วันนี้ (18 กันยายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1 โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง
สำหรับวาระสำคัญวันนี้จะพิจารณามาตรการเยียวยาเพิ่มเติมตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งให้พิจารณาเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์เดิมโดยด่วน และพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อให้เหมาะสมกับความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจริงและสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่ประสบภัยพิบัติ โดยให้ดำเนินการควบคู่กัน พร้อมให้เร่งฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ราชการให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
นอกจากนี้จะพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว รวมไปถึงการพูดคุยกับเมียนมา เพื่อดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และหารือถึงระบบการแจ้งเตือนภัยพี่น้องประชาชนด้วย
ก่อนเริ่มประชุม ภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ท่วมภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วนได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่กำลังจะมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูก ซึ่งจะได้รับผลกระทบทางพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน แม้อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นพายุโซนร้อน แต่สิ่งสำคัญในขณะนี้ต้องทำทั้งเรื่องเก่าที่ค้างอยู่ให้ประชาชนได้รับการเยียวยา โดยจะต้องลงรายละเอียดที่ค้างให้ตรงกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ จึงตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกอย่างเป็น One Stop Service
ดึงแอป ‘ทางรัฐ’ จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม
ประเสริฐเปิดเผยว่า เตรียมหารือกระทรวงการคลังใช้แอปพลิเคชันทางรัฐเป็นช่องทางจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ขณะนี้แอปมีศักยภาพในการรองรับการลงทะเบียนของประชาชนมากถึงหลายสิบล้านคน ซึ่งล่าสุดการลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีมากกว่า 30 ล้านคน การจ่ายเงินและการเยียวยาสามารถทำได้ แต่ต้องเชื่อมกับระบบพร้อมเพย์เข้ามาช่วย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แอปนี้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปจะเป็นซูเปอร์แอปที่ครอบคลุมการให้บริการภาครัฐในเรื่องอื่นๆ ด้วย
แจ้งเตือนน้ำท่วมพะเยาแล้ว ทั้งเอกสารและเสียงตามสาย
ธีรรัตน์กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพะเยาวานนี้ (17 กันยายน) ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการแจ้งเตือนประชาชนจริง ทั้งรูปแบบลายลักษณ์อักษร เจ้าหน้าที่ออกเสียงตามสาย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุ แต่พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เอกชน อาจจะเข้าไม่ถึงการแจ้งเตือนของราชการ ซึ่งในอนาคตเราจะแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยได้พูดคุยกับผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์แล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อม แต่เชื่อว่าสามารถทำได้เลย