×

สำรวจแบรนด์แฟชั่นไทยท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

17.03.2020
  • LOADING...

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา THE STANDARD และ THE STANDARD POP ได้ติดตามและรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และการคมนาคม ฯลฯ อย่างใกล้ชิด

 

รวมทั้งฝั่งวงการบันเทิงและแฟชั่นทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบหนักจนต้องออกมาประกาศยกเลิกและเลื่อนงานจัดงานสำคัญๆ ไป เช่นเดียวกันกับบ้านเราที่พลอยติดร่างแหไปด้วย

 

THE STANDARD POP ได้ติดต่อสอบถามไปยัง 10 แบรนด์แฟชั่นไทย เพื่อสำรวจสถานการณ์ของแบรนด์ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องยอดขาย ความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ การจัดงานเปิดคอลเล็กชันใหม่ การนำเข้าส่งออก การสั่งซื้อวัตถุดิบ ไปจนถึงการปรับตัวในช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย

 

Poem

 

แบรนด์แฟชั่นไทย การระบาดของโควิด-19

 

“ผมคิดว่าตอนนี้ทุกธุรกิจรวมทั้งแฟชั่นน่าจะโดนหมด โดยเฉพาะไทยดีไซเนอร์ที่พูดได้เลยกว่าเราเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เราเป็นเสื้อผ้าก็จริง แต่เราไม่ใช่ปัจจัย 4 โดยในส่วนของธุรกิจเรามีเสื้อผ้า Ready To Wear ประมาณ 80-90% ที่ออกตามซีซันมากกว่าสั่งตัด และที่กระทบมากที่สุดก็น่าจะเป็นฝั่งนี้ 

 

“เพราะว่าฝั่ง Custom Made ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าสาวหรือคนที่จะใส่ไปงาน ซึ่งเขาจะวางแผนล่วงหน้าเป็นปีหรือสองปี อาจจะมีกระทบบ้าง แต่ถือว่าน้อย เพราะคนไทยมักจะแต่งงานช่วงปลายปี ไม่ค่อยแต่งงานในช่วงฤดูร้อน หรือถ้ามีงานทางแบรนด์ก็จะปิดจ็อบส่งชุด ปิดออร์เดอร์ทุกอย่างตั้งแต่ก่อนปีใหม่แล้ว จึงทำให้ช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมจะไม่ค่อยมีงาน”

 

Asava 

 

แบรนด์แฟชั่นไทย การระบาดของโควิด-19

 

“ถึงแม้ไม่มีเรื่องโควิด-19 ในปี 2020 ก็นับเป็นปีที่ท้าทายอยู่แล้ว เมื่อมีโควิด-19 ก็ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบ เพราะฉะนั้นแผนที่เราตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็นปีที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และพยายามมองหาการสร้างรายได้ในเชิงทดแทนที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าปกติอยู่แล้ว ก็ทำให้เราต้องวางแผนธุรกิจใหม่ ตั้งเป้ายอดขายใหม่ 

 

“สิ่งที่เราต้องทำคือมองหาวิธีการสร้างรายได้ที่มีต้นทุนต่ำ ทบทวนยอดขาย และปรับเป้าหมายการผลิตให้สอดคล้องกับเป้าของยอดขายใหม่ ซึ่งอาจจะปรับไม่ได้มากนัก เพราะธุรกิจแฟชั่นก็ต้องมีการทำงานล่วงหน้า ผลิตล่วงหน้า”

 

Sretsis

 

แบรนด์แฟชั่นไทย การระบาดของโควิด-19

 

“Sretsis มีสาขาต่างๆ ในห้าง แน่นอนว่าทราฟฟิกน้อยลง แต่เราก็ยังมีช่องทางออนไลน์อยู่ เนื่องจากแบรนด์เรามอบความสุขผ่านเสื้อผ้า เราก็เปลี่ยนไปในช่องทางที่เราทําได้ เช่น เพิ่ม Awareness ผ่านช่องทางดิจิทัล

 

“สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ Sretsis Parlour หรือร้าน Tea Room ของแบรนด์ เพราะถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาใช้บริการ เป็นจุดหนึ่งที่รวมตัวชาวต่างชาติ โดยจํานวนลูกค้านักท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็ไม่ได้มีแนวโน้มลดลง เพราะก่อนหน้านี้ประเทศเราไม่ได้มีการห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เราจึงมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงานมาก 

 

“ถ้าเลือกได้ก็คิดว่าอยากปิดร้าน แต่เพราะว่าเราอยู่ในศูนย์การค้า หลายปัจจัยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียว สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่ห่วงที่สุดในขณะนี้”

 

Vickteerut 

 

แบรนด์แฟชั่นไทย การระบาดของโควิด-19

 

“จำนวนลูกค้าที่ออกมาเดินห้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ล้วนมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทั้งสิ้น ลูกค้าต่างชาติเองก็ลดลงอย่างน่าตกใจ

 

“โชคดีที่ Vickteerut มีลูกค้าประจำที่เชื่อมั่นในคุณภาพเสื้อผ้าของเราตลอดมา เราก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางและคุณภาพของสินค้า เชื่อมั่นว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้ค่ะ”

 

Q Design and Play

 

 

“จริงๆ มันก็มีผลกระทบมาเกือบปีแล้วจากเศรษฐกิจ เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันพลิกแบบชัดเจน เพราะมันค่อยๆ แย่ลงมาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้มันค่อนข้างแย่ในทุกๆ แบรนด์ ผมไปสอบถามหลายแบรนด์ว่ายอดขายเป็นอย่างไรมาตลอด ปรากฏว่ายอดขายตกชัดเจน ลูกค้าน้อยลง ลูกค้าต่างชาติที่เป็นลูกค้าหลักก็หายหมดเลย ตอนนี้ก็เหลือแต่ลูกค้าคนไทย 

 

“การจัดงานต่างๆ ที่ตกลงไว้นอกเหนือจากการทำแบรนด์ ทั้งคอนเสิร์ตหรืองานอีเวนต์ เราก็เสียหายจากตรงนั้นค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ที่แย่ที่สุดคือเราไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร เราก็คงต้องปรับตัวในระยะยาว 3-6 เดือนว่าเราจะอยู่ให้รอดอย่างไร

 

Takara Wong 

 

 

“จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแบรนด์หลักๆ เลย การใช้งบประมาณของแบรนด์ที่ลดลงถึง 60% ก็ส่งผลให้ยอดขายตกลงเช่นกัน จำนวนลูกค้าหน้าร้าน เปอร์เซ็นต์ทราฟฟิกก็น้อยลงตามไปด้วย 

 

“เรื่องความเชื่อมั่นของลูกค้าต่างชาติก็เช่นกัน เพราะหน้าร้านอาศัยลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ส่งผลต่อยอดขายโดยตรง การส่งออกสินค้าก็จะติดตรงเรื่องการส่งออกนำเข้าในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือทางผ่านทั้งทางตรงและทางอ้อม การนำเข้าวัตถุดิบก็เช่นกัน

 

“แต่ทางแบรนด์ Takara Wong เรามีทางออกเรื่องนี้ด้วยการขายออนไลน์ในอีคอมเมิร์ซและเว็บสโตร์ที่มีบริการจัดส่งทั่วโลกก็สามารถช่วยได้ และดันการตลาดไปทางออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ ให้ลูกค้าสามารถซื้อของจากที่บ้านได้โดยไม่ต้องออกมาเสี่ยงต่อโรคร้ายในปัจจุบัน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อแบรนด์เท่าที่ควร แต่อาจจะยุ่งยากและเหนื่อยขึ้นในการขยันทำ Online Marketing ครับ”

 

Landmeé 

 

 

“ยอดขายลดลง แต่ไม่เยอะมาก ประมาณ 20-30% เพราะลูกค้ายังสามารถสั่งทางออนไลน์ได้ โดยเฉพาะลูกค้าประจำและลูกค้าที่ไม่อยากเข้าห้าง เขาสามารถสั่ง ชำระเงิน แล้วให้มอเตอร์ไซค์มารับทันที หรือบางทีเราก็ให้มอเตอร์ไซค์ไปส่ง ส่งทางไปรษณีย์ก็ยังได้ มีพนักงานเฉพาะขายออนไลน์อีกต่างหากสำหรับลูกค้าต่างจังหวัดและต่างประเทศ

 

“ผลกระทบอีกอย่างคือเรื่องผ้า เราสั่งผลิตผ้าจากเกาหลีบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง อย่างผ้าญี่ปุ่นที่ชอบใช้ก็ต้องหยุดไปเลย เพราะว่าประเทศเขาก็แย่เหมือนกัน ไม่มีสต๊อกผ้ามาให้เรา เขาก็สาหัสอยู่ เราก็ไม่กล้าบินไปดูตัวอย่างใหม่ๆ จึงต้องใช้ผ้าในไทย ขั้นตอนการผลิตมากขึ้น หาวัตถุดิบยากขึ้น ต้องทำงานหนักมากขึ้นเช่นกัน

 

“เราโชคดีว่ามันไม่ได้เป็นผลกระทบมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าไทย ตอนแรกเรากลัวว่าอาจจะถึง 50-70% แต่มันกลับเบากว่านั้น สิ่งที่เราทำได้อาจจะเป็นการโปรโมตออนไลน์ ถ่ายรูปลงโซเชียลเพื่อไม่ให้ลูกค้าลืมเรา เราก็ต้องทำให้แบรนด์มันมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา เพราะยังไงเราก็ยังชอบแต่งตัว เศรษฐกิจนิ่ง แต่เราอย่านิ่งตาม โลกมันไม่นิ่งไปกับเราไง เราก็ต้องอยู่ให้ได้ คิดว่าอีกไม่นานมันจะดีขึ้น บางทีก็ดีเหมือนกัน มันฝึกให้เราดูแลตัวเองมากขึ้น”

 

Disaya 

 

 

“สำหรับ Disaya ผลกระทบโดยตรงคือไทม์ไลน์การผลิตที่ต้องปรับอย่างกะทันหันจากตลาดจีน ในส่วนการขายยอมรับว่ามีผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในศูนย์การค้าหลักๆ แต่เราได้เตรียมช่องทางออนไลน์ไว้ตั้งแต่ต้นปี 2018 โดยเสริมกันตั้งแต่เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, LINE Official Shop และ Lazada ทำให้ Disaya สามารถกระจายสินค้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันได้แทบจะเหมือนเดิม”

 

Leisure Projects 

 

 

“Leisure Projects Spring/Summer 2020 เป็นคอลเล็กชันที่สำคัญกับเรา ด้วยจุดเด่นของเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอายความเป็นรีสอร์ต และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอลเล็กชันส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทะเล 

 

“ซึ่งเรามีการเตรียมคอลเล็กชันและวางแผนการตลาดล่วงหน้ามานานมากแล้ว เราทำคอลเล็กชันที่ใหญ่มาก และหลายๆ อย่างก็เตรียมการมาหมดแล้ว อย่างเช่นแฟชั่นโชว์ที่เราจะจัดแบบโซโลเต็มรูปแบบครั้งแรกก็ต้องพับไป เพราะเราตระหนักถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงในการที่จะรวบรวมผู้คนจำนวนมาก

 

“ยังโชคดีที่ปกติเราเลือกใช้ผ้าจากประเทศไทยเป็นหลักอยู่แล้ว อย่างเช่นผ้าที่ใช้ในคอลเล็กชันนี้มาจากการทำงานกับชุมชนที่ยะลา ทำให้การผลิตสินค้าไม่ชะงัก แต่ทำออกมาในช่วงเวลาแบบนี้จะขายใคร ก็เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไข ลูกค้าขาจรและนักท่องเที่ยวอาจหายไปบ้าง แต่ต้องขอบคุณเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ช่องทางการติดต่อและสื่อสารกับลูกค้าทั้งในและนอกประเทศยังเดินต่อไปได้”

 

TandT 

 

 

“ส่งผลอย่างมากถึงมากที่สุดเลยครับ หลักๆ คือเรื่องของยอดขายที่ตกลงอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นแรกคือลูกค้าไม่ออกมาซื้อของที่ห้าง อีกทั้งถ้าจะซื้อทางออนไลน์ ลูกค้าก็ไม่รู้จะซื้อเอาไปใส่ที่ไหน ต่อมาคือลูกค้า 40% ของ TandT เป็นชาวต่างชาติ ยอดขายก็หายไปเลย 40% 

 

“สุดท้ายคือการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถเอาเข้ามาได้เลย แต่ก็แอบโชคดีที่ทางแบรนด์ได้สต๊อกวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า 3 เดือน แต่ถ้าสถานการณ์กินเวลามากกว่านี้ก็คงแย่กว่าเดิม”

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardpop

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X