โลกของ DeFi หรือ Decentralized Finance กำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากดูตัวเลขจาก defipulse.com ปัจจุบันมูลค่าของตลาด DeFi โดยวัดจาก Total Value Locked (TVL) หรือมูลค่ารวมที่ถูกล็อกไว้บนแพลตฟอร์มของ DeFi คิดเป็นถึง 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.8 ล้านล้านบาท
“ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 การลงทุนใน DeFi ยังกระจุกอยู่แค่เพียงบางกลุ่ม อย่าง UniSwap ในเวลานั้นมีมูลค่าเพียง 700-800 ล้านดอลลาร์” ตั้ม-โกวิท เจริญรัชตพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง dopple.finance เกริ่นถึงการเติบโตของตลาด DeFi ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยปัจจุบัน UniSwap มีมูลค่าพุ่งขึ้นไปถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้คนเริ่มเห็นภาพว่าโลกของ DeFi ยังมีโอกาสอีกมาก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่หลายคนตั้งคำถามคือ DeFi เป็นเหมือนกับแชร์ลูกโซ่หรือไม่?
ในส่วนนี้โกวิทมองว่า สิ่งที่ทำให้ DeFi แตกต่างอย่างชัดเจนคือ ‘โมเดลธุรกิจ’ (Business Model) ปัจจุบันต้องยอมรับว่า DeFi บางส่วนอาจมีลักษณะเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าต้องการจะทำอะไร จะหารายได้อย่างไร และรายได้เหล่านั้นจะเพียงพอกับต้นทุนที่มีหรือไม่ เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือเราต้องมองให้ออกว่า DeFi นั้นๆ ทำธุรกิจอะไร
“ปัจจุบันตลาด DeFi กำลังโตเร็วกว่าความรู้ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนควรจะลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้ ข้อดีของ DeFi คือความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และเปิดโอกาสให้กับคนทีตั้งใจหากความรู้ ได้ใช้ความรู้นั้นทำเงินจริงๆ”
หนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่หลายคนอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้างคือการทำ ‘ฟาร์ม’ (Farming) ซึ่งเป็นการกลยุทธ์ที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เงินลงทุนที่ต่ำมาก เพียงแต่จะต้องอาศัยความขยันในการเสาะหาว่า DeFi เจ้าไหนที่กำลังเปิดโอกาสนั้นอยู่บ้าง
ปัจจุบันจะเห็นว่า DeFi ต่างๆ จะใช้การแจกเหรียญ (Airdrop) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ดึงให้ผู้ใช้งานเข้ามาในระบบ โดยผู้ลงทุนสามารถนำเหรียญเหล่านี้ไปลงทุนต่อยอด
“มูลค่าของเหรียญที่แจก (Governance Token) ให้กับผู้ลงทุน ขึ้นอยู่กับว่าเหรียญนั้นๆ มีประโยชน์อย่างไร DeFi บางรายอาจจะแจกเฉยๆ แต่บางรายอาจจะคิดมาก่อนแล้วว่าเหรียญนี้จะนำไปทำอะไรได้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของเหรียญมีมากกว่า หากเปรียบกับโลกยุคเดิม คนที่มีแรงงานจะชนะ ส่วนโลกทุนนิยม คนมีทุนก็จะชนะ ขณะที่โลก DeFi คนมีความรู้จะชนะ”
อย่างไรก็ตาม ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในเวลานี้ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงขาลง หลังจากที่ราคาเหรียญต่างๆ ร่วงกลับลงมาในระดับ 40-50% ซึ่งในส่วนนี้ย่อมกระทบต่อราคาของเหรียญบน DeFi เช่นกัน
โกวิท มองว่า โดยธรรมชาติแล้วราคาของเหรียญที่อยู่บนตลาดคริปโตเคอร์เรนซีจะขึ้นลงตาม Demand และ Supply เป็นหลัก และไม่ได้อิงกับเหตุผลมากนัก ขณะที่ DeFi ซึ่งอิงอยู่กับธุรกิจจริงบนแพลตฟอร์มต่าง แม้ราคาของเหรียญจะลดลงมาบ้าง แต่จะยังเห็นว่ามูลค่า TVL ของบน DeFi เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ตลาด DeFi จะช่วยพยุงตลาดคริปโตเคอร์เรนซีไว้ได้ในช่วงตลาดขาลงรอบนี้”
ในมุมของความเสี่ยงจะเห็นว่ามีประเด็นที่ DeFi เผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น ทั้งเรื่องของ Technical Risk อย่างการ Hack ระบบ และ Financial Risk ซึ่งเป็นการโจมตีด้วยกระบวนการทางการเงิน
โดยพื้นฐานแล้วคงไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าจะป้องกันความเสี่ยงได้ 100% แต่สำหรับนักลงทุนควรจะมองหาแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเลือกจากแพลตฟอร์มที่ดำเนินการมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในมุมของการพัฒนาหากไม่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเลย โลกของ DeFi ก็คงจะพัฒนาไปข้างหน้าไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้นักลงทุนก็ควรจะป้องกันความเสี่ยงโดยการมองหาแพลตฟอร์มที่มีโมเดลธุรกิจน่าเชื่อถือ และลงทุนด้วยเงินที่พร้อมจะสูญเสียได้
ช่วงที่ผ่านมามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฟาร์มซิ่ง’ ซึ่งเป็นลักษณะของเหรียญ DeFi ที่เพิ่งเปิดให้เทรดใหม่ และดึงดูดนักลงทุนเข้าไปด้วยการดันราคาเหรียญให้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายราคาก็มักจะตกกลับลงมาอย่างรวดเร็ว
“กรณีของฟาร์มซิ่ง หากนักลงทุนย้อนกลับไปดูจะเห็นว่ามีแพตเทิร์นของการทำที่คล้ายๆ กัน โดยผู้ที่ต้องการทำราคาจะใช้การสร้างบอตเพื่อไล่ราคาตั้งแต่แรก ซึ่งนักลงทุนไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง”
สำหรับ Dopple ในฐานะ Decentralized Exchange (DEX) ให้บริการแลกเปลี่ยน Stable Coin โดยปัจจุบันมี TVL ราว 150 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 180-200 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2-3 วันนี้ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20-30 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ Dopple มีเหรียญ Dolly เป็น Stable Coin ที่อิงอยู่กับ USDT และ BUSD ซึ่งมูลค่าของเหรียญจะขึ้นอยู่กับรายได้หลักของ Dopple ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์ม และในอนาคตผู้บริหารของ Dopple คาดว่ารายได้หลักจะมาจากส่วนของ Synthetic Asset หรือผลิตภัณฑ์สินทรัพย์สังเคราะห์ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในวันนี้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง