×

หุ้น DELTA มุ่งทดสอบ 1,000 บาท อีกครั้ง! หลังโชว์กำไร 1.5 หมื่นล้าน โต 129% แต่การแตกพาร์อาจเป็นสัญญาณจบรอบ

16.02.2023
  • LOADING...
DELTA

หุ้นที่มีราคาและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงที่สุดในไทยอย่าง บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ หุ้น DELTA พุ่งขึ้นมากถึง 9% ในช่วงเช้านี้ (16 กุมภาพันธ์) ไปแตะระดับ 986 บาท หลังจากบริษัทรายงานผลประกอบการปี 2565 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 15,344.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% จากปีก่อน 

 

ราคาหุ้นของ DELTA กระโดดขึ้นทันทีหลังเปิดตลาดวันนี้ และขยับขึ้นมาใกล้กับจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้เมื่อ 7 วันก่อนที่ระดับ 996 บาท ปัจจัยบวกสำคัญต่อราคาหุ้น DELTA คือเรื่องของผลประกอบการที่เติบโตค่อนข้างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่มมีรายได้เติบโตขึ้นทั้งหมด ได้แก่ 

 

  1. กลุ่มพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics) ได้แก่ พาวเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน และรถยนต์ไฟฟ้า มีรายได้รวม 91,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.7% 
  2. กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ระบบโทรคมนาคม พลังงานทดแทน ระบบเก็บพลังงาน และพลังงานกำลังสูง เป็นต้น มีรายได้รวม 24,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9%
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์อัตโนมัติ (Automation) ได้แก่ ระบบอัตโนมัติสำหรับเครื่องจักร ระบบขับเคลื่อนสายการผลิต ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ และระบบแสงสว่างอัตโนมัติสำหรับอาคาร เป็นต้น มีรายได้รวม 3,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% 

 

ส่วนภาพรวมของธุรกิจ บริษัทชี้แจงว่ามียอดขาย 118,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.6% จากปีก่อน หนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) และระบบศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ควบคุมอุณหภูมิความร้อนในยานยนต์ทั่วไป

 

ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 35.3% มาอยู่ที่ 90,617 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่ายอดขาย อย่างไรก็ตาม บริษัทชี้แจงว่ายังคงถูกกดดันจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นระหว่างปี 2563-2564 ก่อนจะเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 

 

ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้น 17.6% จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งตามยอดขาย รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาในยุโรปเพื่อตอบสนองต่อลูกค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า

 

รายได้และกำไรของ DELTA ที่เติบโตขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สินทรัพย์รวมของบริษัทเติบโตขึ้น 31.2% มาอยู่ที่ 90,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของเงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ รวมทั้งที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 

 

จากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ทำให้ DELTA มีกำไรสุทธิ 15,344.5 ล้านบาท พร้อมประกาศจ่ายปันผล 4 บาทต่อหุ้น

 

นอกจากเรื่องของผลประกอบการแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ DELTA ประกาศออกมาพร้อมกันคือการเสนอให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติลดพาร์จาก 1 บาทต่อหุ้น มาเหลือ 0.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนหุ้นของ DELTA เพิ่มขึ้น 10 เท่า ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราคาหุ้นของ DELTA ลดลง 10 เท่าเช่นกัน

 

หากผู้ถือหุ้นอนุมัติจะทำให้ DELTA ไม่ใช่หุ้นที่มีราคาสูงที่สุดในไทยอีกต่อไป และจะกลายเป็นหุ้นของ บมจ.โอเอชทีแอล (OHTL) ที่มีราคา 476 บาท อิงจากราคาปิดเมื่อวานนี้ กลายเป็นหุ้นที่มีราคาสูงสุดแทน

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า เมื่อหุ้นประกาศแตกพาร์ ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นก่อน และจะเข้าสู่จุดพีคในวันที่ซื้อขายพาร์ใหม่ หลังจากนั้นหุ้นที่ประกาศแตกพาร์มีโอกาสจะจบรอบอย่างน้อยในระยะสั้น หลังจากนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของหุ้น 

 

แต่สำหรับ DELTA “P/E สูงเกินไป เทียบกับการเติบโต ยังมีตัวเลือกอื่นในตลาดอีกมาก ส่วนตัวยังแนะนำเหมือนเดิมคืออาจจะเหมาะกับสายเทรด แต่โดยพื้นฐานคงไม่แนะนำที่ราคา 950 บาท เพราะมูลค่าสูงเกินไป” 

 

ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นในวันนี้น่าจะเป็นผลจากทั้งกำไรปี 2565 ที่ออกมาดีกว่าคาด และการประกาศแตกพาร์จาก 1 บาท เป็น 0.10 บาท หากผู้ถือหุ้นอนุมัติในวันที่ 7 เมษายนนี้ โดยปกติแล้วน่าจะซื้อขายด้วยพาร์ใหม่หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์

 

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า DELTA รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4 จำนวน 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรออกมาสูงกว่าตลาดคาด 8% ขณะที่แนวโน้มกำไรปี 2566 เราเชื่อว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการเติบโตจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า หุ้นที่ประกาศลดพาร์มีแนวโน้มที่ราคาหุ้นจะเป็นบวกนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติไปจนถึงวันแรกที่มีผลให้ซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ 

 

แต่หลังจากวันที่มีผลแล้ว ในทางทฤษฎีเมื่อหุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้นทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยธรรมชาติแล้วราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่ายุติธรรมได้ง่ายกว่าการที่มีคนหมู่น้อยเข้ามามีส่วนร่วม

 

“ถ้าเป็นหุ้นที่ Undervalue ราคาหุ้นหลังจากแตกพาร์มีโอกาสที่จะไปในทิศทางเชิงบวกได้ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ Overvalue อาจถูกกดดันให้ราคากลับลงมา ซึ่งราคาเหมาะสมของ DELTA ในปัจจุบันยังต่ำกว่าราคากระดาน เพราะฉะนั้นอาจเป็นจุดกลับตัวที่สำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น DELTA กลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริง”


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising