×

ส่องมาตรการอุ้มลูกหนี้โควิด-19 รอบใหม่ ‘แบงก์-นอนแบงก์’ รุกช่วยรายกรณี ยืดหนี้นานสุด 99 เดือน

09.01.2021
  • LOADING...
ส่องมาตรการอุ้มลูกหนี้โควิด-19 รอบใหม่ ‘แบงก์-นอนแบงก์’ รุกช่วยรายกรณี ยืดหนี้นานสุด 99 เดือน

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • 4 ธนาคารพาณิชย์รับโควิด-19 รอบใหม่ ล็อกดาวน์เฉพาะจุดกระทบลูกหนี้และกำลังซื้อ เร่งต่ออายุมาตรการช่วยลูกค้าจากโควิด-19 รอบใหม่ คงมาตรการเดิม ส่วนมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจะเจาะเป็นรายกรณี
  • ฝั่งนอนแบงก์ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ขยายเวลาผ่อนชำระช่วยลูกหนี้เจ็บซ้ำซ้อน ยืดหนี้นานสุด 99 เดือน ฝั่ง MTC ชี้ฐานลูกค้าเกษตรกรกระทบน้อยกว่า แต่พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมเมื่อหน่วยงานผู้กำกับฯ ขอความร่วมมือ 
  • ออมสินออกมาตรการช่วยเหลือตรงจุด 28 จังหวัด ชูมาตรการระยะสั้น 3-6 เดือน หวังช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ 1.9 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 6.7 แสนล้านบาท

ไม่ทันข้ามปีข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ปี 2564 รัฐบาลก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไทยกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่กลายเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะร้านค้า ประชาชน และเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวต้องสะดุดลง

 

แล้วภาคธุรกิจธนาคารที่เป็นทั้งแนวหลัง และฝ่ายสนับสนุนเศรษฐกิจต้องรับมือสถานการณ์ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในวิกฤตอย่างไร

 

4 แบงก์พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในโควิด-19 รอบใหม่

 

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ ทางธนาคารตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ซึ่งธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าทุกราย ดังนั้นธนาคารจะเข้าพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่นี้

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นทางธนาคารจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเป็นรายกรณี เช่น พักชำระหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือชำระหนี้ตามความสามารถและรายได้ เป็นต้น โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบการจากระบาดรอบใหม่สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากทางธนาคารได้ ผ่านช่องทางดิจิทัล หรือสาขาธนาคารทั่วประเทศ โดยธนาคารมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตนี้อย่างเต็มที่

 

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ กรณีการล็อกดาวน์มองได้สองมุม ทั้งคนที่ต้องการให้เรื่องจบเร็วอยากให้ล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ และกลุ่มที่มองว่าถ้าล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นการเลือกว่าจะล็อกดาวน์รูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐมีข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจ 

 

ทั้งนี้ มองว่าผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอาจจะมากกว่ารอบแรก เพราะคนยังอ่อนแอจากผลกระทบครั้งก่อน ด้านธนาคารก็มีมาตรการดูแลช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม เพื่อจะดูแลลูกหนี้ดีที่ไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้อยู่แล้ว มาตรการการช่วยเหลือรอบนี้จึงจะคัดกรองและเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบเฉพาะราย 

 

ชื่อ: (เรียงจากซ้ายไปขวา)  อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP), อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB),  กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และ ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)

 

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เล่าว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ยังประเมินได้ไม่ชัดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเบาลงเมื่อใด แต่ระยะสั้นก็ทำให้เกิดการหยุดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และส่งผลกระทบต่อบางธุรกิจรวมถึงกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง โดยในส่วนการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้าตอนนี้ ก็ยังคงอยู่ในระดับปกติ ซึ่งบางส่วนอาจเกิดจากการได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้ว เพราะธนาคารก็ได้ดูแลและให้มาตรการความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารมีแนวทางการช่วยเหลือลูกค้าสำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้ามาตรการสำหรับลูกค้ารายย่อย ออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีมาตรการฯ เช่น พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับลดค่างวด เป็นต้น ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ จะมีเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยเพื่อให้ความช่วยเหลือในูปแบบเฉพาะราย

 

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ ทางกรุงศรีจะมีการประเมินและวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย 

 

ขณะเดียวกันได้มีการพูดคุยกับ ธปท. ​และสมาคมธนาคารไทย โดยอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าต่อไป 

 

ทั้งนี้ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่องจากปี 2563 ในส่วนลูกค้ากลุ่มบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ มีมาตรการทั้งการปรับลดเพดานดอกเบี้ย การพักจ่ายหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ลูกค้าธุรกิจจะมีมาตรการขยายเวลาการผ่อนชำระและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมถึงการพูดคุยและติดตามสถานะลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

 

โดยกรุงศรีมีเงินให้สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าราว 29% จากเงินสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อย 1,634,183 ราย และลูกค้าธุรกิจ 38,184 ราย โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้วงเงินสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มขึ้น 20,080 ล้านบาท (ลูกค้า 6,464 ราย) ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563

 

นอกจากนี้ธนาคารจะดำเนินการติดตามและจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นที่การกำกับดูแลด้วยความเข้มงวดเพื่อให้เชื่อมั่นว่า ธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และเพียงพอที่จะรองรับกับความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงเริ่มดำเนินการตามแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) ด้านการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโควิด-19 

 

ชื่อ: (เรียงจากซ้ายไปขวา)  ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC

 

กรุงศรีคอนซูมเมอร์-MTC พร้อมช่วยลูกค้าเจอวิกฤตซ้ำซ้อน 

 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ และมีการควบคุมพิเศษในหลายพื้นที่ โดยทางบริษัทเริ่มออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในกลุ่มลูกค้าปกติ (ไม่ผิดนัดชำระหนี้) โดยมุ่งเน้นที่การรีไฟแนนซ์ การลดอัตราดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาในการชำระคืนโดยปัจจุบันเพิ่มสูงสุดอยุ่ที่ 99 เดือน จากช่วงก่อนหน้าที่ขยายระยะเวลาชำระคืนให้สูงสุด 48 เดือน โดยยังคงมีมารการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า เช่น การลดจำนวนเงินจ่ายขั้นต่ำ (ไม่ต้องลงทะเบียน)

 

“ปัจจุบันลูกค้าอาจจะยังไม่รู้ว่ามีมาตรการความช่วยเหลือแล้ว เราจะทำการสื่อสารให้มากยิ่งขึ้น และยังมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยลูกค้าที่เจอปัญหาเดิม และยิ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็สามารถติดต่อทางบริษัทเพื่อหามาตรการช่วยเหลือรายกรณี เช่น การผ่อนยาวสูงสุด 99 เดือน ส่วนดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อและกลุ่มลูกค้า”

 

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและป้องกันการแพร่ระบาด ลูกค้าสามารถติดต่อขอเข้ารับความช่วยเหลือได้ทั้งช่องทางแอปพลิเคชั้น UChoose (เปิดฟีเจอร์หน้าแอปฯ แล้ว) และคอลเซ็นเตอร์ 

 

ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อกำลังซื้อของไทย มองว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่พอมีโควิด-19 รอบใหม่เห็นว่าคนกังวลเพิ่มขึ้นบ้าง และอยู่ระหว่างการประเมินกำลังซื้อในภาพรวม โดยมองว่าช่วงกลางเดือนมกราคม 2664 จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจากปัจจุบัน 

 

ในส่วนของพนักงาน ทางกรุงศรี คอนซูมเมอร์ให้พนักงานทำงานที่บ้าน Work from Home แล้ว รวมถึงพนักงานคอลเซ็นเตอร์หลายร้อยราย กว่า 90% ทำงานที่บ้านผ่านระบบซัพพอร์ตที่ทางบริษัทเตรียมไว้ให้ 

 

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในภาพใหญ่การระบาดระลอกใหม่นี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบแรงเท่ารอบแรก เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ทำให้ต้องปิดร้าน หรือเคลื่อนย้ายไม่ได้ 

 

“ครั้งก่อนการล็อกดาวน์ใหญ่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ครั้งนี้เป็นการล็อกฯ  เฉพาะจุด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก เพราะคนยังทำมาหากินได้ และมองว่าเศรษฐกิจจะยังเดินหน้าต่อไปได้”

 

ทั้งนี้ จากการระบาดของโควิด-19 รอบแรกพบว่า มีลูกค้าราว 10% ของฐานลูกค้าทั้งหมดที่เข้ามาขอเข้ามาตรการช่วยเหลือ ขณะที่อีก 90% เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งเพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทคือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้โดยตรง โดยการระบาดระลอกใหม่นี้คาดว่าผลกระทบต่อธุรกิจจะไม่สูงมาก  

 

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่ โดยที่ผ่านมามีทั้งการพักชำระหนี้ และการยืดหนี้ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย ทางบริษัทก็ให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 

 

บรรยากาศ ธนาคารออมสิน หน้าเคาท์เตอร์บริการ

 

ออมสิน ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ 28 จังหวัด หวังเข้าถึง 1.9 ล้านราย

 

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ทางธนาคารออกมาตรการช่วยเหลือระยะเวลา 3-6 เดือน ให้ลูกค้าธนาคารที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ โดยลูกค้าออมสินในพื้นที่ 28 จังหวัด ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดง ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) โดยธนาคารจะพิจารณาให้ลูกค้าสามารถขอพักชำระเงินต้นไว้และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563

 

“จากข้อมูลลูกค้าของธนาคารพบว่า ในพื้นที่ 28 จังหวัด มีลูกค้าสินเชื่อของธนาคารจำนวนกว่า 1.9 ล้านราย วงเงินสินเชื่อกว่า 670,000 ล้านบาท ธนาคารจึงเร่งเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไป”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising