Q: นอกจากเงินเดือนกับโบนัสแล้ว บริษัทดีๆ เจ๋งๆ เขาให้ผลประโยชน์พนักงานกันอย่างไรบ้างคะ
A: นอกจากการเติบโตในหน้าที่การงานแล้ว ผลประโยชน์ที่เราได้รับจากบริษัทเป็นอีกหนึ่งในสิ่งจูงใจให้เราอยากทำงาน รวมไปถึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่พนักงานใช้เพื่อพิจารณางานใหม่ บางคนอาจจะคิดว่าผลประโยชน์มีแต่เรื่องเงินเดือนและโบนัส แท้จริงแล้วผลประโยชน์ของพนักงานยังรวมไปถึงการรักษาพยาบาล วันลาหยุด ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ฯลฯ เพราะฉะนั้นเวลาจะพิจารณางาน อยากให้ลองดูทั้งแพ็กเกจว่างานนี้เราได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้าง อย่าดูแต่รูปแบบตัวเงินอย่างเดียว
สำหรับผมแล้ว ผลประโยชน์ที่ให้พนักงานเป็นการบอกว่าบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างไร งานที่ดีมาจากการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิดคนที่ดี เหมือนสมัยก่อนที่มีคำว่า ‘กองทัพต้องเดินด้วยท้อง’ เพียงแต่ในบริษัทนั้นพนักงานไม่ได้ ‘อิ่ม’ จาก ‘ท้อง’ อย่างเดียว กองทัพพนักงานจึงต้องได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเผลอๆ รวมไปถึงการดูแลคนรอบข้างพนักงานด้วยซ้ำ เมื่อพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาก็จะมีพลังไปไทำงานที่ดีออกมาได้
ถ้าพนักงานทำงานอย่างไม่มีความสุข ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควร เขาก็จะไม่มีความสุข พอเขาไม่มีความสุข เขาก็จะทำงานออกไปอย่างไม่มีความสุข งานที่ออกมาก็เป็นงานที่ไม่ดี เพราะเขาไม่ได้ทำอย่างเต็มหัวจิตหัวใจที่อยากจะทำ เพราะฉะนั้นก่อนจะออกไปดูแลลูกค้า บริษัทต้องดูแลพนักงานให้ดีก่อน
มันจะตลกมากนะครับถ้าเราเป็นบริษัทขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่พนักงานของเราสุขภาพไม่ดี นั่นเท่ากับเราเอาคนที่สุขภาพไม่ดีไปทำงานขายสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้า คุณว่าพนักงานจะ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่ตัวเองทำไหม และลูกค้าจะ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่บริษัทนำเสนอไหม
ในองค์กรสมัยใหม่ การออกแบบผลประโยชน์ให้พนักงานไม่ได้ทำหน้าที่เป็นการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานเท่านั้น แต่มันยังเป็นเครื่องมือในการสะท้อนตัวตนของแบรนด์นั้นด้วยว่าเขา ‘เชื่อ’ ในเรื่องอะไรบ้าง
Netflix ให้พ่อแม่มือใหม่ลาหยุดไปได้เลย 1 ปีเต็มเพื่อเลี้ยงลูก (ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด เขาให้ทั้งพ่อและแม่หยุด 1 ปีเต็ม!) รวมทั้งสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำงานแบบเต็มเวลาหรือเป็นพาร์ตไทม์ มันแสดงให้เห็นว่า Netflix เข้าใจว่าการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพเป็นเรื่องใหญ่ พ่อแม่จะได้ใช้เวลาในช่วง 1 ปีแรกกับลูกอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือเขาไม่ได้เห็นว่าหน้าที่การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของเพศใดเพศหนึ่ง เขาจึงอนุญาตให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงลาเลี้ยงลูกได้ Spotify ก็คล้ายกันครับตรงที่ให้พ่อแม่มือใหม่ลาหยุดไปได้ 6 เดือน แต่บวกอีก 1 เดือนสำหรับการทำงานแบบยืดหยุ่นที่จะกลับมาทำที่ออฟฟิศก็ได้ หรือจะแบบไหนก็แล้วแต่ และเจ๋งตรงที่สนับสนุนค่าเก็บไข่และค่าปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ด้วย ส่วน Pinterest นอกจากให้พ่อแม่ลาหยุดแล้วยังให้ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกด้วย เพราะเขาเข้าใจว่าการเป็นพ่อแม่มันไม่ง่ายเลย
ร้านแซนด์วิช Capriotti’s อนุญาตให้พนักงานลาไปดูกิจกรรมของลูกได้แบบที่หัวหน้าจะไม่ถามใดๆ อันนี้ก็น่ารักดีครับ เพราะแสดงว่าบริษัทไม่ได้มองเห็นการเป็นพ่อแม่แค่ช่วงที่ลูกเพิ่งเกิด แต่เห็นความเป็นมนุษย์ไปถึงตอนที่ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว และมีกิจกรรมต่างๆ ที่พ่อแม่คงไม่อยากพลาดโมเมนต์สำคัญของลูก เช่น งานแสดงของลูก หรืองานรับรางวัลต่างๆ ฯลฯ
บริษัทเกมออนไลน์ Zynga ให้คนรักหมาสามารถนำหมามาที่ทำงานได้ และยังออกแบบบริษัทให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงด้วย ทั้งลานดาดฟ้าสำหรับให้อาหารสัตว์เลี้ยง และน่าทึ่งกว่านั้นคือบริษัททำประกันให้สัตว์เลี้ยงด้วย อ่านดูเหมือนจะเป็นออฟฟิศที่วุ่นวายเละเทะ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเคสนี้ก็คือการเข้าใจว่าพนักงานมี ‘ห่วง’ อะไรบ้าง และบริษัทจะดูแล ‘ห่วง’ นั้นได้อย่างไร มันคือการมองไปอีกสเตปว่านอกจากดูแลพนักงานแล้วจะดูแลสิ่งที่พนักงานรักได้อย่างไรบ้าง ขนาดว่าทำประกันให้สัตว์เลี้ยงของพนักงานขนาดนี้ พนักงานที่รักหมาคงหมดห่วงเรื่องทิ้งหมาไว้ที่บ้านแล้วเหงาไปได้เลย
Salesforce มีงบให้ 1,000 เหรียญสหรัฐสำหรับพนักงานในการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลที่ใดก็ได้ตามที่ต้องการ และให้พนักงานลาไปทำประโยชน์ได้ 6 วันต่อปีแบบที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า Salesforce ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่พนักงาน แต่มองไปถึงว่าองค์กรจะส่งเสริมพนักงานให้ทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไรบ้าง
Airbnb ให้งบพนักงาน 2,000 เหรียญสหรัฐในการไปพักกับ Airbnb ที่ใดก็ได้ในโลก อันนี้ผมชอบมาก เพราะนอกจากจะให้พนักงานได้พักผ่อนแล้วยังเป็นกุศโลบายให้พนักงานเข้าใจถึงประสบการณ์ที่ลูกค้า Airbnb กำลังเจออยู่ โดยเปลี่ยนบทบาทจากพนักงานมาเป็นลูกค้าเอง นั่นทำให้พนักงานสามารถมองเห็นสิ่งที่ Airbnb จะพัฒนาได้ เห็นไหมครับว่าต่อให้ไปพักผ่อนให้สมองโล่ง แต่สุดท้ายพนักงานจะกลับมาพร้อมกับไอเดียว่าแบรนด์สามารถพัฒนาได้อีกจากการลงมือใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เจ๋งไหมล่ะครับ
Ben & Jerry’s ให้พนักงานกินไอศกรีมได้ฟรีวันละ 3 ไพนต์ และยังสนับสนุนให้พนักงานนำไอศกรีมกลับไปฝากคนที่รักด้วย Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กิจกรรมกลางแจ้ง มีทั้งจักรยาน สนามวอลเลย์บอล ลานโยคะ และสนับสนุนให้พนักงานออกไปเล่นเซิร์ฟ ส่วน Reebok ให้พนักงานเล่น CrossFit ได้ฟรี และสามารถเล่นระหว่างเวลาทำงานก็ได้ นี่ก็เป็นอีกเคสที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีวิธีทำให้พนักงาน ‘อิน’ ไปกับแบรนด์ได้อย่างไร จะขายไอศกรีมก็ต้องกินไอศกรีมจนเข้าใจ จะขายเสื้อผ้ากิจกรรมกลางแจ้งก็ต้องไปเล่นกีฬากลางแจ้ง จะขายอุปกรณ์กีฬาก็ต้องออกกำลังกาย เราทำผลิตภัณฑ์อะไรก็ต้องใช้ชีวิตแบบนั้นให้อินจริงๆ
Google มีคาเฟ่อาหารฟรีให้พนักงานทุกมื้อ กุศโลบายของ Google คือเมื่อมีอาหารฟรี พนักงานก็สามารถประหยัดเวลาได้เยอะ ประหยัดเงินได้มาก และสามารถใช้เวลาช่วงรับประทานอาหารในการรู้จักเพื่อนพนักงานด้วยกันได้มากขึ้น
ธนาคาร Goldman Sachs มีงบให้พนักงานผ่าตัดแปลงเพศได้ และอย่าเพิ่งคิดว่าเพิ่งมี เขามีมาตั้งแต่ปี 2008 โน่น! นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแบรนด์นี้เชื่อในความเท่าเทียมทางเพศ และถ้าจะมีพนักงานอยากผ่าตัดแปลงเพศอย่างที่เขาอยากจะเป็น บริษัทก็พร้อมจะสนับสนุน
ในประเทศไทยที่ผมเคยเจอกับตัวเองและคิดว่าเป็นผลประโยชน์ที่น่ารักและพนักงานเองก็ต้องการ เช่น การให้พนักงานลาหยุดในวันเกิดได้ เท่ากับพนักงานจะมีวันหยุดเพิ่มมาอีก 1 วันทุกคน และเวลาจับฉลากปีใหม่ บางทีบริษัทไม่ต้องลงทุนของรางวัลใหญ่โตอะไรมากมายครับ ให้มีของรางวัลเป็นวันลาหยุดเพิ่ม 1 วัน พนักงานก็ตื่นเต้นแล้ว (แต่รางวัลใหญ่ก็ยังต้องมีอยู่นะครับ ฮ่าๆ)
อีกเคสที่ผมเคยเจอกับตัวเองก็คือเมื่อพนักงานทำงานจนครบจำนวนปีที่บริษัทกำหนด บริษัทจะให้วันลาหยุดเพิ่มแบบ ‘บังคับให้หยุด’ รวดเดียว 10 วันเพื่อบังคับให้พนักงานไปพักผ่อน ผมว่าอันนี้น่าสนใจมาก เพราะพนักงานที่ทำงานมาหลายปีติดต่อกันจะรู้สึกเหนื่อยล้า การได้วันหยุดเพิ่มแบบให้หยุดรวดเดียว 10 วัน (แล้วถ้าเล็งพวกวันหยุดยาว วันหยุดฟันหลอ ติดวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วใช้สิทธิ์นี้นะคุณเอ๊ย! บางทีแทบจะได้หยุด 3 สัปดาห์!) ทำให้พนักงานได้พักผ่อน ได้ทบทวนตัวเอง ได้ท่องเที่ยวเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ได้ไปใช้เวลากับคนที่เขารัก มันช่วยให้พนักงานรีเฟรชตัวเองได้ใหม่ ไม่อย่างนั้นทำงานนานๆ ก็เหี่ยวเหมือนกันนะครับ แต่เคสนี้จะเวิร์กมากขึ้นถ้าบริษัทมอบเงินสมทบให้พนักงานไปเที่ยวด้วย ฮ่าๆ
อีกเคสที่ผมชอบมากคือมีบริการนวดให้พนักงาน เวลาทำงานเหนื่อยๆ เครียดๆ พอได้ไปนวดแล้วชีวิตดีขึ้นมากครับ แค่นี้ก็ทำงานต่อได้แล้ว ผมว่าหลายคนก็คงอยากได้นะครับ
บางทีสิ่งที่พนักงานต้องการอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียวนะครับ ผมเคยอยู่ในบริษัทที่ให้พนักงานโหวตว่าอยากให้ออฟฟิศปรับปรุงอะไร เราพบว่าข้อหนึ่งที่พนักงานอยากได้คือตู้เสื้อผ้า เพราะงานที่ทำอยู่จำเป็นต้องเดินทางออกไปเจอลูกค้าบ่อย บางทีมีงานที่ต้องแต่งตัวเยอะ ถ้ามีตู้เสื้อผ้าเอาไว้เก็บเสื้อผ้าได้ก็จะดีมาก
ผมแนะนำว่าถ้าอยากรู้ว่าพนักงานอยากได้อะไรให้ไปคุยกับพนักงานเยอะๆ เราจะพบว่าเขาต้องการชีวิตที่มากไปกว่าเรื่องเงิน แต่ต้องการคุณภาพชีวิตด้วย ถ้าเราสามารถทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทมีสิ่งแวดล้อมแบบที่เขาอยู่แล้วมีความสุข และเห็นว่าพนักงานมีความสำคัญจริงๆ พนักงานก็จะอยากอยู่กับเราครับ ลำพังแค่การฟาดด้วยเงินอย่างเดียวไม่พอจูงใจให้คนเข้ามาทำงานหรอกครับ
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผมอยากจะทำให้เห็นว่าสิ่งที่พนักงานมองหาไม่ใช่เพียงแค่เงินเดือนและโบนัส แต่บริษัทสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งจากตัวอย่างที่เห็นจะพบว่าหลายองค์กรออกแบบผลประโยชน์ที่มอบให้พนักงานให้มีความแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ และเพื่อ ‘สร้าง’ พนักงานให้มีชีวิตที่ ‘อิน’ ไปกับแบรนด์ที่เขาทำอยู่ ไปจนถึงใช้ผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับเพื่อแสดงถึงจุดยืนของบริษัทที่มีต่อประเด็นทางสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วการดูแลพนักงานก็จะทำให้บริษัทได้งานที่ดีจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน
คิดไปอีกสเตปหนึ่ง ผมคิดว่าบริษัทที่ดีคือบริษัทที่ทำให้พนักงานสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตของเขาได้ ถ้าลองได้ไปคุยกับพนักงาน เราจะพบว่าแต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน อย่าคิดแต่ว่าพนักงานมาทำงานเพราะต้องการแต่เงินอย่างเดียวนะครับ แต่ให้มองไปอีกสเตปว่าแล้วเขามองหาอะไรในชีวิต อะไรเป็นเป้าหมายของเขา ถ้าบริษัทสามารถตอบโจทย์นั้นได้ หรือส่งเสริมให้เขาไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ผมคิดว่านั่นเป็นบริษัทที่ดี
หลายครั้งบริษัทถามหางานที่ดีจากพนักงาน แต่ลืมดูว่าบริษัทมีอะไรไปแลกเปลี่ยนกับพนักงานเพื่อให้ได้งานที่ดีหรือเปล่า ก่อนจะเป็นผู้รับต้องเป็นผู้ให้ก่อน ถ้าบริษัทให้พนักงานก่อน บริษัทก็จะได้รับจากพนักงานเช่นเดียวกัน พนักงานก็ควรคิดได้ว่าถ้าบริษัทดูแลดีขนาดนี้ก็ควรจะทำงานให้สมกับที่เขาดูแลดี เพราะฉะนั้นหากอยากได้งานที่ดี บริษัทก็ต้องดูแลพนักงานให้ดีก่อน และเมื่อพนักงานได้รับการดูแลดีก็ควรต้องทำงานให้ดีสมกับคุณค่าที่เขามอบให้
เพราะเราต่างเป็นผู้ให้และผู้รับไปพร้อมกันทั้งคู่ คุณว่าไหมครับ
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์