค Elastigirl ให้สัมภาษณ์กับ Variety ว่า “การเลี้ยงลูกเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ และมันจะวิเศษมากถ้าหน้าที่นี้สามารถร่วมแชร์โดยคนสองคนได้ ไม่ว่าจะเป็น ชาย-ชาย, หญิง-หญิง, หรือชาย-หญิง” โดยเธอยังเสริมว่า หวังให้ภาคต่อของ The Incredibles นี้ สามารถทำให้การพูดคุยเรื่องความเท่าเทียมกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน

 

 

 

Incredibles 2

 

 

นอกจากนี้ ยังมีแอนิเมชันอีกหลายเรื่อง และตัวละครมากมายจากค่ายพิกซาร์ที่ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาเพื่อตอกย้ำความสำคัญของบทบาทสตรี อาทิ บทเชฟสาวสวยโหดอย่าง คอเลตต์ จาก Ratatouille (2006) ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้ในโลกของผู้ชายอย่างวงการอาหารก็ยังมีหญิงแกร่งผู้หาที่ยืนให้ตัวเธอเองได้, หุ่นยนต์อีฟใน WALL·E (2008) ซึ่งเป็นตัวแทนของหญิงเก่งผู้ปกป้องผู้ชาย อย่างหุ่น WALL·E ที่ทั้งเรื่องดูไม่ทำอะไรเลย หรือมาม่าอีเมลด้า ใน Coco (2017) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ปราศจากผู้ชาย ผู้หญิงก็สามารถยืดหยัดและเป็นผู้นำครอบครัวได้เช่นกัน

 

 

บทบาทสตรีกลายเป็นกระแสที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่สังคม วัฒนธรรม สำหรับพิกซาร์ก็เช่นกัน จากโลกแอนิเมชันที่ยึดครองโดยผู้ชายและตัวการ์ตูนเพศชาย กลายมาเป็นบริษัทที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาท แสดงฝีมือ และบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของพวกเธอมากขึ้น โดยในอนาคตข้างหน้าค่ายคุณภาพอย่างพิกซาร์ จะผลิตผลงานอะไรให้สังคมได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมหรือพัฒนาการในแง่มุมอื่นๆ อีก ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising