×

กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะคืออะไร ทำไมเกิดข้อถกเถียงหลังสหรัฐฯ เตรียมส่งให้ยูเครน

08.09.2023
  • LOADING...

ชื่อของ ‘กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ’ กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อทั้งในและต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจจะส่งมอบกระสุนชนิดนี้ให้กับยูเครน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจให้ความช่วยเหลือด้านการทหารครั้งใหม่ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.53 หมื่นล้านบาท) 

 

สหรัฐฯ หวังว่ากระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยกองทัพยูเครนรุกตอบโต้กองทัพรัสเซียที่เข้ามารุกรานและได้เปิดฉากทำสงครามในพื้นที่บ้านของยูเครนมานานกว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว โดยคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2023

 

กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะคืออะไร

 

อันดับแรกอาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ’ (Depleted Uranium) คือผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการเสริมสมรรถนะหรือการสกัดแร่ยูเรเนียมสำหรับนำไปใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือในอาวุธนิวเคลียร์ แม้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเหล่านี้ยังพอที่จะสามารถแผ่กัมมันตภาพรังสีได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ใดๆ ได้ 

 

การจัดเก็บยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นกากกัมมันตรังสีและเป็นสารอันตราย จึงมีความพยายามที่จะนำยูเรเนียมด้อยสมรรถนะไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการนำกากแร่เหล่านี้มาใช้เป็นส่วนผสมในอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพ โดยเฉพาะการนำมาใช้ทำ ‘กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ’ 

 

ด้วยคุณสมบัติของยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มีความหนาแน่นสูงมาก และมีมวลน้ำหนักที่มากกว่าตะกั่วหรือทังสเตนที่มักจะนำมาใช้ทำอาวุธด้านการทหาร ทำให้กองทัพในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ผลิตหัวกระสุนสำหรับเจาะเกราะจากกากแร่ดังกล่าว และปรับให้สามารถใช้งานกับรถถังที่ตนเองผลิตขึ้นได้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

 

ด้าน เอ็ดเวิร์ด ไกสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ ชี้ว่า “กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมีความหนาแน่นมาก มีแรงผลักสูงมากที่ทำให้ทะลุเกราะเข้าไปได้เรื่อยๆ และลูกกระสุนเหล่านี้ร้อนจนลุกเป็นไฟ”

 

ทำไมจึงเกิดข้อถกเถียงขึ้น

 

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ชี้ว่า ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนี้สามารถแผ่กัมมันตภาพรังสีได้น้อยกว่าแร่ยูเรเนียมตามธรรมชาติอย่างมาก พร้อมทั้งกล่าวถึงการศึกษาว่าด้วยสุขภาพของบุคลากรในกองทัพ

 

โดยระบุว่า การสัมผัสใกล้ชิดกับยูเรเนียมด้อยสมรรถนะยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของบุคลากรในกองทัพที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้ แต่ IAEA ก็ยังประกาศเตือนเรื่องการสัมผัสโดยตรง และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก 

 

ขณะที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของสหรัฐฯ เพราะเกรงว่าการใช้กระสุนชนิดดังกล่าวจะก่อให้เกิดสารพิษหรือสารอันตรายตกค้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทหารและพลเรือนในพื้นที่สู้รบ

 

นอกจากข้อกังวลด้านปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาแล้ว หลายฝ่ายก็เกรงว่าการใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะจะนำไปสู่การทำสงครามนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลรัสเซียเองก็เคยออกมาประณามเรื่องทำนองเดียวกัน หลังจากที่ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เคยประกาศว่า จะส่งมอบกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้แก่กองทัพยูเครน เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ทางการรัสเซียระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการก่ออาชญากรรม สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงก้าวที่เร่งให้เกิดความตึงเครียดในสนามรบ แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้กระสุนชนิดนี้ในเขตพื้นที่สงคราม 

 

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างชี้ว่า กระสุนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งสองประเทศนี้ก็ใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในกระสุนเจาะเกราะมานานหลายทศวรรษแล้ว พร้อมทั้งระบุว่า รัสเซียพยายามบิดเบือนข้อมูลและสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสมรภูมิรบ

 

โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เองก็เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกรณีที่ตัดสินใจจัดส่ง ‘ระเบิดลูกปราย’ (Cluster Munitions) หรือ ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ให้กับยูเครนตามคำร้องขอ แม้จะทราบดีว่าอาวุธชนิดนี้ถูกแบนในกว่า 120 ประเทศ เนื่องจากได้รับการพิจารณาว่าเป็นอาวุธร้ายแรงและอาจส่งผลกระทบต่อทหารและพลเรือนเป็นวงกว้าง จนทำให้จุดยืนทางศีลธรรมของสหรัฐฯ ถูกตั้งคำถามอย่างมาก

 

แฟ้มภาพ: Stan Honda / AFP

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X