×

จากประเทศจอมก๊อปสู่ Digital Nation จีนสร้างชาติด้วยดิจิทัลได้อย่างไร

25.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อุตสาหกรรมไอทีจีนผ่านการเปลี่ยนแปลงถึง 4 ยุค จากยุคแรกที่บริษัทซอฟต์แวร์ข้ามชาติครองตลาด มาจนถึงปัจจุบันที่จีนสามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมชั้นนำของโลก
  • หัวใจสำคัญของ Digital Transformation ของอุตสาหกรรมไอทีจีนคือ การปรับให้เป็นท้องถิ่น (Localization) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศ ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างใกล้ชิด และพัฒนาธุรกิจให้เกิดนวัตกรรมตลอดเวลา เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ

 

Cover Photo: www.digitalthailandbigbang.com

 

     ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

     ‘การพลิกโฉม’

     ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’

     ‘ยุค 4.0’

     จะด้วยความกังวลต่อกระแส Disruption หรือเศรษฐกิจซบเซามานาน รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล และทำให้เกิดโครงการและหน่วยงานต่างๆ อาทิ การร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Goverment) เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานการบริหารงาน บุคลากรภาครัฐและการให้บริการแก่ประชาชน ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ‘พร้อมเพย์’ (PromptPay) แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ประเทศพัฒนา’ ผ่านกลไกที่เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ อันหมายถึง ‘ประชาชนนำ’ แล้วรัฐจะเป็นฝ่ายหนุน

     งานมหกรรม Digital Thailand Big Bang 2017 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นไทยแลนด์’ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21-24 กันยายนที่ผ่านมา ก็ยิ่งตอกย้ำถึงทิศทางที่ประเทศ (ตั้งเป้าว่า) กำลังจะไป

     ทิศทางนั้นเป็นแบบไหน คงไม่ใช่แค่เราที่อยากรู้ บรรดามหาชนที่เดินกันขวักไขว่ในงานตั้งแต่วันแรกน่าจะสงสัยเช่นกันว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

 

Photo: www.digitalthailandbigbang.com

 

โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน?

     ‘โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน’ คือสโลแกนของงาน Digital Thailand Big Bang 2017

     เมสเสจหลักของงานนี้ก็คือ การพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เวทีโลก

     โดยรัฐบาลจะขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม 3 ด้าน นั่นคือ

     ด้านที่ 1 โครงการเน็ตประชารัฐ มีวัตถุประสงค์คือ ให้ประชาชนเข้าถึงการสื่อสารและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น สร้างรายได้ ลดการผูกขาดจากนายทุน กระจายโอกาส ฯลฯ

     ด้านที่ 2 โครงการ Digital Park Thailand ที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลในภูมิภาค ตามนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี  โครงการนี้ยังผนวกกับการสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้น การจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT) และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับ Smart City

     ด้านที่ 3 การเชื่อมโยงไทยไปสู่โลก เช่น การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยรัฐบาลได้เร่งจัดตั้งธุรกิจ Ease of Doing Business ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลก อาทิ OECD ในเรื่องระบบข้อมูลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ITU ในการขับเคลื่อนดิจิทัลในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมสตาร์ทอัพโลก (General Entrepreneurship Network หรือ GEN) ในเรื่องของการพัฒนาและเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพดิจิทัลของไทย และการสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์

 

Photo: www.digitalthailandbigbang.com

 

     ภายในงานยังมีโซนจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งของคนไทยและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นยกทัพหุ่นยนต์และบริการดิจิทัล อาทิ ระบบยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกมาให้ชมและทดลองกันอย่างใกล้ชิด มีเวทีแข่งขันหุ่นยนต์และการพิตช์โปรเจ็กต์ของสตาร์ทอัพ ขณะที่บริษัทจีนซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์หลักของงานนี้ก็ครองพื้นที่ใหญ่และความสนใจของผู้เข้าชมมากเป็นพิเศษ เช่น Huawei ที่นำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตในโลกอนาคตอย่าง บ้านอัจฉริยะและการเกษตรอัจฉริยะ, โมเดลธุรกิจแชร์จักรยานของ OFO ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ผู้บริหารของ Xiaomi ก็ได้เข้าร่วมเจรจากับทางรัฐบาลเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าพันธมิตรเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญต่อเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลอย่างแน่นอน

     โลกเปิดมานานแล้ว (รัฐ)ไทยเริ่มปรับ เหลือแค่ว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 

     เดวิด จง รองประธานฝ่ายการตลาดนานาชาติ บริษัทคิงซอฟต์ ออฟฟิศ

 

เมื่อโลกหันมาฟัง ‘จีน’

     เมื่อไรกันที่โลกต้องก้าวตามจีน?

     วันที่จีนก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก

     ไอทียักษ์ของจีนติดอันดับบริษัทที่มูลค่าสูงสุดในโลก?

     เมื่อทรัมป์ประกาศว่าอเมริกาต้องมาก่อน?

     แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีปัญหาเรื่องภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ แต่จีนกลับทวีบทบาทความสำคัญบนเวทีโลกยิ่งขึ้นทุกขณะ หลังจากทรัมป์ประกาศต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และชี้จุดยืนชัดเจนว่า จากนี้ไป ‘อเมริกาจะต้องมาก่อน’ สปอตไลต์จึงส่องมายังแดนมังกร

     ที่สำคัญ จีนกำลังยกระดับตัวเองสู่ศูนย์รวมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกภายในปี 2025 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันแบบก้าวกระโดด ซึ่งแน่นอนว่าจีนมีโอกาสสูงมาก ดังที่เราได้เห็น Tech Giants เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Alibaba, Tencent, Xiaomi, Huawei และ JD.com จนกระทั่งมาถึงยุคของสตาร์ทอัพ รัฐบาลก็ประกาศตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพและลงทุนกับการวิจัยพัฒนาเป็นจำนวนมาก พร้อมปรับกระบวนทัศน์ใหม่ว่า จีนจะต้องผลิตสินค้านวัตกรรมที่มีคุณภาพไม่แพ้ชาติใด ตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025

 

 

     “หลายปีมานี้ บริษัทซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมคลาวด์ของจีนก้าวหน้าและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกอย่างมาก” เดวิด จง รองประธานฝ่ายการตลาดนานาชาติ จากบริษัทคิงซอฟต์ ออฟฟิศ กล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ ‘How to build a Digital Nation’

     “นี่ไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นข้ามคืน แต่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย” เดวิดกล่าว

     เขาเล่าว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อุตสาหกรรมไอทีของจีนต้องผ่านความท้าทาย 4 ด่านใหญ่ด้วยกัน จนสยายปีกเป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัล

     ยุคแรก เป็นยุคทองของบริษัทข้ามชาติครองตลาด เช่น Microsoft, Oracle และ IBM จีนเป็นเพียงผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

     ยุคที่สอง จีนเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้บริษัทไอทีจีนเติบโตพุ่งทะยานและขยายกิจการอย่างรวดเร็ว เช่น Neusoft และ CS&S บริษัทซอฟต์แวร์
     ยุคที่สาม ยุคอินเทอร์เน็ตถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการไอทีจีน เกิดบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการแข่งขันและเข้าใจความต้องการของตลาดท้องถิ่นเป็นอย่างดี จนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน เช่น Baidu, Alibaba, Tencent, Xiaomi, Jingdong และ DiDi
     ยุคที่สี่ เขาให้คำนิยามว่าเป็น ‘From Copy to China to Copy to Global’
     จีนเคยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘จอมก๊อป’ ตัวยง แต่วันนี้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีกลับ ‘เลียนแบบ’ นวัตกรรมที่จีนสร้างขึ้น
     ความสำเร็จของ Tech Giants บนเวทีโลกได้เบิกทางให้สตาร์ทอัพใหม่กล้าบุกตลาดต่างประเทศไวขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสตาร์ทอัพของรัฐบาล เช่น OFO ธุรกิจไบก์แชริ่งอันดับหนึ่งในจีน กำลังขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า วันนี้บริษัทจีนกำลังเป็นผู้กำหนดเทรนด์ธุรกิจและเทคโนโลยีของโลก จึงไม่แปลกที่รัฐบาลไทยจะเชิญบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนมาเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วย
     เดวิด จง ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยนั้นเหนียวแน่นมาโดยตลอด สถานการณ์ปัจจุบันของไทยคล้ายกับจีนในช่วงโลกาภิวัตน์ และจีนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือไทยขับเคลื่อนสู่ 4.0 พร้อมกับแนะนำ 3 สิ่งที่ไทยต้องมี นั่นคือ
     ‘มองไปข้างหน้า สร้างนวัตกรรม และปรับตัวให้เท่าทัน’
     จะก้าวสู่ตลาดใหม่ ต้องอาศัยกลยุทธ์ Localization นำข้อมูลความรู้ท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้
     ถ้าอยากรู้ว่าเทรนด์ต่อไปคืออะไร ก็ต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด
     จะฉวยคว้าโอกาสใหม่ ก็ต้องหมั่นพัฒนาสินค้าและธุรกิจด้วยนวัตกรรม
     นั่นคือสิ่งที่จีนเรียนรู้และผงาดขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำ’ ได้ในวันนี้

 

Photo: xiaomi-mi.com

 

ถอดบทเรียนจาก Xiaomi

     วิทยากรที่ขึ้นมารับไมค์ต่อจากเดวิด จง คือ หวัง เฉียง รองประธานบริหารอาวุโสแห่ง Xiaomi

     Xiaomi เป็นค่ายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย เล่ย จุน (Lei Jun) ซึ่งเคยเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 แห่งวงการสตาร์ทอัพจีนในปี 2014 มีมูลค่ากว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Apple แห่งเมืองจีน’

     หวัง เฉียง กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ Xiaomi คือ ‘นวัตกรรมสำหรับทุกคน’

     “คำว่า ‘ทุกคน’ หมายความว่าเราจะผลิตสินค้าสู่ตลาดแมส ไม่ใช่แค่เซกเมนต์ใดเซกเมนต์หนึ่ง ‘นวัตกรรม’ แปลว่าเราจะใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น”

     Xiaomi เปลี่ยนความคิดที่ว่าสินค้าจีนมีราคาถูกแต่ไร้คุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานของสินค้าจากจีนเสียใหม่ โดยลงทุนออกแบบฮาร์ดแวร์และเฟิร์มแวร์เอง ไม่กั๊กสเป็ก และขายในราคาถูกกว่าคู่แข่งเกือบครึ่ง ปี 2014 บริษัททำยอดขายสมาร์ทโฟนได้ถล่มทลายกว่า 61 ล้าน จนเขย่าบัลลังก์ของ Apple และ Samsung ในตลาดจีนมาแล้ว

     เล่ย จุน เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WIRED ว่า Xiaomi ไม่เหมือนกับบริษัทจีนทั่วไป และต้องการยกระดับมาตรฐานของสินค้าจากจีนให้สูงขึ้นกว่าที่เคย เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ว่า นับจากนี้จีนจะไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าราคาถูกและลอกเลียนแบบคนอื่นอีกต่อไป”

     ช่วงปี 2015-2016 ยอดขายของบริษัทตกลงมาอยู่อันดับที่ 4 ของตลาด และเสียส่วนแบ่งให้กับ Huawei ที่ขึ้นครองอันดับ 1 รองลงมาคือ Oppo และ Vivo

     อย่างไรก็ดี ยอดขายของ Xiaomi กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 59% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2017 บริษัทแตกไลน์มาจับกลุ่มสินค้า IoT (Internet of Things) และมุ่งสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต โดยผนึกกำลังกับ Nokia

     ปัจจุบัน Xiaomi ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เม็กซิโก และรัสเซีย

 

หวัง เฉียง รองประธานบริหารอาวุโสจาก Xiaomi

 

     หวัง เฉียงเล่าว่า บางคนมองว่า Xiaomi เป็นบริษัทซอฟต์แวร์บ้าง ฮาร์ดแวร์บ้าง ซึ่งถูกหมด เพราะโมเดลธุรกิจประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ

  • ฮาร์ดแวร์ เช่น สมาร์ทโฟน ทีวี และอุปกรณ์ IoT
  • แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต เช่น MIUI ระบบปฏิบัติการที่บริษัทพัฒนาขึ้นบนแอนดรอยด์ ธุรกิจเกม และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และบริการด้านการเงิน
  • New Retail หรือธุรกิจค้าปลีกที่ผนวกช่องทางออนไลน์ หรือ Mobile-commerce เข้ากับร้านออฟไลน์ที่มีแผนจะเปิดในไทยเช่นกัน

 

     ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังตั้งตัวเป็น Incubator หรือศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 89 บริษัท

     แม้ว่า เดวิด จง และ หวัง เฉียง จะไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดของวิธีสร้างศักยภาพทางดิจิทัลให้กับประเทศมากนัก แต่การปรากฏตัวของทั้งสองบนเวทีมหกรรม Digital Thailand Big Bang 2017 ก็พิสูจน์เรื่องหนึ่งว่า จีนก้าวขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำด้านนวัตกรรม’ อย่างแท้จริง

     เพราะวันนี้ จีนไม่ได้ส่งออกแค่ ‘นวัตกรรม’ แต่รวมไปถึง ‘Know-How’ ที่พาจีนเปลี่ยนผ่านจาก ‘ผู้ตาม’ มาเป็น ‘ผู้นำ’ โดยมาในรูปแบบ ‘ความร่วมมือ’ กับรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวแน่ๆ

     ก็หวังแต่ว่าไทยจะรู้คำตอบในเร็วๆ นี้ว่าเรากำลังจะ ‘ส่งออก’ อะไรในวันหน้า

 

อ้างอิง:

FYI
  • รายงาน The Asian Digital Transformation โดย The Economist Intelligence Unit เปิดเผยดัชนีชี้วัดศักยภาพด้าน Digital Transformation โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT แหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ และความร่วมมือระหว่างองค์กรกับพันธมิตร พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 8 จาก 11 ประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้านดิจิทัล
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising