×

ไขปมคาร์บอมบ์ลอบสังหาร ‘Daphne Caruana Galizia’ นักข่าวหญิงผู้เปิดโปงกรณีปานามา เปเปอร์ส

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย (Daphne Caruana Galizia) นักข่าวหญิงชาวมอลตา วัย 53 ปี เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารด้วยคาร์บอมบ์ เมื่อช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ผ่านมา ในระหว่างที่กำลังขับรถเช่าออกจากที่พัก
  • กาลิเซียได้รับการยกย่องจากการเป็นนักข่าวหญิงผู้กล้าหาญเพียงหนึ่งเดียวที่เปิดโปงข้อมูลการทุจริตและการคอรัปชันของผู้มีอิทธิพลในประเทศมอลตา ซึ่งพัวพันกับกรณีปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers)
  • นักการเมืองในประเทศมอลตาบางส่วนเชื่อว่าคดีฆาตกรรมในครั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อหวังผลทางการเมือง

     นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการสื่อมวลชน หลังช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคมตามเวลาท้องถิ่น ‘ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย (Daphne Caruana Galizia)’ นักข่าวหญิงชาวมอลตา วัย 53 ปี เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารด้วยคาร์บอมบ์ ปิดเส้นทาง 30 ปีนักวารสารศาสตร์ผู้กล้าหาญ

     แน่นอนว่าคดีฆาตกรรมของกาลิเซียในครั้งนี้มีเงื่อนงำและความไม่ชอบมาพากลในหลายๆ ประเด็น เนื่องจากเธอเป็นที่รู้จักในนามนักสื่อสารมวลชนหญิงผู้กล้าหาญเพียงหนึ่งเดียวที่กล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกรณีการเปิดโปงข้อมูลการทุจริตและการคอรัปชัน ‘ปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers)’

 

 

     เชื่อกันว่าผู้ก่อเหตุไร้มนุษยธรรมในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเหล่าผู้มีสี ผู้มีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘แฉ’ ข้อมูลการทุจริตโดยกาลิเซีย และเกิดความแค้นแบบฝังลึก จนตัดสินใจวางแผนลอบปลิดชีพเธอแบบโหดเหี้ยมและเลือดเย็นในที่สุด

     หลังการจากไปของกาลิเซีย ชาวมอลตาจำนวนหลายพันคนต่างเศร้าโศกเสียใจต่อเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก และได้ร่วมออกมาจุดเทียนไว้อาลัยให้กับเธอตามท้องถนนต่างๆ ในประเทศมอลตาเมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่สหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ได้ออกมาประณามการกระทำในครั้งนี้และเรียกร้องให้เกิดกระบวนการยุติธรรมหาผู้ก่อเหตุมารับโทษให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

 

รู้จัก ‘ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย’ นักข่าวหญิงผู้กล้าหาญจากประเทศเล็กๆ ในยุโรป

     ย้อนกลับไปในช่วงปี 1987 ดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย หญิงสาวชาวมอลตา วัย 23 ปี ตัดสินใจก้าวเท้าเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนด้วยการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ในประเทศ Sunday Times of Malta ก่อนที่เธอจะเติบโตในหน้าที่การงานเรื่อยๆ และก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการของ Malta Independent ในเวลาต่อมา

     คล้อยหลังได้ไม่นาน กาลิเซียตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว แต่ยังคงมีงานเขียนในฐานะคอลัมนิสต์ออกมาอยู่เรื่อยๆ กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอได้จัดทำบล็อกข่าวของตัวเองในนาม Running Commentary และเดินหน้าเผยแพร่บทความข่าวการเมืองออกมาเป็นส่วนใหญ่

     ผลงานชิ้นโบแดงของเธอในเส้นทางนักวารสารศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 หลังเปิดโปงข้อมูลการทุจริตและการคอรัปชันของผู้มีอิทธิพลในประเทศมอลตากับการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company) เพื่อทำการฟอกเงิน หลบเลี่ยงภาษี และปกปิดข้อมูลส่วนตัวซึ่งเชื่อมโยงกับกรณีปานามา เปเปอร์ส จนเป็นเหตุให้เกิดการสืบสวนผู้มีอิทธิพลของมอลตาครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

     ว่ากันว่าเธอเป็นนักข่าวมอลตาคนแรกและคนเดียวในช่วงเวลาดังกล่าวที่กล้ายืนหยัดออกมาต่อต้านผู้มีอิทธิพลด้วยการแฉข้อมูลการกระทำผิดของพวกเขาเหล่านั้น

 

 

     กาลิเซียเผยข้อมูลสำคัญในบล็อก Running Commentary ว่า นายคอนราด มิซซี (Konrad Mizzi) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมอลตา และนายคีธ เชมบรี (Keith Schembri) หัวหน้าทีมงานในคณะรัฐมนตรีของนายโจเซฟ มัสแคต (Joseph Muscat) มีความเชื่อมโยงบางอย่างกับกรณีปานามา เปเปอร์ส เนื่องจากทั้งคู่ได้รับความนับหน้าถือตาในประเทศนิวซีแลนด์และน่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทในปานามาขึ้นมาอย่างลับๆ เพื่อปกปิดกรณีการทุจริตได้ไม่ยาก

     กระทั่งเดือนเมษายน ปี 2016 ก็มีการยืนยันว่าทั้งมิซซีและเชมบรีเปิดบริษัทในประเทศปานามาในชื่อ บริษัท เฮิร์นวิลล์ (Hearnville), บริษัท ทิลล์เกต (Tillgate) และบริษัท โอไรออน (Orion) จริงๆ

     ในเวลาต่อมา กาลิเซียได้สืบสาวความไม่โปร่งใสดังกล่าวเพิ่มเติมก่อนแฉว่า มิเชล มัสแคต (Michelle Muscat) ภรรยาของนายโจเซฟ นายกรัฐมนตรีมอลตา และสมาชิกคณะรัฐบาลก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมทุจริตเช่นกัน โดยเชื่อว่าเธอเป็นผู้จัดตั้งบริษัท Egrant ในประเทศปานามา ก่อนที่ทั้งมิเชลและโจเซฟจะรีบออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวแบบทันควัน

     ผลพวงจากการแฉของกาลิเซียทำให้โจเซฟต้องออกมาประกาศเลือกตั้งทั่วไปของมอลตาในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็ยังลงเอยด้วยชัยชนะของพรรคแรงงาน Partit Laburista ของนายโจเซฟอยู่ดี ขณะที่เจ้าตัวยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศตามเดิมต่อไป ส่วนคอนราดก็แค่เปลี่ยนจากเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโยกมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว

     อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยกรณีการทุจริตในครั้งนั้นทำให้กาลิเซียได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ทั้งยังได้รับฉายาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะ ‘หญิงเดี่ยววิกิลีกส์ (one-woman WikiLeaks)’ หรือ ‘บล็อกเกอร์ผู้เกรี้ยวกราด (the blogging fury)’ โดยเธอยังได้รับการยกย่องจากสำนักข่าวการเมือง Politico ในสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนึ่งใน 28 บุคคลผู้สร้างความสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงและปลุกเร้ายุโรปในปีที่ผ่านมาอีกด้วย ทั้งยังก่อให้เกิดการจับตาเพ่งเล็งการทำงานของคณะรัฐบาลยุคนายโจเซฟจากประชาชนในประเทศเป็นพิเศษ

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับกาลิเซียในลมหายใจเฮือกสุดท้าย?

     หลังเผยแพร่บทความชิ้นสุดท้ายบนบล็อก Running Commentary ว่าด้วยการรายงานข่าวกรณีการขึ้นให้การต่อศาลของนายเชมบรี หัวหน้าทีมงานในคณะรัฐมนตรีของนายโจเซฟเมื่อช่วงเวลา 14.35 น. ของวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม กาลิเซียได้ขับรถเช่า รุ่น Peugeot 108 ออกมาจากบ้านพักของเธอในมอสตา เมืองทางตอนเหนือของประเทศ

     ครึ่งชั่วโมงให้หลัง รถของกาลิเซียก็เกิดระเบิดขึ้นทันที ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถแฮทช์แบ็ก 5 ประตูคันงามระเบิดออกไปคนละทิศละทางบนถนน เหลือเพียงซากเหล็กสภาพย่อยยับที่แทบไม่น่าเชื่อว่ามันเคยถูกเรียกว่า ‘รถยนต์’ มาก่อน เช่นเดียวกับร่างไร้ลมหายใจและชิ้นส่วนอวัยวะของกาลิเซียท่ีกระจัดกระจายบนท้องถนนแบบไม่มีชิ้นดี

     เชื่อกันว่าคนร้ายได้ติดตั้งระเบิดไว้ที่รถของเธอก่อนที่มันจะทำงาน และก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าครั้งนี้ขึ้น

     ฟรานซ์ ซานต์ (Frans Sant) พยานในที่เกิดเหตุและผู้ขับรถในเลนตรงข้ามกับทางที่รถกาลิเซียกำลังมุ่งหน้าไปให้การว่า “ผมเห็นระเบิดเล็กๆ เกิดขึ้นที่รถคันนั้น หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีมันก็เกิดระเบิดระลอกใหญ่ขึ้น รถคันนั้นร่วงลงจากหุบเขา ลื่นไถลด้วยความเร็วสูงและลุกโชนไปด้วยเปลวเพลิง มันอยู่ห่างจากผมไปประมาณ 10 ฟุตเท่านั้น ผมพยายามที่จะช่วยเธอแต่ไฟมันลุกไหม้จนเกินไป”

     ลูกชายของกาลิเซีย นายแมทธิว คารัวนา กาลิเซีย (Matthew Caruana Galizia) ที่เจริญรอยตามผู้เป็นแม่ด้วยการเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนออกมาประณามผู้ลงมือก่อเหตุฆาตกรรมนางกาลิเซียด้วยความเหี้ยมโหดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา

     เจ้าตัวเชื่อว่าสาเหตุที่แม่ของตนถูกฆาตกรรมเป็นผลจากการเปิดโปงคดีการทุจริตของผู้มีอิทธิพลในมอลตา ทั้งยังนิยามประเทศบ้านเกิดของตัวเองว่าเป็น ‘รัฐมาเฟียที่ถูกบริหารโดยอาชญากร’

     “แม่ของผมถูกลอบสังหารเนื่องจากเธอยืนหยัดอยู่ระหว่างกฎหมายและผู้ที่พยายามจะละเมิดมันเหมือนนักข่าวคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้เธอตกเป็นเป้าโจมตีเพราะเธอคือคนเดียวที่เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง นี่คือส่ิงที่เกิดขึ้นเมื่อสถาบันของภาครัฐไร้ความสามารถ ทำให้บ่อยครั้งผู้ยืนหยัดคนสุดท้ายก็คือนักข่าว และนั่นทำให้เธอกลายเป็นคนแรกที่ต้องจบชีวิตลง

     “ผมจะไม่มีวันลืมช่วงเวลาที่ผมวิ่งปรี่ไปยังทุ่งนรกผืนนั้น พยายามหาทางเปิดประตูรถของแม่ ขณะที่เสียงแตรของมันยังคงร้องต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าจะลดละ ผมตะโกนไปยังตำรวจสองนายที่กำลังดับเพลิงอยู่ ขณะที่พวกเขาได้แต่จ้องมองผมพร้อมบอกกลับมาว่า “ขอโทษจริงๆ ที่เราไม่สามารถทำอะไรได้”

     “นายตำรวจคนหนึ่งบอกว่าเขามองไปยังรอบๆ บริเวณดังกล่าวและเจอแต่ชิ้นส่วนร่างกายแม่รอบๆ ตัวผม นั่นคือช่วงเวลาที่ผมรับรู้ว่ามันไร้ความหวังแล้ว”

     มาร์การิทิส ชินัส (Margaritis Schinas) โฆษกประจำสหภาพยุโรปได้ออกมากล่าวประณามเหตุการณ์น่าสลดใจในครั้งนี้ ทั้งยังย้ำหนักแน่นอีกด้วยว่าคดีลอบสังหารกาลิเซียควรจะถูกสืบสวนและเร่งคลี่คลายให้กระจ่างโดยด่วน

     ด้าน แอนดรูว์ บอร์ก คาร์โดนา (Andrew Borg Cardona) ทนายความที่ทำงานกับสามีของกาลิเซียเชื่อว่ารัฐบาลมอลตาไม่ได้มีความพยายามที่จะปกป้องเธอเท่าที่ควร

     ภายหลังเกิดเหตุน่าสลดใจครั้งนี้ ชาวมอลตาทั้งประเทศต่างรู้สึกเศร้าสลดเสียใจและโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยประชาชนราวพันคนได้ร่วมกันออกมาจุดเทียนไว้อาลัยให้กับเธอตามท้องถนนต่างๆ ในประเทศมอลตาเมื่อช่วงเย็นของวันที่เธอเสียชีวิต รวมถึงออกมาประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักข่าวหญิงผู้จากไป

 

 

‘คดีฆาตกรรมเพื่อหวังผลทางการเมือง’ ใครฆ่ากาลิเซีย!?

     ‘อาชญากรเชมบรีได้ให้การต่อหน้าศาลในวันนี้ เพื่อหาข้อโต้แย้งว่าเขาไม่ได้กระทำการทุจริต’

     ‘ไม่ว่าคุณจะมองไปที่ไหนก็มีแต่คนโกงเต็มไปหมด สถานการณ์ตอนนี้มันสิ้นหวังแบบสุดๆ แล้วล่ะ’

     นี่คือพาดหัวและประโยคจบของข่าวชิ้นสุดท้ายที่กาลิเซียได้เขียนไว้ในบล็อกของเธอเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

     มีรายงานว่าก่อนที่โศกนาฏกรรมซึ่งครอบครัวกาลิเซียต้องเผชิญในขณะนี้จะอุบัติขึ้น นักข่าวหญิงจากมอลตาได้แจ้งความต่อตำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่าเธอถูกขู่ฆ่า แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ไม่ได้รับการคุ้มกันหรือความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น

     หลังเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีโจเซฟ ที่ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมนี้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวว่าป่าเถื่อนและไร้ความปราณีแบบสุดๆ โดยเขาจะเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้

     “สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเรื่องที่ผมจะไม่ยอมรับ นี่ถือเป็นวันที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพในการพูดของพวกเราตกต่ำและมืดหม่นแบบสุดๆ ผมจะไม่หยุดจนกว่าจะได้เห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

     อย่างไรก็ดี ไมเคิล บริกูกลิโอ (Michael Briguglio) หัวหน้าพรรคการเมืองสีเขียวในมอลตากล่าวว่า “เหตุการณ์ในครั้งนี้คือการฆาตกรรมเพื่อหวังผลทางการเมือง มันค่อนข้างชัดเจนเลยแหละว่ามีบริบททางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และรัฐบาลเองก็ไม่ได้พยายามใดๆ ทั้งสิ้นที่จะปกป้องนักข่าวที่ตกอยู่ในอันตราย”

 

 

     สอดคล้องกับความเห็นของ เอเดรียน เดเลีย (Adrian Delia) ผู้นำพรรคการเมืองชาตินิยม Partit Nazzjonalista ขั้วตรงข้ามของนายโจเซฟที่เชื่อเช่นกันว่าคดีฆาตกรรมกาลิเซียเป็น ‘การฆ่าเพื่อหวังผลทางการเมือง’ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของมอลตาประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ส่วนหัวหน้าตำรวจและอัยการสูงสุดของประเทศก็ควรจะถูกปลดจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

     ในเวลาต่อมาแมทธิวผู้สูญเสียคุณแม่อันเป็นที่รักไปได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมแสดงความต้องการให้โจเซฟ มัสแคต, คอนราด มิซซี, คีธ เชมบรี, คริส คาร์โดนา (Chris Cardona), อัยการสูงสุด และนายตำรวจในประเทศ ออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยด่วนที่สุด ทั้งยังกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีฆาตกรรมนางกาลิเซีย

 

 

     นอกจากนี้สำนักข่าว Times of Malta ยังได้รายงานอีกด้วยว่า ทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของกาลิเซียถูกแพร่ประกาศออกไป เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเชิงเฉลิมฉลองบนเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งแน่นอนว่านายตำรวจรายนี้ได้ถูกพักงานทันที และกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนการกระทำผิดอยู่

     สำหรับคดีลอบสังหารในครั้งนี้มีการยืนยันแล้วว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากเนเธอร์แลนด์และทีม FBI จากสหรัฐอเมริกาจะทำงานร่วมกัน เพื่อพยายามไขปริศนาการจากไปของนักข่าวหญิงผู้กล้าหาญรายนี้เพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

Photo: STR, Matthew Mirabelli/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X