×

หัวหน้าสองคนสั่ง มีความเห็นคนละแบบ หนูจะฟังใครดีคะ

06.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การที่มีหัวหน้ามองต่างกันก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะแปลว่าเราจะได้เห็นมุมที่แตกต่างของงานชิ้นเดียวกัน ถ้าทุกคนเออออเห็นทางเดียวกันหมดตลอดเวลา มันก็จะไม่มีการเขย่าความคิดกันเท่าไร หรือไม่มีการช่วยตรวจสอบ ช่วยพัฒนางานให้ดีขึ้นร่วมกัน ทีมที่ดีจึงต้องการคนที่เห็นต่างกันบ้าง เพราะเราคนเดียว ความคิดเดียว ก็จะเห็นจากมุมเดียว ลองถ้าเราได้ฟังความเห็นคนอื่นๆ บ้างก็จะทำให้เราได้มุมมองอื่นๆ และมันอาจจะดีกับการปรับปรุงงานก็ได้นะครับ
  • ถึงความคิดเห็นของหัวหน้าทั้งสองคนจะไปกันคนละทาง แต่ถ้าเป้าหมายของพวกเขาเป็นอย่างเดียวกันคืออยากทำให้งานออกมาดี พี่คิดว่านั่นก็เป็นเจตนาที่ดีแล้ว วิธีการทำงานมันไม่ได้มีวิธีเดียวสักหน่อย เหมือนถ้าเป้าหมายคือการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ คนหนึ่งอาจจะบอกว่านั่งเครื่องบินไปสิ อีกคนบอกว่าขับรถไฟไปดีกว่า หรือแม้กระทั่งบอกว่านั่งเครื่องบินไปเหมือนกัน อาจจะเป็นเครื่องบินคนละแบบกันเลย เพราะฉะนั้นมันไม่มีผิดหรือถูก มันมีแต่ว่าดีในบริบทไหนเท่านั้น
  • หลายครั้งที่คนทำงานเป๋เพราะคิดว่าการทำงานคือการขายนายให้ผ่าน ในความเป็นจริงแล้วงานที่ขายนายผ่านอาจจะเป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้นก็ได้ ต้องกลับไปที่โจทย์ตั้งต้นว่าเราต้องการอะไร สมมติว่าโจทย์คือต้องการเพิ่มยอดขาย ก็ต้องคิดงานที่สุดท้ายแล้วมันจะไปเพิ่มยอดขายได้จริงๆ ไม่ใช่คิดงานที่จะเอาแต่ขายนายให้ผ่าน เพราะนายจะชอบแบบนี้ แบบนี้นายชอบนะครับ แต่ลูกค้าไม่ชอบ มันก็ไม่กลับไปที่ยอดขายแล้ว ไปทำงานที่ขาย ‘นายที่แท้จริง’ ซึ่งก็คือลูกค้าถึงจะถูกต้อง

Q: มีหัวหน้าสองคนค่ะ ปัญหาคือเวลาทำงาน หัวหน้าคนหนึ่งก็อยากได้งานแบบหนึ่ง อีกคนก็อยากได้งานอีกแบบหนึ่ง หนูไม่รู้จะฟังใครดี เพราะสิ่งที่เขาต้องการมันคนละทางกันเลย และเขาสองคนก็ไม่คุยกันอีก หนูควรฟังใครดีคะ

 

A: การมีหัวหน้าหลายคนเป็นเรื่องปกติ นอกจากมีหัวหน้าโดยตรงแล้ว บางทีเราก็จะมีหัวหน้าของหัวหน้า หรือหัวหน้าของหัวหน้าของหัวหน้าต่ออีกหลายทอด

 

บางคนอาจจะรู้สึกว่ามีหัวหน้าน้อยๆ หน่อยก็ดี คุยคนเดียวก็จบ พอมีหลายคนเราก็ต้องคุยกับหลายคน แล้วต้องทำให้หลายคนคิดเหมือนกันอีก โอ๊ย! เอาคนเดียวให้อยู่ก็ยากแล้วค่ะพี่ขา!

 

พี่คิดว่ามันก็มีข้อดี-ข้อเสียที่ต่างกันอยู่นะครับ มีหัวหน้าน้อย ลำดับขั้นน้อย การตัดสินใจหรือกระบวนการทำงานก็จะเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านด่านเยอะ ลองนึกถึงว่าจะทำงานอะไรแต่ละทีแล้วต้องผ่านหลายคน บางทีกว่างานจะได้รับการอนุมัติก็ใช้เวลานานแล้ว ยิ่งในยุคที่เราต้องทำงานแข่งกับเวลา ถ้ามัวแต่รอให้นายแต่ละคนมาฟันธงกันแต่ละทีคงไม่ทันกิน นี่ยังไม่รวมว่ากว่านายแต่ละคนจะขอแก้ขอปรับอีก ทำงานปีนี้เสร็จอีกทีปีหน้า เพราะมัวแต่รอหัวหน้าอนุมัติให้ครบทุกคน!

 

แต่หลายองค์กรจำเป็นจริงๆ ครับที่ต้องมีหัวหน้าหลายคน ยิ่งองค์กรใหญ่แล้วก็จำเป็นต้องมีคนดูแลหลายส่วน ช่วยกันดูแล ช่วยกันตรวจสอบ ในอีกแง่หนึ่งของ Career Path คนเป็นลูกน้องก็พอจะเห็นเส้นทางเติบโตได้ เพราะดูแล้วมีตำแหน่งให้เขาได้ไปต่อหลายขั้น ลองนึกถึงว่าถ้า Organization Chart มีแค่หัวหน้าคนเดียว แล้วรองลงมาเป็นลูกน้องแนวราบหมดเลย แปลว่าถ้าลูกน้องจะโตได้ก็ต้องรอให้หัวหน้าลาออกหรือมีตำแหน่งใหม่ให้หัวหน้าคนเดิมก่อน ลูกน้องเองก็จะรู้สึกว่าแล้วเขาจะเติบโตไปได้อย่างไร ในเมื่อหัวหน้าคนเดิมยังเกาะขาเก้าอี้อยู่แน่น อันนี้ก็จะเป็นปัญหาขององค์กรที่ไม่ได้คิดเรื่อง Career Path ให้พนักงานได้เติบโตต่อ

 

ไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่ากันนะครับ เพราะทั้งสองแบบมีโอกาสที่จะรุ่งหรือรุ่งริ่งได้หมด เช่น มีหัวหน้าคนเดียว ตบทีเดียวอยู่ ก็ดีมากตรงตัดสินใจได้เร็ว เอาอย่างไรก็ว่ามา! แต่ลองคิดดูสิครับว่าถ้าหัวหน้าเราไม่แกร่งพอแล้วทุกอย่างต้องพุ่งไปหาเขาคนเดียว อันนี้ก็จะตายหมู่ได้ ขณะเดียวกันการมีหัวหน้าหลายคน หลายขั้น หลายด่านก็ดูเหมือนจะยุ่งยาก กว่าจะผ่านแต่ละด่านได้ก็ช้า แต่ถ้าเราดีไซน์การทำงานให้ดี ยิ่งถ้าหัวหน้าให้อำนาจในการตัดสินใจกับลูกน้องตำแหน่งรองลงมาแล้วลูกน้องรับผิดชอบได้ดีก็ไม่ยากครับ ยิ่งถ้าหัวหน้ามีความเฉียบคม มาถึงฟันโชะๆ ให้ทิศทางได้ ให้คำปรึกษาได้ และพร้อมสนับสนุนเต็มที่ งานก็ไปได้เร็วและไปได้ไกล

 

เพราะฉะนั้นพี่คิดว่ามันไม่มีอะไรที่ดีจังเลยแล้วก็แย่จังเลย มันอยู่ที่ว่าเราจะดีไซน์ระบบการทำงานแบบไหนมากกว่า

 

น้องเอ๋ย มีหัวหน้าสองคนนี่ถือว่าไม่เยอะแล้วล่ะ ต่อไปน้องอาจจะเจอเยอะกว่านี้อีก เอาว่าโจทย์ตอนนี้คือเอาหัวหน้าสองคนให้อยู่อย่างไรมากกว่า

 

คิดในแง่ดีก่อนเลยว่า โห…ดีจัง มีคนช่วยให้งานเราดีขึ้นตั้งสองคน คิดแบบนี้ก่อนเลยนะครับ ไม่อย่างนั้นเราจะมองว่าหัวหน้าสองคนคือคนที่ทำให้งานเรามีปัญหา ถ้าเราทำให้การมีหัวหน้าที่มีความเห็นต่างกันเป็นปัญหา มันก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้าเราทำให้มันไม่เป็นปัญหา มันก็จะไม่เป็นปัญหาครับ

 

ในแง่หนึ่ง พี่คิดว่าการที่มีหัวหน้ามองต่างกันก็เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะแปลว่าเราจะได้เห็นมุมที่แตกต่างกันของงานชิ้นเดียวกัน ถ้าทุกคนเออออเห็นทางเดียวกันหมดตลอดเวลา มันก็จะไม่มีการเขย่าความคิดกันเท่าไร หรือไม่มีการช่วยตรวจสอบ ช่วยพัฒนางานให้ดีขึ้นร่วมกัน ทีมที่ดีจึงต้องการคนที่เห็นต่างกันบ้าง เพราะเราคนเดียว ความคิดเดียว ก็จะเห็นจากมุมเดียว ลองถ้าเราได้ฟังความเห็นคนอื่นๆ บ้างก็จะทำให้เราได้มุมมองอื่นๆ และมันอาจจะดีกับการปรับปรุงงานก็ได้นะครับ

 

ถึงความคิดเห็นของหัวหน้าทั้งสองคนจะไปกันคนละทาง แต่ถ้าเป้าหมายของพวกเขาเป็นอย่างเดียวกัน คืออยากทำให้งานออกมาดี พี่คิดว่านั่นก็เป็นเจตนาที่ดีแล้ว วิธีการทำงานมันไม่ได้มีวิธีเดียวสักหน่อย เหมือนถ้าเป้าหมายคือการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ คนหนึ่งอาจจะบอกว่านั่งเครื่องบินไปสิ อีกคนบอกว่านั่งรถไฟไปดีกว่า หรือแม้กระทั่งบอกว่านั่งเครื่องบินไปเหมือนกัน อาจจะเป็นเครื่องบินคนละแบบกันเลย เพราะฉะนั้นมันไม่มีผิดหรือถูก มันมีแต่ว่าดีในบริบทไหนเท่านั้น

 

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องจะฟังหัวหน้าคนไหนดี

 

บางคนอาจจะบอกว่าฟังหัวหน้าคนที่ใหญ่กว่าสิ เพราะเขามีตำแหน่งใหญ่กว่า เขามีอำนาจตัดสินใจมากกว่า เราต้องทำงานให้ขายผ่านหัวหน้าคนนั้น แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ อย่างแรก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหัวหน้าคนที่ใหญ่กว่าจะคิดถูกเสมอ เอาล่ะ เขาอาจจะประสบการณ์มากกว่าเรา แต่ก็ไม่ถูกเสมอไป เพราะบางเรื่องเราอาจจะรู้รายละเอียดมากกว่า หรือหัวหน้าสายตรงจากเราก็อาจจะรู้มากกว่า อีกอย่าง ถ้าเราคิดว่าเราจะฟังคนที่ใหญ่กว่าแล้วเราจะมีหัวหน้าไปทำไม เราไม่ควรทำให้ใครรู้สึกว่าเขาไม่มีความหมาย ในเมื่อพวกเราคือทีมเดียวกันหมด ว่าไหมครับ

 

พี่คิดว่าหลายครั้งที่คนทำงานเป๋เพราะคิดว่าการทำงานคือการขายนายให้ผ่าน ในความเป็นจริงแล้วงานที่ขายนายผ่านอาจจะเป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้นก็ได้ ต้องกลับไปที่โจทย์ตั้งต้นว่าเราต้องการอะไร

 

สมมติว่าโจทย์คือต้องการเพิ่มยอดขาย ก็ต้องคิดงานที่สุดท้ายแล้วมันจะไปเพิ่มยอดขายได้จริงๆ ไม่ใช่คิดงานที่จะเอาแต่ขายนายให้ผ่าน เพราะนายจะชอบแบบนี้ แบบนี้นายชอบนะครับ แต่ลูกค้าไม่ชอบ มันก็ไม่กลับไปที่ยอดขายแล้ว ไปทำงานที่ขาย ‘นายที่แท้จริง’ ซึ่งก็คือลูกค้าถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่นายในห้องทำงาน เพียงแต่ว่าเพื่อที่จะทำงานที่ขายลูกค้าได้ เราต้องการการสนับสนุนจากหัวหน้าเท่านั้นเองครับ

 

หรือถ้าโจทย์คืออยากทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ต้องคิดงานที่ทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่คิดงานว่าทำงานแบบไหนนายจะชอบ เพราะนายชอบกับพนักงานชอบก็ไม่เหมือนกัน ต้องกลับไปที่โจทย์เลยครับว่าเราทำงานนี้เพื่อแก้ปัญหาอะไรอยู่

 

เช่นเดียวกันครับ หัวหน้าสองคนมองไม่เหมือนกัน ต้องกลับมาดูว่าแล้วทำแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ที่แท้จริง โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นหัวหน้าคนไหน แล้วที่เหลือมันเป็นเรื่องของการโน้มน้าวให้หัวหน้าสนับสนุนเราแล้วล่ะครับ เช่น นายคนหนึ่งจะเอาทาง A นายอีกคนหนึ่งจะเอาทาง B เราต้องกลับมาคิดว่าแล้วแบบไหนดีที่สุดและตอบโจทย์นี้ ซึ่งสุดท้ายมันอาจจะเป็นได้ทั้ง A หรือ B หรือไม่อยู่ในสักทางที่หัวหน้าเลือกเลยก็ได้ จากนั้นเพื่อที่จะโน้มน้าวให้นายสนับสนุนสิ่งที่เราเลือก เราต้องหาข้อมูลหรือเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจให้มากที่สุดว่าทำไมเราถึงเลือก A ทำไมเราถึงเลือก B เหตุผลที่จะมาสนับสนุนเราได้มีได้ตั้งแต่ข้อมูล สถิติ การสำรวจ การลองถามความเห็นของคนที่ไปไกลกว่าตัวเราเอง ฯลฯ ถ้าเรามีเหตุผลเหล่านี้มากพอ เสียงของเราก็จะหนักแน่นขึ้น และมันจะช่วยให้หัวหน้าเห็นมุมอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญคือเราต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเรา ไม่ได้แปลว่าเราจะผิดไม่ได้นะครับ แต่ไม่ว่าจะทำแบบไหน และผลงานออกมาเป็นอย่างไร ขอให้เราเรียนรู้กับมันให้มากที่สุด

 

อีกสิ่งที่สำคัญพอๆ กับการมีเหตุผลมาสนับสนุนก็คือการรักษาอารมณ์ของคนที่เห็นต่างจากเรา เราต้องไม่ทำให้เขารู้สึกไม่มีความหมาย ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามันโง่จังเลย เช่นเดียวกัน เราต้องไม่คิดว่า โห…ฉันฉลาดจังเลย หัวหน้าโง่จัง ไม่ควรคิดแบบนั้นเป็นอันขาด พี่คิดว่าเราควรเอาเหตุผลไปปรึกษาหัวหน้า คุยกับเขาดีๆ ว่าเราไปหาข้อมูลอะไรมาเพิ่มเติมแล้วคิดแบบนี้ และเราคิดว่ามันจะออกมาดีตรงกับโจทย์อย่างไร

 

แต่แน่นอนว่าในโลกแห่งความเป็นจริง บางทีหัวหน้าก็อาจจะไม่ฟังเรา จะด้วยเหตุผลของเรายังไม่ดีพอจริงๆ หรือด้วยอะไรก็แล้วแต่ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ พี่คิดว่าบางอย่างอาจจะต้องใช้เวลา มันอาจจะไม่ใช่โปรเจกต์นี้ก็อาจจะเป็นโปรเจกต์ต่อๆ ไป การเปลี่ยนคนมันไม่ง่ายและต้องใช้เวลา บางทีการทำให้คนลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องใช้เวลาและใช้เหตุผลเยอะเหมือนกัน แต่น้องอาจจะลองคิดแบบนี้ก็ได้ว่าวันนี้เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ซื้อใจเขาก่อน แล้วพอเขาเห็นฝีมือเรามากขึ้น เขาอาจจะค่อยๆ เปิดให้เราลองทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ใช่แค่ทาง A หรือ B หรือต่อไปเราพูดอะไรก็จะหนักแน่นขึ้น เขาฟังเรามากขึ้น อย่าเพิ่งคิดว่าเขาไม่ฟังเราในวันนี้แปลว่าเขาจะไม่ฟังเราตลอดไป ของแบบนี้ต้องใช้เวลากับฝีมือในการพิสูจน์

 

ชีวิตเรามันไม่ได้มีแค่ทาง A หรือ B นะครับ

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising