×
SCB Omnibus Fund 2024

สรุปประเด็น ‘กฎหมายข้อมูล และ เมตาเวิร์ส’ กับการนำไปปรับใช้ในเชิงธุรกิจ

13.11.2022
  • LOADING...
เมตาเวิร์ส

สรุปประเด็นด้านกฎหมายข้อมูล และ ‘เมตาเวิร์ส’ กับการนำไปปรับใช้ในธุรกิจ จากงาน ‘DataxMetaverse’ โดย ‘โลทาร์ ดิเทอร์แมนน์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายข้อมูลและเทคโนโลยีจาก BakerMcKenzie สหรัฐฯ ผู้ให้คำปรึกษาแก่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากในซิลิคอนแวลลีย์

 

โลทาร์ ดิเทอร์แมนน์ พาร์ตเนอร์ด้านกฎหมายของ Baker Mckenzie สาขาสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี ผู้ให้คำปรึกษาแก่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากในซิลิคอนแวลลีย์ ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองในงาน ‘DataxMetaverse’ ที่ประเทศไทย ณ สามย่านมิตรทาวน์ ถึงประเด็นด้าน ‘Data Monetization’ และ ‘Metaverse’ กับการนำไปปรับใช้ในโลกธุรกิจจริง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


Data Monetization 

โดยประเด็นแรกที่ได้กล่าวถึงในงาน นั่นก็คือ ‘Data Monetization’ หรือ ‘การนำข้อมูลมาใช้เพื่อหารายได้’ ซึ่งทางดิเทอร์แมนน์ชี้ว่า การนำข้อมูลมาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจนั้นมีมานานแล้วและหลายธุรกิจก็กำลังใช้อยู่ หากแต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจาณาสำหรับธุรกิจที่จะนำข้อมูลมาใช้ในยุคนี้ก็คือประเด็นที่ว่า ข้อมูลที่ธุรกิจนั้นๆ มีอยู่แล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้หรือพัฒนา เพื่อส่งเสริมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร (Data Analytics) 

 

ดิเทอร์แมนน์กล่าวว่า การนำข้อมูลไปต่อยอดหรือพัฒนาธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจยุคใหม่อย่างอีคอมเมิร์ซหรือบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่ธุรกิจดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในร้านเพื่อความปลอดภัย ซึ่งสามารถแปลงข้อมูลที่บันทึกจากกล้องไปใช้ในการวิเคราะห์ตำแหน่งของร้านที่ลูกค้าเข้าถึงมากที่สุด หรือสามารถตรวจจับว่าชั้นขายบริเวณไหนลูกค้าหยิบจับมากที่สุด 

 

อีกตัวอย่างคือธุรกิจประเภทบริการทางการเงินที่สามารถนำข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่ มาวิเคราะห์เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับลูกค้ามากที่สุด (Customization) 

 

สิ่งสำคัญอีกประการ ที่ทางธุรกิจไม่ควรพลาดเลยก็คือ การขอความยินยอม (Consent) ในด้านข้อมูลจากลูกค้า ที่ควรชี้แจงให้ละเอียดและสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุดที่จะเป็นไปได้แก่ลูกค้า ว่ามีประเด็นอะไรที่ลูกค้าควรรู้ เพราะหากเกิดปัญหาภายหลังอาจนำไปสู่การเสียความเชื่อมั่น (Customer Trust) จากลูกค้าได้

 

ดิเทอร์แมนน์ยังกล่าวว่า ‘Data Sharing is good to share but be thoughtful’ ซึ่งหมายถึงว่าหากธุรกิจจากต่างอุตสาหกรรมหรือต่างบริษัทสามารถซื้อขายหรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าระหว่างกันได้ (Data Sharing) ก็ยิ่งสามารถทำให้ตอบสนองต่อบริการลูกค้ายิ่งขึ้นไปอีกเช่นกัน หากแต่ธุรกิจนั้นๆ ก็ต้องคิดอย่างละเอียดถึงการขอความยินยอมในการได้ข้อมูลจากลูกค้ามา รวมไปถึงการเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นจากอาชญากรรมไซเบอร์อีกเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันดังกล่าวจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘Data Broker’ หรือ ‘Information Reseller’ ซึ่งเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธุรกิจ 

 

และหลังจากต่อยอดข้อมูลทางธุรกิจระหว่างกัน ประเด็นถัดมาก็คือการนำข้อมูลมาใช้ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนั้น (Data Sharing) ซึ่งต้องไปตรวจสอบว่า สอดคล้องกับประเด็นทางกฎหมายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากธุรกิจหนึ่งๆ ทำธุรกิจในหลากหลายภูมิภาค ก็ยิ่งต้องลงไปดูรายละเอียดด้านกฎหมายเพิ่มเติมว่า สอดรับกับกฎหมายของประเทศที่จะเข้าไปทำธุรกิจด้วยหรือไม่ โดยในประเทศฝั่งยุโรป การทำ ‘Data Sharing’ อาจถือเป็นเรื่องที่ถูกห้าม แต่ในสหรัฐฯ ก็อาจทำได้ภายใต้การกำกับดูแล เป็นต้น

 

สำหรับประเทศไทยที่เริ่มตื่นตัวในเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น จนเกิดเป็น PDPA (Personal Data Protection Act) ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการฟอร์มตัวขึ้นมาว่าจะไปในทิศทางใด ระหว่างกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) จากฝั่งยุโรป หรือกฎหมายด้านข้อมูลส่วนบุคคลจากฝั่งของสหรัฐฯ

 

ซึ่ง GDPR นั้นจะมีในลักษณะการกำกับดูแลทุกอย่างไปก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ฝั่งสหรัฐฯ นั้นจะใช้ลักษณะการเปิดกว้างให้แก่ประชาชนในการทำธุรกิจหรือทดลองได้อย่างอิสระก่อน และหากมีการละเมิดหรือผิดกฎหมายใดๆ ตามมา จึงจะค่อยไปกำกับดูแลเฉพาะส่วนในภายหลัง 

 

ภัทรพันธ์ ไพบูลย์ พาร์ตเนอร์ด้านกฎหมายจาก Baker McKenzie ประเทศไทย มองว่า เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมที่ต่างจากประเทศอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ไม่อาจจะสรุปได้ทีเดียวว่าเราจะไปในทิศทางของกฎหมายแบบประเทศใด หากแต่เราอาจจะต้องเลือกดึงข้อดีจากแต่ละประเทศมาปรับใช้ในแบบของคนไทยเราเอง

 

ทั้งนี้ ‘Data Monetization’ สามารถสรุปออกมาเป็นเคล็ดลับสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายไปยังต่างประเทศ ได้ 3 กรณี 

  • สำหรับกรณีแรกนั้น คือมีลูกค้าจากต่างประเทศมาเป็นลูกค้าของธุรกิจเราในประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ก็ควรดูความเข้มของกฎหมายของกลุ่มลูกค้าเราที่มาจากต่างประเทศว่าประเทศนั้นๆ มีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด 
  • สำหรับกรณีที่สอง คือมีการจ้างบุคคลที่สามหรือพาร์ตเนอร์ ในการเข้าไปในทำธุรกิจในต่างประเทศให้ ซึ่งก็ควรเข้าไปดูในรายละเอียดของสัญญาว่าเป็นอย่างไร
  • สำหรับกรณีสุดท้าย คือการไปตั้งบริษัทในต่างประเทศ ก็ควรจะต้องทำ ‘Full Blown’ หรือการตรวจเช็กกฎหมายในหลายประเทศพร้อมกัน เพื่อป้องกันข้อพิพาทและประเด็นทางด้านกฎหมาย

 

Metaverse

ในส่วนของประเด็นที่ 2 จากงานนี้ ก็คือ ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) ซึ่งดิเทอร์แมนน์ชี้ว่า ธุรกิจนั้นต่างสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับคำนี้กันทั้งนั้น คล้ายคลึงกับเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้าที่ทุกธุรกิจต่างสนใจจะเข้าไปทำ ‘นาโนเทคโนโลยี’ และ AI (Artificial Intelligence) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจควรคำนึงว่าแกนหลักของธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สอย่างไร และ หากมีส่วนร่วมได้ จะเข้าไปในฐานะอะไร เช่น ในฐานะผู้มีส่วนร่วม (Participant) หรือในฐานะผู้พัฒนา (Creator) รวมไปถึงความพิจารณาว่าเมตาเวิร์สที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมีเมตาเวิร์สเดียว หรือหลายๆ เมตาเวิร์ส ซึ่งมีความสำคัญในการวางกลยุทธ์ของธุรกิจเช่นเดียวกัน

 

ต่อข้อสังเกตที่ว่า ตัวกฎหมายเองจะสามารถปรับตัวได้ทันเมตาเวิร์สหรือไม่? ทาง ดิเทอร์แมนน์มองว่า กฎหมายที่มีอยู่แล้วนั้นค่อนข้างจะเพียงพอต่อโลกเมตาเวิร์สอยู่แล้ว หากแต่เป็นเรื่องของเวลาสำหรับธุรกิจ และผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะสามารถปรับข้อกฎหมายดังกล่าวให้เข้ากันได้อย่างไร 

 

ซึ่งดิเทอร์แมนน์มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ยุคที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นใหม่ๆ ซึ่งในเวลานั้น กฎหมายก็ค่อยๆ ปรับให้เข้าและทันกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตในภายหลัง

 

สำหรับปัจจัยพิจารณาสำหรับธุรกิจที่สนใจเข้าไปในโลกเมตาเวิร์สนั้น ดิเทอร์แมนน์แนะนำว่า คุณควรพิจารณาถึง 3 ปัจจัยสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์, กฎหมาย และฝ่ายบุคคล ว่าจะสามารถทำงานร่วมกันและให้เกิดผลิตผลจริงได้อย่างไร ทั้งยังย้ำว่า การปรับตัวของธุรกิจนั้นไม่จำเป็นต้องรับมาใหม่ทั้งหมด แต่ให้ทำจากสิ่งที่มีก่อนแล้วค่อยต่อยอดไปสู่เมตาเวิร์สก็ยังไม่สาย

 

ต่อข้อสงสัยว่า ในด้านมุมมองของปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาคในปัจจุบันจะส่งผลต่อการพัฒนาของบริษัทเทคโนโลยีเพียงใด ดิเทอร์แมนน์มองว่าการปรับฐานของตลาดทุนในรอบนี้ ต่างจากช่วง Dotcom Bubble หรือ ฟองสบู่ดอตคอม เนื่องจากบริษัทในช่วงนั้นจำนวนมากไม่ได้มีโมเดลทางธุรกิจใดๆ มารองรับเลยด้วยซ้ำแต่กลับมาเม็ดเงินไหลเข้าไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดทุนรอบนี้แม้จะขึ้นไปมาก แต่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากที่เข้ามาระดมทุนต่างมีโมเดลธุรกิจมารองรับที่จะสามารถรอดจากวิกฤตรอบนี้ไปได้

 

ท้ายที่สุด ดิเทอร์แมนน์ได้พูดถึง Big Trend หรือแนวโน้มสำคัญที่เขามองเห็นหลังจากการเกิดโควิดในครั้งนี้ว่า การกำกับดูแลจากภาครัฐต่อธุรกิจนั้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เคยมีมา ซึ่งบริษัทใหญ่ อย่างพวก Big Tech Company หรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่นั้น ต่างมีเงินอยู่มากมายก็สามารถกำเงินเหล่านั้นออกมาป้องกันตัวเอง และสามารถรอดจากวิกฤตนี้ไปได้ด้วยความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่มากขึ้น 

 

ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กนั้นย่อมได้รับผลกระทบจากกฎหมายเยอะพอสมควร และถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบริษัทเหล่านั้นที่จะรอดจากฝ่ายกำกับดูแลไปได้ ซึ่งดิเทอร์แมนน์แนะนำว่า การสื่อสารกับลูกค้าเยอะๆ และพยายามคิดถึงกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น จะสามารถช่วยให้ธุรกิจทุกรูปแบบสามารถปรับตัวและเอาตัวรอดจากวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising