จากรายงานการจัดอันดับ ‘ดัชนีประชาธิปไตย’ (Democracy Index) ล่าสุด ปี 2020 โดย Economist Intelligence Unit (EIU) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยใน 167 ประเทศ และดินแดนจากทุกทวีปทั่วโลก โดยพิจารณาถึง 5 มิติสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral Process and Pluralism), การทำงานของรัฐบาล (Functioning of Government), การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation), วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) และเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties)
พร้อมทั้งมีเกณฑ์คะแนนแบ่งกลุ่มประเทศเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
8.01-10 คะแนนคือ ประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ (Full Democracies)
6.01-8 คะแนนคือ ประเทศที่ประชาธิปไตยยังคงมีข้อบกพร่อง (Flawed Democracies)
4.01-6 คะแนนคือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยม (Hybrid Regimes)
0.4 คะแนนคือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarian Regimes)
จาก Democracy Index 2020 พบว่า มีประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ 23 จาก 167 ประเทศ หรือคิดเป็น 13.8% โดยนอร์เวย์ยังคงครองตำแหน่งประเทศที่มีดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในการจัดอันดับครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน มีดัชนีอยู่ที่ 9.81 จาก 10 ตามมาด้วยไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งประเทศที่อยู่หัวตารางส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มาจากแถบสแกนดิเนเวียและยุโรป
ขณะที่ไต้หวันขยับขึ้นเป็นชาติที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้เป็นครั้งแรก หลังได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีประชาธิปไตยบกพร่องตลอด 12 ครั้งของการจัดอันดับก่อนหน้านี้ รั้งอันดับ 11 ของโลก รั้งอันดับ 1 ของเอเชีย มีดัชนีอยู่ที่ 8.94 ส่วนสหราชอาณาจักร รั้งอันดับ 16 ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รั้งอันดับ 21 และ 23 ตามลำดับ
ทางด้านสหรัฐอเมริกายังคงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ขาดดัชนีอีกเพียง 0.09 ก็จะขยับขึ้นไปอยู่กลุ่มที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ รั้งอันดับ 25
ขยับกลับมาในย่านอาเซียน มาเลเซีย มีดัชนีประชาธิปไตยมากที่สุดในอาเซียน รั้งอันดับ 39 ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ (อันดับ 55) อินโดนีเซีย (อันดับ 64) ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 73 รั้งอันดับ 4 ของอาเซียน มีดัชนีอยู่ที่ 6.04 โดยดัชนีประชาธิปไตยแบบไทยนิยมตกต่ำสุด 2 ปีติด เมื่อปี 2017-2018 มีดัชนีอยู่ที่ 4.63 ตามมาด้วยสิงคโปร์ (อันดับ 74) โดยมีกัมพูชา (อันดับ 130) เมียนมา (อันดับ 135) เวียดนาม (อันดับ 137) และ สปป.ลาว (อันดับ 161) เป็น 4 ประเทศย่านอาเซียนที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ขณะที่บรูไนเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียที่ไม่ได้รับการจัดอันดับโดย EIU ส่วนเกาหลีเหนือ รั้งอันดับสุดท้าย (อันดับ 167) เป็นครั้งที่ 13 ติดต่อกัน
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา