×
SCB Omnibus Fund 2024

Daikin ลดการใช้แร่แรร์เอิร์ธในการผลิตเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ หวังช่วยลดต้นทุน-ป้องกันปัญหาจีนไม่ยอมขายให้

10.10.2021
  • LOADING...
Daikin

Daikin บริษัทผู้ผลิตระบบทำความเย็นรายใหญ่ของโลกจากญี่ปุ่น ประกาศจะทยอยลดสัดส่วนการใช้แร่แรร์เอิร์ธในการผลิตเครื่องปรับอากาศของตัวเองลง 95% ภายในปี 2025 เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงปัญหาในการสั่งซื้อแร่ดังกล่าวจากประเทศจีนที่เป็นเจ้าตลาดของสินแร่ชนิดดังกล่าว

 

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ความต้องการและราคาของแร่แรร์เอิร์ธเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่เปลี่ยนไป ก็เริ่มทำให้จีนซึ่งครอบครองแร่แรร์เอิร์ธส่วนใหญ่ในโลก และเป็นผู้นำการส่งออกแร่ดังกล่าวมาใช้ต่อรองและกดดันประเทศอื่นๆ

 

Daikin ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแบบครบวงจร รวมถึงการพัฒนามอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศด้วย โดยในแต่ละปี Daikin ต้องผลิตมอเตอร์ที่มีแม่เหล็กที่มีส่วนผสมของแร่แรร์เอิร์ธ เช่น ดิสโพรเซียมและนีโอดิเมียม ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานความร้อนสูง มากถึง 6 ล้านชิ้น

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ Daikin ได้พัฒนามอเตอร์เครื่องปรับอากาศรูปแบบใหม่ที่ลดสัดส่วนการใช้แร่แรร์เอิร์ธได้ถึง 95% โดยที่ประสิทธิภาพไม่ได้ลดลง ทำให้บริษัทมีแผนจะนำมอเตอร์ชนิดใหม่นี้มาใช้แทนของเดิมในการผลิตเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ และจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่บรรจุมอเตอร์ชนิดใหม่นี้ภายในปี 2022

 

โดยบริษัทเชื่อว่าเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ที่ใช้แร่แรร์เอิร์ธในสัดส่วนที่น้อยลง จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทมีการปรับตัวขึ้นลงตามราคาของแร่แรร์เอิร์ธ

 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ความต้องการแม่เหล็กที่มีส่วนผสมของนีโอดิเมียมจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 60% ภายในปี 2030 เนื่องจากแม่เหล็กดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์การสื่อสาร ยานยนต์ไฟฟ้า และกังหันสำหรับผลิตไฟฟ้า

 

ในปี 2010 จีนเคยระงับการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธให้กับญี่ปุ่น หลังเกิดกรณีพิพาทในการอ้างสิทธิ์บนเกาะเตียวหยูหรือเกาะเซ็งกากุ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่ง ทุ่มงบวิจัยเพื่อศึกษาวิธีการผลิตสินค้าโดยไม่ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธ ซึ่งกรณีของ Daikin สะท้อนว่างานวิจัยของญี่ปุ่นได้เริ่มผลิดอกออกผลบ้างแล้วเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังต้องพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธในการผลิตสินค้าของตัวเองอยู่

 

ก่อนหน้านี้ Toyota Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นก็ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่น ในการพัฒนามอเตอร์ชนิดใหม่ที่ใช้แร่แรร์เอิร์ธในสัดส่วนที่น้อยมาก

 

อ้างอิง:


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising