×

ทางลัดนี้อันตรายนัก ประสาทหลอน หัวใจล้มเหลว นี่คืออันตรายของการใช้ยาลดความอ้วนที่ผิดกฎหมาย

30.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ยาลดน้ำหนักที่ถูกกฎหมายมี 2 กลุ่มเท่านั้น และต้องถูกสั่งจ่ายในสถานพยาบาลหรือโดยแพทย์ ร้านยาทั่วไปก็ไม่สามารถสั่งได้แม้จะมีใบอนุญาตจากแพทย์ก็ตาม
  • ยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนเทอร์มีน (Phentermine) หรือไดเอทิลโพรพิออน (Diethylpropion) ส่งผลให้มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น หากได้รับยาชนิดนี้มากเกินไปอาจทำให้มีอาการประสาทหลอน ก้าวร้าว ชัก และมีภาวะทางจิตได้
  • ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นยาต้องห้าม ถูกสั่งให้เลิกใช้ไปแล้วเพราะออกฤทธิ์กดประสาท อาจทำให้ประสาทหลอน รวมถึงเฟนเทอร์มีนในกลุ่มเดียวกันที่ส่งผลถึงขั้นติดยา

ใครๆ ก็อยากดูดี แต่การเลือกทางลัดเช่นยาลดน้ำหนักนั้นอาจส่งผลร้ายกว่าที่คุณคิด และอันตรายถึงชีวิต ข่าวกรณีที่มีผู้บริโภครับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนยี่ห้อลีน (Lyn) เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการออกมาเตือนผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวว่าเป็นยาอันตรายถึงชีวิต

 

ยาลดความอ้วนที่จัดเป็นชุดขายกันในออนไลน์ แท้จริงแล้วเป็นยาที่อันตรายและผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการลักลอบผสมสารต้องห้ามและมีส่วนผสมหลายชนิดที่ไม่ถูกต้อง และแม้น้อยคนจะรู้ แต่ยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนักนั้นมีไว้เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จำเป็นต้องใช้ยาลดน้ำหนักเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ยาลดน้ำหนักจึงไม่ใช่ยาที่สามารถซื้อมากินได้เอง แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อจากคนดังต่างๆ ที่มักไม่ได้ใช้เองก็ตาม เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหากไม่ระมัดระวัง และในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการการดูแลของแพทย์อยางใกล้ชิด

 

 

ยาลดน้ำหนักชุด เป็นยาที่เราเห็นบ่อย และมักไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่กลับมีการซื้อขายกันแพร่หลาย ทั้งที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน มีหลายสูตรหลายสรรพคุณที่ทำให้กินไปแล้วไม่รู้สึกอันตราย เช่น ใจไม่สั่น ไม่เกิดอาการโยโย่ (อาการน้ำหนักพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังหยุดยา) หรือไม่มีผลข้างเคียงใดๆ แต่แท้จริงแล้วจะมีใครรู้ว่ายาลดน้ำหนักชุดอาจมีการใส่สารหลายอย่างที่ทำให้ผลข้างเคียงหายไป ซึ่งสารบางชนิดเป็นอันตราย เพราะเป็นสารต้องห้าม และห้ามสั่งจ่ายหากไม่ใช่แพทย์ แต่ก็มีการลักลอบผสมลงไป นี่เองที่ทำให้ยาลดน้ำหนักชุดเป็นยาที่ผิดกฎหมาย

 

จากการพูดคุยกับ พญ.บัณฑิตา ด่านสุนทรวงศ์ สาขาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี ถึงกลุ่มของยาลดน้ำหนัก พญ.บัณฑิตากล่าวว่า “ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทหรือสมอง ทำให้เรารู้สึกหิวน้อยลง กินได้น้อยลง น้ำหนักจึงลดเร็ว กลุ่มที่สองคือช่วยลดการดูดซึมไขมัน ฤทธิ์อาจไม่แรงเท่ากลุ่มแรก เมื่อบริโภคเข้าไป ทำให้เราถ่ายออกมามีไขมัน ส่วนยากลุ่มอื่นอาจไม่ใช่ยาที่ลดน้ำหนักโดยตรงแต่มีส่วนในการช่วยให้น้ำหนักลด”

 

ยาทั้ง 2 กลุ่มที่ถูกกล่าวถึงเป็นยาที่สามารถใช้ได้และถูกต้องตามกฎหมาย ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยแต่ละกลุ่มจะทำให้มีอาการและผลข้างเคียงดังนี้

 

1.  กลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทหรือสมอง

เมื่อทานแล้วจะทำให้เราไม่รู้สึกหิว ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร ตัวยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น เฟนเทอร์มีน (Phentermine), เฟนไดเมตราซีน (Phendimetrazine), ไดเอทิลโพรพิออน (Diethylpropion) และไซบูทรามีน (Sibutamine)

 

“ไซบูทรามีนเป็นยาต้องห้าม ถูกสั่งให้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบนำมาผสมในยาลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาร้ายแรง เพราะทำให้เกิดอาการวูบหรือหัวใจล้มเหลว เนื่องจากยาออกฤทธิ์กดประสาท อาจทำให้เกิดประสาทหลอนได้” พญ.บัณฑิตากล่าว นอกจากไซบูทรามีนแล้ว เฟนเทอร์มีนก็ถือว่าเป็นยาอันตรายอีกตัวที่มีผลร้ายไม่ต่างกันจนถึงขั้นเกิดอาการติดยา

 

2.  กลุ่มช่วยลดการดูดซึมของไขมัน

กลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดการดูดซึมไขมัน ยาออริสเตต (Orlistat) จะทำให้ไขมันจะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้คืออาจทำให้ถ่ายบ่อย ปวดท้อง กลั้นอุจจาระยาก และทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่ละลายในไขมันอย่าง A, D, E และ K ที่ส่งผลต่อกระดูกและผิวพรรณ หลายคนเข้าใจว่าเป็นยาช่วยดักไขมันออกจากร่างกาย แต่ยาช่วยได้เพียงส่วนหนึ่ง ไขมันที่เหลือยังคงถูกดูดซึมเข้าร่างกายตามปกติ

 

ยาลดน้ำหนักควรใช้อย่างเหมาะสมหรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียง แม้แต่ยาที่ได้รับความนิยมก็มีการผสมสารต้องห้ามเหมือนกัน – พญ.บัณฑิตา ด่านสุนทรวงศ์

 

 

ยาชุดลดความอ้วนผิดกฎหมายอย่างไร

แม้ยาทั้ง 2 กลุ่มจะเป็นยาถูกกฎหมาย กระนั้นต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์จากสถานพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น ร้านยาทั่วไปไม่สามารถจ่ายยาดังล่าวให้ได้แม้จะมีใบอนุญาตจากแพทย์ ดังนั้น ยาชุดลดความอ้วนจึงถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะไม่ถูกสั่งจ่ายในสถานพยาบาลหรือโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

“แพทย์จะใช้แค่ยาที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะสมกับยาต่างชนิดกัน และยาลดน้ำหนักไม่ใช่ยาที่ใช้ในระยะยาว จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลและติดตามของแพทย์” พญ.บัณฑิตาพูดก่อนเสริมว่า “ยาบางชนิดไม่ควรรับประทานโดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัว อาทิ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะสารจากยาอาจตีกันและทำให้เคมีในสมองแปรปรวนได้”

 

 

ยาชุดลดน้ำหนัก นอกจากผิดกฎหมายเพราะไม่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แล้ว ก็มีการผสมส่วนประกอบหลายชนิดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตามข้อมูลจาก อย. (สามารถดูได้ที่นี่) สารที่พบในยาลดน้ำหนักชุดมีดังนี้

 

  • ยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนเทอร์มีนและแอมฟีพราโมน ยากลุ่มนี้ส่งผลให้มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น หากได้รับยาชนิดนี้มากเกินไปอาจทำให้มีอาการประสาทหลอน ก้าวร้าว ชัก และมีภาวะทางจิตได้
  • ยาระบาย ใช้เมื่อมีอาการท้องผูก หากนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วนอาจทำให้ร่างกายดื้อยาเมื่อทานเป็นระยะเวลานาน
  • ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ น้ำหนักจึงลดลง แต่ร่างกายเสียสมดุล ทำให้อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือเป็นลมได้
  • ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ไม่มีผลให้น้ำหนักลดลง แต่ผสมลงไปเพื่อให้ไม่เป็นโรคกระเพาะ เนื่องจากยาลดความอยากอาหารทำให้ไม่หิว แต่น้ำย่อยยังคงหลั่งอยู่
  • ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย น้ำหนักจึงลดลงเร็ว แต่ไม่ใช่ไขมันที่หายไป ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้โมโหง่าย ใจสั่น และอาจทำให้เกิดอาการไทรอยด์เป็นพิษ
  • ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ปกติยากลุ่มนี้จะใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ การผสมยาชนิดนี้ลงไปนั้นเพื่อลดอาการใจสั่นที่เกิดจากยาลดความอยากอาหาร ผลข้างเคียงคือเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ
  • ยานอนหลับ เนื่องจากยาลดความอยากอาหารทำให้เกิดอาการหลับยาก จึงมีการผสมยานอนหลับเข้ามาเพื่อลดผลข้างเคียง

 

 

ยาลดน้ำหนักชุดมีการผสมสารหลายอย่างเข้าด้วยกันเพื่อลดอาการข้างเคียงจากสารที่ทำให้น้ำหนักลด ที่ทำให้ดูเหมือนยาตัวนั้นๆ จะปลอดภัยและอาจทำให้น้ำหนักลดได้จริง แต่ทางลัดนี้ต้องแลกมาด้วยอันตรายที่คุณอาจไม่รู้ตัว ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ว่าจำต้องใช้ยาลดน้ำหนักหรือไม่ ก่อนจะหามารับประทานเอง เพราะผลที่ได้อาจส่งผลร้ายถึงชีวิต

 

พญ.บัณฑิตาบอกถึงความจำเป็นของการใช้ยาลดความอ้วนว่า หากไม่มีข้อบ่งชี้ หรือเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินจนอยู่ในระดับโรคอ้วน (BMI มากกว่า 30) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดความอ้วน หรือหากต้องการลดน้ำหนัก ก็ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

“สุดท้ายแล้วการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและได้ผลที่สุดคือ การปรับพฤติกรรมและออกกำลังกาย ยาอาจเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งเท่านั้น หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจกลับมาอ้วนได้อีก” พญ.บัณฑิตากล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านเรื่องออกกำลัง 100: วิธีพาร่างไปออกกำลังกายครั้งแรก ฉบับมนุษย์ตัวเตื้องไม่เคยเข้ายิมที่ง่ายกว่า 101 ได้ที่นี่

 

อ้างอิง:

FYI
  • คนดังอังกฤษจากรายการ Big Brother เคยถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลอย่างฉับพลันในวัย 20 ต้นๆ เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นจากการรับประทานแอลกอฮอล์ที่คลับแห่งหนึ่งขณะที่บริโภคยาลดน้ำหนักก่อนหน้า
  • เอโลซ์ เอมี แพร์รี วัย 21 ปี จากเมืองชิวส์บูรีในอังกฤษ เสียชีวิตหลังจากรับประทานยาลดความอ้วนที่ซื้อจากอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เกิดอาการที่คล้ายการเผาไหม้จากภายในจากสารเคมีที่มีพิษสูง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X