×

สำรวจต้นไม้ใหญ่บนถนนวิทยุ การตัดต้นไม้แบบผิดๆ อาจนำมาสู่การทำลายสมบัติสาธารณะครั้งใหญ่

23.04.2020
  • LOADING...

ภายหลังจากมีกระแสจากเพจเฟซบุ๊ก ‘BIG Trees’ ที่ได้ออกมาเผยภาพการตัดต้นไม้ที่ถนนวิทยุ ด้านข้างสวนลุมพินี ตั้งแต่แยกพระรามสี่ไปจนถึงแยกสารสิน พร้อมแนบข้อความระบุว่า “วันก่อนได้เห็นคนเอารูปลงไป 2-3 รูปยังรู้สึกสะกิดใจ วันนี้มีโอกาสตามไปดูให้เห็นกับตา ปรากฏว่ากุดหมดถ้วนหน้าไม่ว่าต้นเล็กต้นใหญ่ ใครรับผิดชอบการทำลายสาธารณสมบัติครั้งใหญ่ครั้งนี้?”

 

ล่าสุดวันนี้ (23 เมษายน) ช่างภาพของ THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจต้นไม้ใหญ่บริเวณถนนวิทยุ ช่วงสามแยกตัดกับสารสิน-พระราม 4 พร้อมสัมภาษณ์ อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ใหญ่ในเขตดังกล่าว

 

โดยอรยาระบุว่า “อย่างที่เห็นตามภาพที่ BIG Trees นำเสนอ เลวร้ายสุดคือการตัดแทบจะครึ่งต้น ถ้าตัดแบบนี้คิดว่าไม่นานต้นไม้อาจจะตายได้เลย และต้นไม้ที่ยืนตายแบบนี้มันจะล้มเมื่อไรก็ได้ หรือพูดง่ายๆ เวลาเราตัดแต่งกิ่งไม้มากๆ หรือตัดแบบนี้ทุกปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือรากของต้นไม้ที่อยู่ใต้ดินมันจะหดลงตามธรรมชาติ เพราะก่อนหน้านี้มักมีตัวอย่างให้เห็นว่าต้นไม้ที่ล้มลง รากแทบจะไม่เหลือเลย เพราะมันถูกเทปูนบ้าง ถูกกุดไปครึ่งต้นบ้าง ซึ่งต้นไม้ใหญ่แบบนี้ ถ้าตัดผิดตำแหน่งหรือมีแผลฉีกที่ต้น ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ป่วยและล้มลง

 

“ตอนนี้ประเทศไทยยังขาดเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับในเชิงปฏิบัติที่เป็นทางการ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือลักษณะให้ความรู้ผ่านการอบรม แต่ถ้ามีกฎหมายพร้อมข้อบังคับออกมากำหนดเลยว่า ถ้าผู้ใดไม่ทำตามกฎก็จะมีบทลงโทษต่างๆ นานา ซึ่งเรื่องแบบนี้ในประเทศไทยยังไม่มี”

 

นอกจากนี้ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees ยังให้ข้อมูลถึงวิธีการสังเกตต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ตามชุมชนเมืองว่า จะสังเกตได้อย่างไรว่าต้นไหนคือต้นที่ดีและต้นที่กำลังแย่อยู่ “ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปที่มองต้นไม้ใหญ่แบบเผินๆ ก็จะสังเกตได้ว่า การที่ต้นไม้จะแตกกิ่งก้านออกมานั้นใช้เวลาไม่นาน และทำให้หลายคนคิดว่าแบบนั้นคือสิ่งที่โอเคแล้ว แต่จริงๆ แล้วกิ่งไม้ที่ออกมาเป็นกระจุกนั้นเป็นกิ่งที่เล็กมาก มันพร้อมที่จะหักได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังทำให้กิ่งใหม่ๆ ที่แตกตามออกมากลายเป็นกิ่งที่อ่อนแอ แทนที่เราจะเก็บกิ่งที่แข็งแรงเอาไว้ให้ค่อยๆ เพิ่มขนาดตามธรรมชาติไปเรื่อยๆ 

 

“ส่วนกิ่งที่มีปัญหา เช่น เอียงมากไป หรือมีรอยฉีก รอยหัก แห้ง ก็ค่อยตัดออก ในกรณีแบบนี้จะต้องทำการตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้มีความปลอดภัยและสวยงามมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยประสบการณ์ด้านการจัดการต้นไม้ หรือที่เรียกว่า ‘รุกขกร’ ที่ทำอาชีพเฉพาะด้านเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ใหญ่ จึงจะรู้ว่าต้นไม้ใหญ่ที่พบเห็นทั่วไปควรจัดการอย่างไร 

 

“ดังนั้นหลักง่ายๆ สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยากรู้ว่าต้นไม้ที่เห็นเป็นอย่างไรก็คือว่า ถ้าต้นไหนถูกตัดจนไม่เหลือกิ่งเลย ไม่เหลือใบเลย และแผลการตัดดูฉีกๆ วิ่นๆ เป็นแผลทางยาว ก็ให้เหมาได้เลยว่านี่คือการตัดแต่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้นไม้ที่ดีต้องมีกิ่งและใบเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง และอยู่ในรูปแบบที่สมดุล มีรูปร่างที่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนที่เห็นบนถนนวิทยุคือเป็นการตัดทิ้งแน่นอน” อรยากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากคู่มือการบำรุงรักษาและตัดแต่งต้นไม้ของสำนักงานเขตจตุจักร ได้ให้ข้อมูลถึงประโยชน์ของการปลูกป่าไม้ในเขตเมืองว่ามีผลดีที่ตามมาหลากหลายประการ เช่น ทำให้สภาพภูมิอากาศในพื้นที่นั้นๆ ดีขึ้น, ช่วยกรองฝุ่นและมลพิษทางอากาศ, ช่วยเพิ่มออกซิเจนและความชื้นสัมพัทธ์ให้กับอากาศ, ลดความเร็วลมลงได้ 75-85%, ลดเสียงรบกวน และช่วยลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ฯลฯ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising