×
SCB Omnibus Fund 2024

หยวนดิจิทัลกับก้าวที่ยิ่งใหญ่ของจีนในการเป็นผู้นำ Central Bank Digital Currency ระดับโลก

22.03.2021
  • LOADING...
หยวนดิจิทัลกับก้าวที่ยิ่งใหญ่ของจีนในการเป็นผู้นำ Central Bank Digital Currency ระดับโลก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของ Decentralized Finance (DeFi) หรือระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางกำลังเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงสำหรับนักลงทุนหลายคน อีกทั้งกระแสความนิยมและการเข้าลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเข้ารหัส เช่น Bitcoin Ethereum ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ล่าสุดกระแสการทำ Yield Farming หรือวิธีการขุดเหรียญ การฝากและการปล่อยกู้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อทำกำไรบนโลก DeFi ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในอีกขั้วตรงข้ามของโลก DeFi ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและระบบการเงินของโลกคือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง และหนึ่งใน CBDC ที่มีความคืบหน้าชัดเจนมากที่สุดของโลกคงจะไม่พ้น ‘หยวนดิจิทัล’ หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ของจีน

หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวความคืบหน้าที่ทางการจีนกำลังวางแผนที่จะออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีน (PBOC) โดย PBOC มีโครงการนำร่อง DCEP ใน 4 เมืองแรก ได้แก่ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน และเฉิงตู ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมในปีก่อน หลังเริ่มพัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2014 อีกทั้ง PBOC ยังมีเป้าหมายวางแผนการออกหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในปี 2022 อีกด้วย

มีหลายบทความได้ให้มุมมองเกี่ยวกับหยวนดิจิทัลของจีน ซึ่งสรุปลักษณะกลไกและวัตถุประสงค์ รวมถึงความเป็นมาพื้นฐานของหยวนดิจิทัลซึ่งเป็นรูปแบบ DCEP ประเภท Retail-type DCEP (ธนาคารกลางแจกจ่ายให้และประชาชนสามารถเข้าถึงได้) ซึ่งต่างจาก Wholesale-type DCEP (ใช้กันเฉพาะระหว่างสถาบันการเงิน)

ในบทความนี้ผมจึงอยากให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปิดตัวและก้าวสำคัญของจีนในการผลักดันหยวนดิจิทัลสู่ CBDC ระดับโลก โดยจะแบ่งการวิเคราะห์ผลกระทบในจีนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบต่อผู้บริโภค ต่อผู้ประกอบการและร้านค้า ต่อธนาคารพาณิชย์ และผลกระทบต่อผู้ให้บริการการชำระเงินชั้นนำอย่าง Alipay และ WeChat Pay ดังนี้

ผลกระทบต่อผู้บริโภค (ผู้ชำระเงิน) จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในจีนพบว่า ความนิยมของการใช้หยวนดิจิทัลยังไม่สูง แต่ผู้บริโภคมองเห็นความแตกต่างที่หยวนดิจิทัลมีในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่นไม่มีหรือมีไม่ครบ โดยหลังจากเริ่มทดลองใช้ ผู้บริโภคจีนบางส่วนมองว่าความจำเป็นสำหรับการใช้หยวนดิจิทัลในชีวิตประจำวันยังมีไม่มาก เนื่องจากเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของการชำระเงินนอกเหนือจาก Alipay และ WeChat Pay

นอกจากนี้แม้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของรัฐหลายแห่งได้นำกระเป๋าเงินหยวนดิจิทัลมาทดลองใช้ เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลในการส่งเงินแก่กันก็พบว่า ความนิยมในการใช้หยวนดิจิทัลยังไม่สูงนัก เนื่องจากแม้หยวนดิจิทัลมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเอกชนในแง่ของ

1. ความน่าเชื่อถือที่มีอยู่สูงตามกฎหมาย
2. รูปแบบการทำธุรกรรมที่ไม่เปิดเผยตัวตนและให้ผู้บริโภคจัดการความเป็นส่วนตัวได้
3. การเชื่อมโยงกับบัญชีออมทรัพย์ของผู้ใช้ที่ไม่ได้ต้องการความเชื่อมโยงเชิงลึก แต่ปัจจัยเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้เงินหยวนดิจิทัล ในทางตรงกันข้าม คุณสมบัติที่สำคัญกว่าคือ การชำระเงินแบบออฟไลน์ได้ (ไม่ต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถโอนจ่ายรับเงินกันได้) ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าและเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ทำไม่ได้

ผลกระทบสำหรับร้านค้า (ผู้รับเงิน) เป็นที่น่าสนใจว่าหยวนดิจิทัลจะให้ประโยชน์ในการลดระยะเวลาการเรียกเก็บเงิน เนื่องจากการชำระเงินจะเสร็จสมบูรณ์ทันทีในขณะที่ส่งมอบหยวนดิจิทัล และนับเป็นการชำระเงินตามกฎหมาย โดยธนาคารพาณิชย์จะไม่เรียกเก็บค่าบริการสำหรับลูกค้าแต่ละรายสำหรับการแปลงหยวนดิจิทัล และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการชำระเงินสำหรับการชำระเงินผ่านหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP จะกระตุ้นให้ร้านค้าเชิญชวนให้ลูกค้าชำระเงินโดยใช้หยวนดิจิทัลมากขึ้น ทำให้แรงจูงใจในการใช้หยวนดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นอยู่ที่ผู้ให้บริการการชำระเงินครบวงจรอย่าง Alipay และ WeChat Pay ในปัจจุบันก็มีค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่ต่ำอยู่แล้ว จึงต้องจับตาว่าการนำไปใช้จริงกับร้านค้า รวมถึงการแข่งขันสำหรับการประยุกต์ใช้กับร้านค้าในอนาคตจะเป็นในรูปแบบใด

ผลกระทบสำหรับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของรัฐ ธนาคารรัฐที่ถูกกำหนดจะเปิดให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลและการแลกเปลี่ยนหยวนดิจิทัล ดังนั้นธนาคารมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์ในการดึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้มาใช้บริการของธนาคาร โดยเฉพาะการชำระเงินออนไลน์ผ่านมือถือ ซึ่งมีผู้เล่นสำคัญที่ครองตลาดอยู่แล้วคือ Alipay (ครองสัดส่วนราว 55%) และ WeChat Pay (ครองสัดส่วนราว 39%) ประเด็นสำคัญอยู่ที่หากยังไม่มีการบังคับใช้หยวนดิจิทัล หรือ DCEP อย่างเป็นทางการ ธนาคารอาจต้องใช้ความพยายามในการดึงลูกค้าผ่านการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าหันมาใช้บริการผ่านธนาคาร แต่การไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลยอาจจะเป็นเรื่องยากในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อความนิยมของเงินหยวนดิจิทัลและ DCEP รวมถึงผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์คือ PBOC จะรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องสำหรับธนาคารพาณิชย์ได้อย่างไรและในระดับใด

ผลกระทบของหยวนดิจิทัลต่อ Alipay และ WeChat Pay ผลกระทบจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP จะถูกใช้งานสำหรับการเป็นคู่ค้าหรือคู่แข่งกับ Alipay และ WeChat Pay รวมถึงจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการชำระเงินหรือไม่ หากการชำระเงินหยวนดิจิทัลผ่าน Alipay และ WeChat Pay สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มของ Alipay และ WeChat Pay ก็มีแนวโน้มที่สัดส่วนการครองตลาดธุรกรรมการชำระเงินของทั้งสองบริษัทจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก

แต่ทว่าหากหยวนดิจิทัลไม่สามารถใช้ผ่านแพลตฟอร์มของทั้งสองบริษัทได้ ในขณะที่ PBOC เองก็ต้องการผลักดันเงินหยวนดิจิทัล การชำระเงินในรูปแบบหยวนดิจิทัลและ DCEP อาจจะเป็นการเข้ามาแข่งขันโดยตรงกับ Alipay และ WeChat Pay ก็เป็นได้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ทางการจีนจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้เล่นโดยตรงในตลาดการให้บริการการชำระเงินในจีน โดยอาจใช้เหตุผลในเรื่องการปกป้องข้อมูลของผู้บริโภค รวมถึงอาจพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคจีนเริ่มหันมาชำระเงินด้วยหยวนดิจิทัลแทน ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นกลางและปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นเรื่องหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP สำหรับ Alipay และ WeChat Pay และผู้ที่ลงทุนในหุ้นของ Alibaba และ Tencent คงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลลัพธ์จากการเป็นคู่ค้าหรือคู่แข่งนั้นแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

นอกจากผลกระทบ 4 ด้านแล้ว ทางการจีนยังได้ชี้แจงจุดมุ่งหมายของการออกหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP ว่าเป็นการปกป้องอธิปไตยของสกุลเงินและเป็นแรงส่งสำคัญในการทำให้เงินหยวนเป็นสากล ในด้านการปกป้องอธิปไตยของสกุลเงิน ผมมีมุมมองว่าการจัดการแบบรวมศูนย์ของหยวนดิจิทัลโดย PBOC จะมีประสิทธิภาพในการสืบหาเส้นทางทางการเงิน ป้องกันการฟอกเงิน ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของทางการจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุคที่คริปโตเคอร์เรนซีและ DeFi เริ่มเฟื่องฟู และทำให้อำนาจในการควบคุมระบบการเงินหลักของธนาคารกลางทั่วโลกลดลง อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคสกุลเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคต

ในด้านแรงส่งความเป็นสากลของเงินหยวน ผมคาดว่าหยวนดิจิทัลและ DCEP จะเริ่มใช้สำหรับการชำระเงินภายในประเทศจีนเป็นหลักก่อน แล้วจึงค่อยต่อยอดโมเดลหยวนดิจิทัลและ DCEP ของจีนไปยังประเทศอื่นๆ ที่สามารถและเปิดรับเทคโนโลยีของจีนไปประยุกต์ใช้ได้ ทำให้เงินหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP อาจมีแนวโน้มขยายอิทธิพลได้รวดเร็วมากกว่าคาด

ผมมองว่าความคืบหน้าของ CBDC และการออกสกุลเงินหยวนดิจิทัลของ PBOC กำลังนำหน้าประเทศสำคัญอื่นๆ ในโลกไปแล้วในตอนนี้ รวมถึงคู่แข่งตลอดกาลอย่างสหรัฐฯ แม้ในช่วงเริ่มต้นอาจจะยังไม่เป็นที่นิยม แต่ก็เริ่มมีคนจำนวนไม่น้อยที่คาดการณ์ว่าการเปิดตัวของหยวนดิจิทัลและระบบ DCEP จะเปลี่ยนแนวโน้มการชำระเงินของจีนได้อย่างมากในระยะต่อไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ DCEP และโครงสร้างการแข่งขันของตลาดการชำระเงินผ่านมือถือของจีน หากหยวนดิจิทัลสามารถเอาชนะความท้าทายทางเทคโนโลยีและพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ มีความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงิน รวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการและธุรกรรมทางการเงิน หยวนดิจิทัล ซึ่งเป็นก้าวแรกและก้าวที่ยิ่งใหญ่ของจีนในการเป็นผู้นำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางก็อาจสร้างผลกระทบอย่างก้าวกระโดดและกระจายอิทธิพลสู่ระดับโลกได้เช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising