×

วิเคราะห์การ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่ที่ทำให้ มุนซังแท ได้เรียนรู้ชีวิตใน It’s Okay to Not Be Okay

29.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ไดโนเสาร์น้อยดูลี่ (Dooly the Little Dinosaur) คือหนึ่งในการ์ตูนเด็กที่มีความสำคัญกับป๊อปคัลเจอร์ของเกาหลีใต้ งานวาดโดย คิมซูจอง นักวาดการ์ตูนชาวเกาหลีที่มีฉบับแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยให้อ่านด้วย
  • “โกกิลดงน่ะ ในฐานะผู้ดูแล ไม่สิ ผู้ปกครองของดูลี่ โดเนอร์ โตชิ เขาป้อนข้าว กล่อมนอน และดูแลเจ้าเด็กพวกนั้นที่เข้ามาอยู่ในบ้านเขานี่นา ยกตัวอย่าง ผมก็เป็นผู้ปกครองของคังแท ผู้ปกครองต้องเชื่อถือและไว้ใจได้ เพราะว่าผมเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นพี่ไง” – มุนซังแท
  • ในอีพี 11 มีฉากสำคัญซึ่งเป็น Turning Point ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัว ทำให้มุนซังแทเรียนรู้ว่า ‘มุนคังแทเป็นของตัวมุนคังแทเอง’ ความสัมพันธ์ในครอบครัวคือความรักในกันและกัน ไม่ใช่การเป็นเจ้าของหรือมองว่าชีวิตใครจะเป็นของใคร

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์**

 

ในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay เราน่าจะคุ้นเคยกับไดโนเสาร์ตัวเขียวหลังหนามพันธุ์สเตโกซอรัสตัวโปรดของมุนซังแทที่เขาใช้ห้อยกระเป๋าตลอดทั้งเรื่อง และการ์ตูนเรื่องไดโนเสาร์น้อยดูลี่ที่ปรากฏในซีรีส์หลายฉากหลายตอน มันไม่ใช่แค่การนำมาใช้เพื่อเป็นพร็อพประกอบฉาก แต่มีความหมายลึกซึ้งที่แฝงไว้มากกว่านั้น อย่างที่รู้ได้เลยว่าผู้เขียนบททำการบ้านหนักมากเพื่อลงรายละเอียดให้สิ่งของสะท้อนความคิดความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชาญฉลาด

 

 

“แต่ยังไงผมก็ยังรักคุณลุงนะ เพราะคุณลุงน่าสงสารพอๆ กับผม”

 

“ฉันน่าสงสารตรงไหน”

 

“ก็น่าสงสารนี่”

 

“ทำอย่างกับฉันเป็นเด็กกำพร้า”

 

“ถึงไม่ได้กำพร้า แต่ก็ทำตัวเหมือนเด็กกำพร้าแหละ ไร้ความคิด ไร้อิสระ ไร้สติ จิตใจว่างเปล่า เด็กกำพร้าชัดๆ… แต่ยังไงผมก็ยังรักคุณลุงนะ เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะผมตัดสินใจแบบนั้น”

 

ในอีพีแรกที่เป็นฉากเปิดตัวมุนซังแท เราได้เห็นเขากำลังนอนวาดรูปบนพื้นห้อง พูดตามเสียงการ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่ในทีวีไปด้วย กล้องแพนไปในห้องเล็กๆ ที่เขาและน้องชายอาศัยอยู่ด้วยกัน เราจะเห็นภาพวาดไดโนเสาร์ รวมถึงชาร์ตตัวละครการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ข้างๆ ชาร์ตใบหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ ที่เขาทำไว้

 

 

การ์ตูน Dooly the Little Dinosaur

 

ไดโนเสาร์น้อยดูลี่ (Dooly the Little Dinosaur) คือหนึ่งในการ์ตูนเด็กที่มีความสำคัญกับป๊อปคัลเจอร์ของเกาหลีใต้ งานวาดโดย คิมซูจอง นักวาดการ์ตูนชาวเกาหลีที่มีฉบับแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยให้อ่านด้วย โดยเริ่มแรกการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Bo-Mool Sum ปี 1983 และตีพิมพ์ยาวนาน 10 ปี โดยที่เวอร์ชันสปินออฟยังคงตีพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ในปี 1987 สถานีโทรทัศน์ KBS ได้นำไปสร้างเป็นแอนิเมชันออกอากาศ ทั้งยังทำเทปวิดีโอออกขาย (อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์) และมีการนำกลับมาฉายทางทีวีซ้ำอีกหลายครั้ง 

 

เรื่องราวของ โกกิลดง ผู้ชายธรรมดา หัวหน้าครอบครัวของลูก 3 คน ดูเหมือนจะแข็งๆ แต่เนื้อแท้เป็นคนน่ารัก เขาเป็นคู่อริกับทีมป่วนที่นำโดย ดูลี่ ไดโนเสาร์น้อยพันธุ์เซอราโตซอรัสที่ถูกลักพาตัวไปแช่ไว้ในธารน้ำแข็งนับร้อยปี, โดเนอร์ มนุษย์ต่างดาวจมูกแดงที่ยานไวโอลินย้อนเวลาพังจนต้องค้างอยู่บนโลก, โตชิ ลูกนกกระจอกเทศที่หนีมาจากคณะละครสัตว์ ถึงแม้พวกทีมป่วนจะดูไม่ลงรอยกับโกกิลดง แต่เขาก็ยังยอมให้ทีมป่วนอยู่ในบ้านร่วมกับครอบครัวของเขา 

 

 

“น่ารังเกียจจริงๆ เจ้าดูลี่กับพรรคพวกนั่น ฉันเกลียดมันมาก บ้านตัวเองก็ไม่ใช่ แต่ดันทำตามอำเภอใจ ฉันชอบโกกิลดง เพราะเขาให้พวกตัวภาระมาอยู่ในอาณาเขตตัวเองหมดเลยนี่ เป็นคนจิตใจดี พี่คิดว่ายังไง” – โกมุนยอง

 

“ชอบครับ ผมก็ชอบโกกิลดงมากเหมือนกัน เจ้าน้ำตาของผม เดิมทีเจ้าน้ำตาชื่อว่าโกกิลดง มันมีเศษด้ายตรงตา เลยเป็นเจ้าน้ำตาด้วย แต่ก่อนชื่อว่าโกกิลดง

 

“โกกิลดงน่ะ ในฐานะผู้ดูแล ไม่สิ ผู้ปกครองของดูลี่ โดเนอร์ โตชิ เขาป้อนข้าว กล่อมนอน และดูแลเจ้าเด็กพวกนั้นที่เข้ามาอยู่ในบ้านเขานี่นา ยกตัวอย่าง ผมก็เป็นผู้ปกครองของคังแท ผู้ปกครองนี่ต้องเชื่อถือและไว้ใจได้ เพราะว่าผมเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นพี่ไง” – มุนซังแท

 

ในอีพี 9 โกมุนยองเดินเข้ามาในห้องนอนของมุนซังแทขณะที่เขากำลังดูการ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่อยู่ เธอชอบโกกิลดง ซึ่งก็เท่ากับว่าเธอชอบมุนซังแทด้วย ในฐานะที่เป็นพี่ชายที่คอยดูแล เป็นผู้ปกครองแบบที่ชีวิตนี้เธอไม่เคยมี

 

การ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่สะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของเหล่าตัวละครต่างที่มา ความแน่นแฟ้นของพวกเขายิ่งเพิ่มมากขึ้นจากการได้อยู่ร่วมกันและทำภารกิจต่างๆ ความรักที่ไม่ได้แสดงออกมากมายนัก แต่ต่างรับรู้ได้ นอกจากนี้ในการ์ตูนยังแทรกข้อคิดสอนใจต่างๆ เอาไว้มากมาย ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ ไม่ขโมยของ ไม่โกหก ฯลฯ ซึ่งการที่มุนซังแทดูการ์ตูนเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขัดเกลาให้เขาเป็น ‘ผู้ใหญ่ที่ดี’

 

 

“สเตโกซอรัส ชื่อแปลว่ากิ้งก่ามีหลังคา มีลักษณะพิเศษที่มีหลังคาตามแนวกระดูกสันหลัง สันนิษฐานว่ามีชีวิตในช่วงปลายยุคจูราสสิก


“เป็นไดโนเสาร์ที่สมองเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดตัวที่ใหญ่ ผมก็มีตุ๊กตาที่เหมือนเปี๊ยบเลย ตุ๊กตาสเตโกซอรัส ชื่อที่ผมตั้งให้เจ้านี่คือน้องน้ำตา” – มุนซังแท

 

ฉากหนึ่งในอีพี 2 ที่มุนซังแทไปงานเปิดตัวหนังสือของโกมุนยองและพบเด็กที่ใส่ชุดไดโนเสาร์สเตโกซอรัสมาร่วมงาน ซีรีส์แสดงให้เห็นภาพจากสายตามุนซังแทที่มองเห็นแตกต่างจากคนทั่วไป เขามองเห็นเด็กคนนั้นเป็นตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ขึ้นมาจริงๆ

 

และในอีพี 3 ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ถามมุนซังแทถึงตุ๊กตาไดโนเสาร์ของเขา “สเตโกซอรัส ในบรรดาไดโนเสาร์เป็นพันธุ์ที่โง่ที่สุด แต่จริงๆ แล้วไร้เดียงสามาก เจ้าตัวนั้นชื่ออะไรน่ะ”


“โกกิลดงครับ เจ้าตัวนี้ชื่อโกกิลดง” 

 

ฉากที่ตุ๊กตาไดโนเสาร์สเตโกซอรัสปรากฏบนจอมีอยู่หลายครั้ง และการที่มุนซังแทชอบการ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่มากๆ จนเอาชื่อตัวการ์ตูนโกกิลดงไปตั้งเป็นชื่อตุ๊กตา เป็นการเปรียบเทียบว่าตัวเขาเองมีหน้าที่เทียบเท่ากับโกกิลดงที่คอยดูแลสมาชิกในครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ดูลี่ โดเนอร์ โตชิ ที่นับเป็นสมาชิกครอบครัวเช่นกัน

 

ออทิสติกไม่ได้มีความหมายในด้านลบไปเสียทั้งหมด สองฉากในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay นี้ทำให้เห็นความหมายแฝงที่ซีรีส์ต้องการบอก จากตัวไดโนเสาร์พันธุ์สเตโกซอรัสที่มีกระดูกสันหลังยาวขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันที่ทำให้ตัวมันมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่น และแม้ว่าจะมีสมองเล็กมาก แต่ก็ไร้เดียงสามาก เช่นเดียวกับคนที่มีออทิสติกที่มีลักษณะพิเศษ แม้ว่าจะบกพร่องในบางเรื่อง แต่ก็มีสิ่งพิเศษทั้งเรื่องความจำดี มองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนคนทั่วไป และความบริสุทธิ์ของจิตใจที่ไม่เสแสร้ง

 

 

“ดูลี่เป็นไดโนเสาร์พันธุ์เซอราโตซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อ แล้วก็แม่ดูลี่ แม่ของดูลี่พันธุ์แบรคิโอซอรัส เป็นไดโนเสาร์กินพืช” 


“เป็นแม่ลูกกัน ทำไมคนละพันธุ์ล่ะ”


“ต้นกำเนิดของดูลี่มีความลับอยู่ครับ แม่ของดูลี่เป็นแม่เลี้ยง เป็นแม่ปลอมๆ ตอนที่ดูลี่อยู่ในไข่ แม่แท้ๆ ของดูลี่ทำไข่หาย แบรคิโอซอรัสตัวนี้เลยเก็บดูลี่มาฟัก แล้วเลี้ยงดูดูลี่ตัวเดียว แฟนๆ ดูลี่แบบผมคาดเดากันแบบนี้ครับ” 


“ถึงเป็นแม่ปลอมๆ แต่ก็เป็นแม่ที่ดีนะ”


“ครับ ของปลอมหลอกลวง เป็นสิ่งไม่ดี แต่แม่ดีหมดเลย”

 

ในอีพี 10 หัวหน้าพยาบาลเอาตุ๊กตาแม่ดูลี่ตัวใหญ่มาเป็นของขวัญให้มุนซังแทช่วงที่เขากำลังมีปัญหากับน้องชายเกี่ยวกับความลับในวัยเด็ก ซึ่งกลายเป็นแผลใจให้เขาทั้งคู่ ฉากนี้นับเป็นการคลี่คลายแรก หลังจากจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเมื่อมุนซังแทระเบิดอารมณ์และเปิดเผยความลับนั้นออกมา

 

 

และในอีพี 11 มีฉากสำคัญซึ่งเป็น Turning Point ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และทำให้มุนซังแทเรียนรู้ว่า ‘มุนคังแทเป็นของตัวมุนคังแทเอง’ ความสัมพันธ์ในครอบครัวคือความรักในกันและกัน ไม่ใช่การเป็นเจ้าของหรือมองว่าชีวิตใครจะเป็นของใครได้

 

“พี่ ทำไมโกกิลดงด่าว่าพวกนั้นทุกวัน แต่ก็ให้อยู่ด้วยล่ะ”


“อ๋อ เพราะเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ไง”


“แต่เด็กพวกนั้นไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันจริงๆ นี่” 


“อืม นามสกุลก็ไม่เหมือน คนละสายเลือดด้วย ชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านก็ไม่มี เป็นคนอื่นน่ะ คนอื่น”


“เป็นคนอื่นแล้วทำไมพามาอยู่บ้านเดียวกันล่ะ”


“เพราะเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ไง”


“พี่เองก็เป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม”


“มุนซังแท อายุ 35 ปี เกิดปี 1984 ปีชวด ถึงจะดูเด็ก แต่ก็ไม่ใช่เด็กแล้ว” 


“ใช่ไหม เป็นผู้ใหญ่แล้วเนอะ เป็นผู้ใหญ่ที่รับคนอื่นมาเป็นครอบครัวได้แล้วเหมือนโกกิลดง”


“อือ”


“พี่ครับ รู้อะไรไหม ผมก็กำลังพยายามที่จะเป็นผู้ใหญ่อยู่”

 

การยอมรับคนอื่นเข้ามาในครอบครัวอาจเป็นเรื่องยากสำหรับมุนซังแท แต่การที่ได้เห็นใบหน้าน้องชายมีความสุขเป็นครั้งแรกในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น สำหรับมุนซังแท – พี่ชาย ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองของน้องชาย ครอบครัวคนเดียวที่เขาเหลืออยู่ – มุนซังแทได้มองเห็นแล้วว่ามุนคังแทจริงๆ แล้วก็ยังเป็นเด็กผู้ชายที่ต้องการคนมาดูแลปกป้องเช่นกัน

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตัวมุนซังแทในซีรีส์จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น เขาเอาเงินเก็บที่ไม่เคยใช้ไปเลี้ยงอาหารกลางวันดีๆ น้องชาย และถ้ายังจำกันได้ ในฉากแรกของอีพี 1 ที่แนะนำตัวละคร มุนคังแทโทรไปหาพี่ชาย ถามคำแรกว่า ‘กินข้าวหรือยัง’ และหลายๆ ครั้งจากนั้นเราจะเห็นว่าเขาโทรไปหามุนซังแทด้วยคำถามนี้เป็นประจำ การที่วันหนึ่งมุนซังแทโทรหาเขาและถามว่า ‘กินข้าวหรือยัง’ จึงบอกได้ทันทีว่าพี่ชายของเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วจริงๆ

 

*ภาพซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay จาก Netflix

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI

นักเขียนคิมซูจองให้สัมภาษณ์กับ Korea.net เนื่องในโอกาสที่การ์ตูนไดโนเสาร์น้อยดูลี่ครบรอบ 30 ปีในปี 2014

 

“ผมไม่รู้เลยครับว่าทำไมดูลี่ถึงได้รับความนิยมมายาวนานขนาดนี้ มันยากมากๆ สำหรับตัวการ์ตูนตัวหนึ่งที่จะมีอายุยืนยาว โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ ผมไม่คิดว่าเป็นเพราะผมทำงานหนักมากๆ ในการสร้างดูลี่ขึ้นมา ผมให้เครดิตกับคนอ่านทุกคนที่สนใจในเรื่องราวของดูลี่มากกว่าครับ 

 

“ผมคิดว่าด้วยรายละเอียดของเรื่องราวและความหลากหลายของคาแรกเตอร์ รวมถึงความใกล้ตัวผู้คน มีหลายตอนเลยครับที่เปิดฉากด้วยบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมากๆ กับทุกครอบครัวในสังคม

 

“ผมใส่ความหมายที่แตกต่างสำหรับผู้อ่านที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ เพราะผมหวังจะทำให้คนทุกคนไม่ว่าอายุหรือเพศอะไรได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วมีความสุขได้ด้วย โดยส่วนตัวผมหวังว่าดูลี่จะเป็นต้นแบบของนักวาดการ์ตูนเกาหลีที่จะออกแบบคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้อยู่แค่ในการ์ตูน แต่จะอยู่ในใจพวกเราตลอดไป”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising