บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่งประเมินว่า ทิศทางแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ แม้จะไม่ใช่ข่าวดีสำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จะส่งผลในแง่บวกต่อบรรดาสกุลเงินในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเงินหยวนของจีน ค่าเงินรูปีของอินเดีย และค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ ที่นักวิเคราะห์ประเมินกันว่าจะได้ประโยชน์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากนโยบายสกัดเงินเฟ้อของ Fed ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้สกุลเงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การหั่นอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ย่อมส่งผลบวกต่อสกุลเงินของตลาดทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งในครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ค่าเงินหยวน วอน และรูปี จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ Fed
Arun Bharath ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Bel Air Investment Advisors กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนต้องเผชิญกับข่าวคราวที่น่าผิดหวังจนบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสกุลเงินหยวน Bharath มองว่าทางการจีนย่อมไม่ปล่อยให้สกุลเงินของประเทศอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้โดยเด็ดขาด เห็นได้จากในทุกครั้งที่ผ่านมาจีนพยายามรักษาเสถียรภาพของเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ Bharath ยังมองว่า ปัจจุบันค่าเงินหยวนของจีนเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างอ่อนค่าลงในระดับหนึ่งอยู่แล้วจากภาวะการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ดังนั้น การที่ค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปอีกจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มจะหันมาใช้มาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการคลัง การปล่อยสินเชื่อ และการส่งเสริมมูลค่าทรัพย์สิน
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น หรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นลักษณะอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่จีนยังคงยึดมั่นกับการกำกับควบคุมค่าเงินหยวนอย่างเข้มงวด โดยในปีที่ผ่านมาค่าเงินหยวนของจีนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี ที่ 7.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อหยวน
นักวิเคราะห์อธิบายว่า ในกรณีที่ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงฤดูร้อน อาจทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแคบลง และบรรเทาแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนของจีน ทั้งนี้ ส่วนต่างของผลผลิตเป็นวิธีการเปรียบเทียบพันธบัตรผ่านความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนของแต่ละประเทศ
Simon Harvey หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ FX ของ Monex ระบุว่า ธนาคารกลางจีนหรือ PBOC ถือเป็นผู้เล่นหลักในการจัดการสกุลเงินผ่านโอกาสที่จะสามารถทำได้ผ่านการแก้ไขรายวัน มาตรการสภาพคล่อง ช่องทางการกำกับดูแล และการสั่งให้ธนาคารของรัฐเข้าแทรกแซงกลไกตลาด
ในส่วนของสกุลเงินรูปีของอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจได้รับประโยชน์จาก Carry Trade ในปีนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ค้ายืมสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างพันธบัตร
Anindya Banerjee รองประธานฝ่ายวิจัยสกุลเงินและอนุพันธ์ของ Kotak Securities กล่าวว่า มีการใช้ Carry Trade จำนวนมากเทียบกับสกุลเงินอื่น เช่น เยน หรือยูโร แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงในสหรัฐอเมริกาก็จะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยกว้างขึ้น ส่งผลให้เกิด Carry Trade ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นผลบวกต่อสกุลเงินอินเดียด้วย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าค่าเงินรูปีอาจแข็งค่าขึ้นท่ามกลางความหวังที่ธนาคารกลางอินเดียอาจผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ช้ากว่าธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากอินเดียไม่มีปัญหาเงินเฟ้อแบบเดียวกับที่ยุโรปหรืออเมริกา
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นถึง 82.82 รูปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลอดปี 2023 ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงราว 0.6% ซึ่งอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2022 ก่อนหน้าที่ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลง 11%
ในส่วนของค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมองเห็นสัญญาณผ่อนคลายมากขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนักวิเคราะห์อธิบายว่า ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำและมีวัฏจักรสูง (Low Yielding and Highly Cyclical Currency) ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ต่ำลงจะไม่เพียงแต่ลดแรงกดดันต่อค่าเงินวอนผ่านทางอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่แนวโน้มการเติบโตทั่วโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของค่าเงินวอนจะขึ้นอยู่กับขอบเขตการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ด้วย และคาดว่าค่าเงินวอนน่าจะเพิ่มขึ้นราวระหว่าง 5-10% หากว่า Fed มีการตัดลดอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่เงินวอนจะเพิ่มขึ้นเพียง 3% หาก Fed หั่นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย
ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็คาดว่าจะดีขึ้นในปี 2024 เช่นกัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์การเติบโตของเกาหลีใต้ไว้ที่ 2.3% ในปี 2024 และ 2025 สูงกว่าการเติบโตของปี 2023 ที่ผ่านมาที่ 1.4%
อ้างอิง: