ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ในปี 2018 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้สูงอายุหลงทางจำทางกลับบ้านไม่ได้สูงถึง 16,927 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นทำการเก็บรวบรวมข้อมูลมาเมื่อปี 2012 โดยปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 1,064 คน
คาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อมสูงถึง 7 ล้านคนภายในปี 2025 ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปรับแผนและดำเนินนโยบายที่รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม รวมถึงสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น
จากรายงานพบว่า 73.4% ของผู้ที่หลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้เพราะมีภาวะสมองเสื่อม ถูกพบตัวภายในวันที่มีการแจ้งการสูญหาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วราว 99.4% จะถูกพบตัวภายในระยะ 1 สัปดาห์ โดยมี 2 คนที่ใช้เวลาค้นหานานกว่า 2 ปีนับตั้งแต่ที่มีการแจ้งการหายตัวไป
โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา มีรายงานแจ้งการสูญหาย รวมถึงคนที่ไม่ได้มีภาวะสมองเสื่อมสูงถึง 87,962 คน นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีช่วงอายุประมาณ 20 ปี เป็นเพศชาย (64.1%) มากกว่าเพศหญิง (35.9%) ซึ่งสาเหตุของการสูญหายหรือหายตัวไปส่วนใหญ่เกิดจากอาการของโรคต่างๆ รวมถึงภาวะสมองเสื่อม (26.5%) ตามมาด้วยปัญหาภายในครอบครัว (16.9%) และปัญหาทางเศรษฐกิจ (12.5%)
ภาพ: TTLSC / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: