×

ความหวังและความกลัวของสินทรัพย์ที่แตกต่างในช่วงสงคราม

22.03.2022
  • LOADING...
สินทรัพย์ สงคราม รัสเซีย ยูเครน ล่าสุด

“ตลาดการเงินมักถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังหรือความกลัวบนเหตุการณ์ในอนาคตมากกว่าความจริงในปัจจุบัน” แม้ความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดการเงินช่วงนี้จะยืนยันคำกล่าวข้างต้นได้ดี แต่ถ้าเรามองไปยังทุกสินทรัพย์หลักและทุกธีมลงทุน จะพบกับความหวังและความกลัวซ้อนทับกันอยู่ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก่อนตัดสินใจลงทุน 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

หุ้น: สินทรัพย์ที่มองโลกในแง่ดีเสมอ

 

สินทรัพย์ที่มองโลกในแง่ดีเสมอคือ หุ้น ตอนนี้กำลัง ‘หวัง’ ว่าอนาคตจะมีแต่ข่าวดี เห็นได้ชัดจากดัชนี Russell 2000 ที่ปรับตัวขึ้นถึง 3.8% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ชนะ S&P500 และ MSCI World Index ได้ ขณะที่ดัชนี MSCI ACWI IMI Genomic Innovation บวกมากที่สุดในกลุ่มธีมอนาคตถึง 5.8% เหตุผลหลักที่ธีมเหล่านี้ชนะตลาดแน่นอนว่าไม่ได้มาจากกำไรหรือแนวโน้มธุรกิจที่ดีขึ้นจากสงคราม แต่ตลาดกำลัง ‘หวัง’ ว่าถ้าสงครามจบ เศรษฐกิจจะกลับสู่โหมด Recovery ความผันผวนจะลดลง สินทรัพย์ที่ปรับตัวลงมากก็ควรฟื้นตัวมากที่สุด

 

เงินและสินค้าโภคภัณฑ์: สะท้อนความกลัวสงครามที่ลดลง

 

สินทรัพย์ต่อมาคือเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ สะท้อนความกลัวสงครามที่ลดลง แต่ไม่หวังว่าโลกจะกลับไปเป็นเหมือนช่วงก่อนหน้าความขัดแย้ง เด่นที่สุดคือการปรับตัวลงกว่า 25% ของราคาน้ำมันดิบจากระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี อย่างไรก็ดี ระดับราคาปัจจุบันยังคงสูงกว่าปลายปีที่แล้วกว่า 40% เช่นเดียวกับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและดอลลาร์ แม้จะย่อตัวลงจากระดับสูงสุดของปี 2021 แต่ก็ยังแพงกว่าปีก่อนอยู่ราว 2.5-5.0% สองสินทรัพย์นี้ ‘หวัง’ ว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกจะควบคุมสงครามไม่ให้ขยายวงกว้างได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ ‘กลัว’ ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจหลังสงครามจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเก่า และเศรษฐกิจโลกกำลังจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงแต่การเติบโตต่ำ หรือ Stagflation ในอนาคต

 

บอนด์: สินทรัพย์ที่มองโลกในแง่ร้าย 

 

สินทรัพย์ที่มองโลกในแง่ร้ายและกำลังกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยคือบอนด์ ปัจจุบันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ระยะกลาง (5 ปี) ปรับตัวสูงขึ้นมาเท่ากับยีลด์ระยะยาว (10 ปี) ที่ 2.15% ส่วนยีลด์ระยะสั้น (2 ปี) ก็จ่ออยู่เหนือระดับ 1.90% แค่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเดียวก็อาจเกิด Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณเตือนว่า Recession กำลังใกล้เข้ามา เปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นบอนด์ดูจะไม่ได้คิดซับซ้อน และเลือกมองนโยบายการเงินมากกว่าเหตุผลอื่น แต่ในทางกลับกัน มุมมองของบอนด์ดูจะ ‘กลัว’ การลงทุนมากผิดปกติ เพราะในอดีตตั้งแต่ปี 1955 มีการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 13 รอบ มีเพียงรอบเดียวที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาภายใน 11 เดือน คือช่วงปี 1980 ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยจาก 9.5% ไปถึง 20% ขณะที่โดยเฉลี่ยต้องรอกว่า 37 เดือนหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จึงจะเห็นเศรษฐกิจถดถอยตามมา ทั้งหมดคือความกลัวและความหวังที่สินทรัพย์ต่างๆ กำลังบอกกับนักลงทุน อยู่ที่เราจะเลือกนำไปใช้ปรับพอร์ตอย่างไร

 

สำหรับผม มุมมองที่ต่างกันของแต่ละสินทรัพย์อาจไม่ได้หมายความว่าจะมีใครถูกหรือผิดไปทั้งหมด และนักลงทุนสามารถปรับพอร์ตบนวัตถุประสงค์ที่ต่างกันด้วยสัดส่วนที่ต่างกันได้ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าตลาดจะฟื้นตัวหลังสงคราม ก็สามารถลงทุนในกลุ่มหุ้น Growth ที่ปรับฐานลงมามากและมีโอกาสฟื้นตัวแรง เช่น ARKK หรือ ARK Innovation ETF เป็นตัวเลือกที่นักลงทุนทั่วโลกเห็นตรงกัน จึงมีเงินลงทุนไหลเข้ามากที่สุดใน Thematic ETF เช่นเดียวกับ Capital Group Global Growth Equity ETF (CGGO) ที่มีกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเติบโตสูงก็กลายเป็น ETF ออกใหม่ที่ทำ AUM ได้สูงที่สุดในเดือนที่ผ่านมา แค่ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังลงทุนบนความหวังระยะสั้น สัดส่วนการลงทุนไม่ควรสูง และระยะเวลาในการถือครองก็ไม่ควรนานจนถูกกระทบด้วยนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดต่อเนื่อง

 

ส่วนระยะยาว ไม่ควรมองข้ามแนวโน้มเศรษฐกิจและโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่จะต้องเปลี่ยนไปหลังสงคราม ผมเชื่อว่าเราจะต้องพบกับเงินเฟ้อที่ลดลงช้า ดอกเบี้ยต้องขึ้นต่อ และเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในที่สุด ในเดือนที่ผ่านมามี ETF ใหม่เปิดตัวตอบโจทย์อย่าง IWIN หรือ Amplify Inflation Fighter ETF ที่ลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ตั้งต้นของเงินเฟ้อ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ที่ดิน หรือเหมืองแร่ ก็น่าจะสามารถนำมาใช้ในการรับมือกับเงินเฟ้อได้ในช่วง 6-9 เดือนต่อจากนี้ ส่วนใครกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและต้องการลงทุนระยะยาว สามารถเลือกธีมผันผวนต่ำ (Min Vol) ในตลาดหรือจะเป็น ETF น้องใหม่อย่าง Goldman Sachs ActiveBeta World Low Vol Plus Equity ตัวย่อ GLOV ที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ทั่วโลกที่ผันผวนต่ำกว่าตลาดได้เช่นกัน สินทรัพย์ไหนหวังหรือกลัวกับอนาคตได้อย่างถูกต้องแค่ไหน อีกไม่นานเราจะได้รู้กันครับ

 

ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X