×

‘จุลพันธ์’ หนุนออปชันตัดคนรวย ‘เงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท-เงินฝากเกิน 5 แสนบาท’ ดีใจประชาชนส่งเสียงต้องการเงินดิจิทัล

26.10.2023
  • LOADING...
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หนุนตัวเลือกตัดคนรวย ‘เงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท-เงินฝากเกิน 5 แสนบาท’ ย้ำใช้เกณฑ์เงินเดือน-เงินฝากเท่านั้น ไม่พิจารณาสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น สลาก และที่ดิน ยืนยันจะใช้งบผูกพัน มั่นใจไม่สะดุด

 

วันนี้ (26 ตุลาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ในบรรดา 3 ตัวเลือกการคัดคนรวยออกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เห็นด้วยกับ 2 ตัวเลือก ได้แก่ ตัวเลือกให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ และตัวเลือกตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท เนื่องจากมองว่าชนชั้นกลางยังลำบากอยู่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

 

“ตัวเลือกเอาเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ 15 ล้านคนกว่าๆ ผมเองเรียนตรงๆ ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยนะครับ อันนี้ในความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่เราในฐานะประธานก็ต้องยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

“ส่วนตัวเลือก 2 ที่ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท ผมก็ท้วงติงอยู่ที่ประชุมเช่นเดียวกันว่า เรารู้ว่าจริงๆ แล้วในขณะนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้แต่กลุ่มคนชั้นกลางก็ลำบาก เรียกว่าตึงมานานท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดี และถ้าเม็ดเงินลงไปจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์แน่นอน”

 

หนุนออปชันตัดคนรวย ‘เงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท-เงินฝากเกิน 5 แสนบาท’

สำหรับตัวเลือกตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท จุลพันธ์ระบุว่า ยอมรับได้ และตัวเลือกนี้ยังพอที่จะเป็นไปได้ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ อย่างน้อยก็เหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน (ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการ

 

รมช.คลัง ยังย้ำว่า มติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ส่งเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุด โดยต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา จะเปลี่ยนจะปรับอีกก็เป็นสิทธิของคณะกรรมการชุดใหญ่

 

ตอบข้อสงสัยทำไมใช้เกณฑ์แค่รายได้-เงินฝาก

จุลพันธ์อธิบายว่า ที่ใช้เกณฑ์รายได้และเงินในบัญชีรวมเพราะเป็นตัวเลขที่มีอยู่ในภาครัฐที่พอจะชี้ชัดได้ และเป็นตัวเลขที่มีวิทยาศาสตร์รองรับที่สุด 

 

“หากจะไปดูสินทรัพย์อย่างอื่น เช่น ที่ดิน ก็ชี้ชัดไม่ได้ เนื่องจากมีความหลากหลายในเรื่องของราคาและทำเล สินทรัพย์อื่นๆ อย่างเช่น ตลาดหุ้น ก็มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งจะจับตัวเลขลำบาก แต่ 2 ตัวที่ค่อนข้างชี้ชัดคือเรื่องของรายได้ ซึ่งมีตัวเลขของผู้ยื่นแบบต่อกรมสรรพากร”

 

ยืนยันใช้งบประมาณเป็นหลัก

ส่วนประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณผูกพัน 4 ปี ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ร้านค้าหลายแห่งกังวลว่าจะขึ้นเงินไม่ได้ จุลพันธ์ชี้แจงว่า ในมุมที่นำเสนอไปคือ การใช้งบประมาณมา Earmark ในอนาคต โดยงบปีถัดไปก็จะ Earmark ตัวเงินปัจจุบัน ซึ่งมีกลไกรองรับ มีการดีไซน์เงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสม

 

จุลพันธ์ยังกล่าวอีกว่า ตนรับฟังเสียงประชาชนตลอด โดยกล่าวว่า “เมื่อคืนเสียงดังขึ้นมามาก ตอนแรกที่นักวิชาการออกมา เราก็เริ่มสงสัยว่าโครงการนี้ไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนหรือเปล่า แต่เมื่อวานเสียงดังดีครับ เราก็ชัดเจนขึ้นว่าพี่น้องประชาชนรออยู่”

 

ยืนยันไม่ขัดกฤษฎีกา

จุลพันธ์ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่มีข่าววงในว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตขัดต่อ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากเราไม่ได้ทำสินทรัพย์ดิจิทัล” พร้อมระบุว่า ถ้ามีความชัดเจนทางพรรคคงจะทำหนังสือมาถึงผม พร้อมขอให้นักข่าวรอความชัดเจน

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้จุลพันธ์ได้ย้ำมาตลอดว่า เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็น ‘เงินบาทที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และมีเงื่อนไข ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่ Utility Token’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising