×

สัญญาณแรกของ ‘น้อย วงพรู’ การเตรียมตัวก่อนกลับสู่เส้นทาง ‘ดนตรี’ (ตอนที่ 1)

02.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • พรู (Pru) คือหนึ่งในวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกยุค 90s ที่เรียกได้เต็มปากว่าโด่งดังในระดับตำนาน ด้วยดนตรีที่แตกต่าง สำคัญที่สุดคือคาแรกเตอร์บนเวที ทั้งการร้อง การเต้น จังหวะเอ็นเตอร์เทน เต็มไปด้วยลีลาเป็นเอกลักษณ์ ส่งให้น้อย นักร้องนำของวง ได้รับการจดจำในฐานะศิลปินที่เฟอร์ฟอร์มดีที่สุดตลอดกาล
  • เพลง Empty ในอัลบั้มเดี่ยวที่เกือบจะเสร็จของน้อย คือหนึ่งในเพลงที่เขารักมาก ลึกซึ้งไปยิ่งกว่านั้น ความจริงมันเป็นเพลงที่เขาแต่งไว้ในช่วงสุดท้าย และสมาชิกวงพรูยังเคยซ้อมเล่นเพลงนี้ด้วยกัน ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจยุบวงในเวลาต่อมา
  • “น้อยสงสารคนที่เปิดร้านอาหารแล้วไม่เวิร์กนะ เขาตั้งใจตกแต่ง เตรียมโน่นเตรียมนี่ แต่ถึงเวลาแล้วไม่มีใครมาเลย ซึ่งส่วนมากร้านอาหารก็มักจะไปไม่รอดนะฮะ มีอยู่น้อยร้านมากที่เปิดแล้วจะอยู่ได้นาน มันก็ไม่ต่างจากน้อยที่ตั้งใจทำอัลบั้ม แล้วถ้าคนไม่ฟัง มันก็เจ็บ”

     สัญญาณโทรศัพท์ของ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ไม่เคยมีเสียงดนตรี  แต่สบายใจเถอะว่าเมื่อเขาว่างพอจะกดรับ เสียงที่ปลายสายจะตอบกลับมาอย่าง ‘สุภาพ’ รุ่มรวยไปด้วยท่าทีเกรงอกเกรงใจ

     “ได้ครับ” – คือจุดเริ่มต้น

     น้อยตอบตกลงว่าจะให้ทีมงาน THE STANDARD ติดตามความเคลื่อนไหวชีวิตในช่วงนี้ บอกเลยว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น เพราะเขากำลังซุ่มทำงานอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ซึ่งตอนนี้เรียกได้ว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว หลังจากบ่มมันมานานเกือบจะครบสิบปี ซึ่งก็พอๆ กับระยะเวลาที่วงพรูหายไปจากวงการดนตรี

     โดยเฉพาะครึ่งปีมานี้ แฟนเพลงมักจะพบสัญญาณใหม่เกี่ยวกับงานดนตรีของน้อยอยู่เรื่อยๆ เขาเริ่มรับงานโชว์ และกลับมาเล่นดนตรีแบบฟูลแบนด์ได้พักใหญ่แล้ว … ถึงแม้จะยังเป็นโชว์ในสนามเล็ก เป็นการเล่นตามผับ สถานที่เที่ยวกลางคืน แต่เขาบอกว่านี่คือการเตรียมความพร้อม และต้องการเคาะ ปะ ผุ ขัดสนิม พร้อมพ่นสี เพื่อรอคอยวันที่จะกลับมาอย่างเต็มตัวกับอัลบั้มเดี่ยวที่คาดว่าจะแฟนเพลงจะได้ฟังกันในช่วงปลายปี

เวลาเรากลับมาเล่นใหม่ เราก็ต้องทำตัวเหมือนเป็นศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก

แล้วก็ทำโชว์นั้นๆ ให้ออกมาดีที่สุด เต็มที่ที่สุด น้อยพยายามจะคิดแบบนั้นนะฮะ

 

12 / 06 / 2560

16.30 น. Bird Sound Studio ย่านมีนบุรี

     บ่ายวันที่อากาศร้อนอ้าว เสียงดนตรีในห้องซ้อมขนาดเล็กดังต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว Bird Sound Studio ย่านมีนบุรี คือห้องซ้อมขนาดกะทัดรัดของเบิร์ด Desktop Error วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกที่โดดเด่นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา

    หลังจากซ้อมกันอยู่พักใหญ่ น้อยก็ออกมาทักทาย เขาใส่เสื้อยืดเนื้อบาง กางเกงขาสั้น ความจริงถ้าเห็นรองเท้าแตะของเขาที่ใส่มาซ้อม ใครจะนึกว่านี่คือเจ้าของโรงแรม The Siam ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่นี่แหละคือน้อย วงพรู เขาเป็นคนเรียบง่าย และมักจะมาพร้อมบุคลิกถ่อมตัว ติดเกรงใจเสมอ  

     ในช่วงพักซ้อม เรามีเวลาในช่วงนี้ได้คุยกับน้อย ก่อนที่เขาจะกลับไปซ้อมร่วมกับเพื่อนร่วมวงอีกครั้งเพื่อโชว์สำหรับคืนวันพรุ่งนี้ที่ร้าน Loyshy ย่านราชเทวี

     “ความจริงช่วงนี้มันเป็นเรื่องขั้นตอนของการทำงาน เวลาเราหาคนมาเล่นด้วยกันใหม่ เราก็หวังว่าเขาจะอยู่กับเราไปนานๆ แต่มันก็ต้องใช้เวลากว่าจะเจอคนที่ใช่ ยกเว้นเท็ดดี้ (ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน) ที่เขาเล่นกับน้อยมานานเป็นสิบปีแล้ว เราเลยคุ้นหู รู้ใจกันดี แล้วเท็ดดี้เขารู้จักกับนักดนตรีรุ่นใหม่เยอะมาก

     “น้อยอยากจะสารภาพว่าเท็ดดี้เขาเป็น musician ที่แท้จริงมากกว่าน้อย” นักดนตรีอดีตนักร้องนำวงพรูหัวเราะเขิน เสียงพัดลมขนาดใบพัดใหญ่คอยช่วยไล่ไอร้อนออกจากห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องดนตรี มีพื้นที่เหลืออยู่อีกไม่มากที่เหมาะจะให้เรานั่งคุยกัน แต่พูดก็พูดเถอะ เวลาผู้ชายคุยกันด้วยเรื่องของดนตรี โดยเฉพาะกับคนที่มีฝัน ถึงบางอย่างจะขลุกขลักไปบ้าง แต่มันก็ขลังพอที่จะดึงเรื่องราวบางอย่างออกมา

     เท็ดดี้ที่เขาหมายถึงคือนักดนตรีรุ่นน้อง มือกีตาร์สมาชิกวง Flure ที่ดนตรีเชื่อมโยงพวกเขาถึงกันมาตลอดกว่าสิบปี

     เท็ดดี้เล่านอกรอบให้ฟังว่า เขารู้จักน้อยมาตั้งแต่เริ่มต้นทำวง Flure ร่วมกับกลุ่มเพื่อนที่เบเกอรี่ มิวสิค เพราะน้อยมาช่วยแต่งเพลงให้ แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็มักจะมีโปรเจกต์ร่วมกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะโปรเจกต์สุดเฟลในตำนานอย่าง ‘รามเกียรติ์ ตอน นางลอย นาฏกรรมแห่งรักแอนด์โรล’ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปารองเท้าและทะเลาะกันระหว่างน้อยกับเสก โลโซ แน่นอนว่าเท็ดดี้เองก็ยืนร่วมเหตุการณ์อยู่บนเวทีเดียวกันด้วย

     “บางทีเวลามองจากข้างนอก เราไม่รู้ว่าเขาเป็นคนที่เปราะบางไง แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนอ่อนไหวและเปราะบางมาก ครั้งแรกที่ได้เจอกับมุมตรงนี้ของเขา ผมจำได้ว่ามันคือคอนเสิร์ตของวงพรูที่คณะวิศวกรรม จุฬาฯ เมื่อหลายปีก่อน สำหรับผมมันคือโชว์ที่พีกมาก สนุกมาก แต่พอเล่นจบ พี่น้อยก็หายตัวไปเลย ตอนนั้นผมถามทุกคนว่าพี่น้อยไปไหนเหรอ แล้วก็เหมือนจะมีใครสักคนบอกขึ้นมาว่าพี่น้อยไปอยู่ใต้เวที คือเขาหลบไปทำใจ พอได้ยินผมก็รู้สึกว้าว… แล้วก็ตามลงไปดู ซึ่งก็จริงด้วย แกนั่งอยู่ในท่าเดียวกับอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ในหนัง Terminator นึกออกไหม

     “พอเห็นเราก็เฮ้ย! มันคือยังไงกันแน่เนี่ย ถึงเวลาโชว์เขาก็ใส่เต็ม แต่พอโชว์จบ ผู้ชายคนนี้ก็ emotional ดีจัง ซึ่งมันเป็นบทเรียนให้เราด้วยว่า เวลาเล่นคอนเสิร์ตเราต้องใส่เต็ม คืออย่างน้อยถึงคนฟังจะไม่รู้จักเรา แต่ถ้าเขาเห็นความทุ่มเทในสิ่งที่เราเชื่อ ผมว่าเขาน่าจะเปิดใจให้กับเพลงของเราได้ง่ายขึ้น

     “ผมว่าพี่น้อยเป็นคนสอนผมเรื่องนี้นะครับ” – เท็ดดี้ย้ำ

 

 

     กลับไปที่น้อย วงพรู ตอนนี้เขายังมีอีกหลายเรื่องที่อยากบอกเกี่ยวกับการเตรียมงานในช่วงนี้ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมวง ที่ส่วนใหญ่เท็ดดี้นี่แหละเป็นคนจัดมาให้

     “น้อยไม่ได้เป็นคนที่เล่นดนตรีอะไรได้มากมาย เรื่องของทักษะดนตรี เราไม่ได้ถนัด น้อยแค่เป็นคนสร้างเพลงขึ้นมา แล้วเพอร์ฟอร์มมันบนเวที

     “เท็ดดี้เขาก็เลยช่วยหาคนมาเล่น โดยเฉพาะครั้งแรกๆ ที่เขาชวนเบิร์ดมาช่วย (อดิศักดิ์ พวงอก ตำแหน่งกีตาร์ และสมาชิกคนสำคัญของวง Desktop Error) ซึ่งเขาก็ช่วยได้มากทีเดียว มันทำให้น้อยเข้าใจถึงความสำคัญของการได้เจอกับคนที่ ‘ใช่’

     “ปกติเพลงของวง Desktop Error จะไปทางอัลเทอร์เนทีฟอยู่แล้ว ซึ่งก็อาร์ตมากๆ ก่อนหน้านี้น้อยก็เกรงใจเบิร์ดเหมือนกัน เพราะเพลงของน้อยบางเพลง อย่าง Live and Learn หรือ ยังรอคอยเธอเสมอ ก็ค่อนข้างป๊อปเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ถึงเวลาซ้อมเราก็จูนกันติด แล้วเสียงกีตาร์ที่เขาเล่น หรือเครื่องมือที่เขาใช้ทำเสียงโน้นเสียงนี้ ซึ่งน้อยไม่นึกว่าจะเกิดขึ้นได้ เขาเป็นนักดนตรีที่อิมโพรไวส์ได้ดี เล่นกีตาร์ได้หลายรูปแบบ เก่งมากๆ

     “เมื่อก่อนในสมัยเป็นวงพรู เราเคยชินกับซาวด์ที่มีสุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) เล่นกีตาร์ แต่เมื่อถึงวันที่เราทำอัลบั้มเดี่ยว มันก็ต้องเริ่มค้นหานักดนตรีคนใหม่ๆ ที่ทำให้เราตกใจได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีฮะ

     “อีกอย่างในอัลบั้มใหม่ ซาวด์มันก็ต่างไปจากตอนเป็นวงพรูด้วยนิดหน่อย เมื่อก่อนเรามีเครื่องดนตรีแค่กีตาร์ เบส กลอง แต่ในอัลบั้มนี้มันมีเครื่องดนตรีมากขึ้น ซาวด์มันเต็มกว่า วงเราในตอนนี้เลยจำเป็นต้องมีมือคีย์บอร์ดที่สร้างพลังได้ ขณะเดียวกันเขาก็ยังต้องร้องคอรัสได้ด้วย เพราะอัลบั้มนี้จะมีเสียงคอรัสเยอะ ซึ่งเมื่อก่อนตอนร้องกับวงพรู น้อยจะร้องอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้วงเรามีขวัญเป็นมือเบส (ขวัญชนก พันธุระ ตำแหน่งเบส อดีตสมาชิกวง Pink) เขาก็จะช่วยร้องคอรัสได้ด้วย ส่วนมือกลองก็ได้ผักบุ้ง (ณัฏฐณิชา เงินคำ ตำแหน่งกลอง สมาชิกวง Blues Tape) ซึ่งเด็กที่สุดในวง เพราะเขาอายุ 20 กว่าเอง กว่าจะลงตัวแบบในตอนนี้เลยต้องใช้เวลาเรียนรู้ บางคนมาเล่นแค่โชว์สองโชว์ก็รู้เลยว่าเขาอาจจะไม่ใช่

    “อย่างครั้งหนึ่งวงเราเคยมีมือคีย์บอร์ดเป็นชาวอเมริกัน หล่อมาก (หัวเราะ) แฟนเพลงผู้หญิงจะชอบมาก เพียงแต่แนวทางที่เขาเล่นมันอาจจะยังไม่ค่อยเข้า… น้อยว่าเพลงป๊อปไทยมันจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาอาจจะยังแคปเจอร์ได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาเติบโตมากับดนตรีป๊อปอีกแนวหนึ่ง ซึ่งมันก็สำคัญนะครับ

     “ฉะนั้นพูดตามตรง มือคีย์บอร์ดที่เจอวันนี้เขาก็เป็นคนใหม่ที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก ซึ่งน้อยชอบเติ้ล (คัมภิรดา แก้วมีแสง ตำแหน่งคีย์บอร์ด สมาชิกวง Two Pills After Meal) เพราะเขาเล่นได้สองมือ แล้วยังร้องคอรัสได้ด้วย แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกหน่อยว่าเล่นด้วยกันแล้วจะเป็นยังไง

 

 

     “บางคนถามว่าทำไมในวงถึงมีผู้หญิงเยอะ แต่สิ่งดีที่น้อยสังเกตเห็นคือ ผู้หญิงมีความละเอียดและตั้งใจกว่ากว่าผู้ชายนะฮะ พวกผู้ชายเขาจะเล่นดนตรีแบบเน้นฟีล ความจริงมันก็ไม่ต่างกับตอนไปโรงเรียนที่เด็กผู้หญิงจะเรียนเก่งกว่า พวกเขาจะทำการบ้านเยอะ

     “น้อยยกตัวอย่างหนังเรื่อง Zero Dark Thirty ที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าทีมในการตามล่าโอซามา บิน ลาเดน ซึ่งน้อยเคยอ่านหนังสือ เขาอธิบายประวัติของ CIA (Central Intelligence Agency หรือสำนักข่าวกรองกลาง) ว่า ส่วนมากคนที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้วพยายามสังเกตหาว่าพวกตัวไม่ดีคือคนไหน คนที่ทำหน้าที่นี้เป็นผู้หญิงเยอะมาก เพราะคุณสมบัติของเขาจะเป็นคนใจเย็น มีความละเอียด และทำการบ้านเยอะ แล้วพอต้องหานักดนตรีมาเล่นด้วย น้อยก็เลยรู้สึกว่าอยากลอง แล้วพอได้เล่นด้วยกัน เคมีของทุกคนก็เข้ากันได้ดี

     “แล้วน้อยว่านะ ช่วงนี้ศิลปินผู้หญิงก็เยอะกว่าเมื่อก่อน หมายถึงเยอะกว่าเจเนอเรชันของน้อยนะครับ”

 

    กลายเป็นว่าในตอนนี้คุณถูกรายล้อมไปด้วยนักดนตรีรุ่นใหม่ แถมส่วนใหญ่ยังเป็นผู้หญิง ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่ทำงานเพลงวงพรู ที่ร่วมงานกับพี่ชายและเพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน

     “วงเราในตอนนี้ก็รวมอยู่ด้วยกัน 3 เจเนอเรชันนะ คือเจเนอเรชันน้อย ถัดไปก็จะเป็นเจเนอเรชันเท็ดดี้ ที่อายุน้อยกว่าสิบปี ส่วนเบิร์ดก็จะเด็กกว่าเท็ดดี้ไปอีก 5 ปี แล้วรุ่นต่อมาคือผักบุ้ง ที่จะห่างกับน้อยอยู่ 2 หรือ 3 เจเนอเรชัน (หัวเราะ) หรืออย่างขวัญเอง เขาก็เป็นนักเล่นเบสอย่างแท้จริง ทุกคืนเขาต้องเล่นตามผับแบบมืออาชีพที่ทำมาหากินด้วยการเล่นเบสจริงๆ ซึ่งขวัญเขาก็ respect กับอาชีพของตัวเองอย่างมาก แต่ความจริงโชว์ของน้อยในตอนนี้ยังไม่ได้เยอะมาก มันก็แค่ประมาณเดือนละครั้งหรือสองครั้ง

     “แต่ถ้าเราปล่อยอัลบั้มใหม่ออกมาและเริ่มมีสปอนเซอร์ มีงานผับทัวร์ที่ช่วยให้เราได้ไปเล่นที่โน่นที่นี่ ส่วนตอนนี้ แค่มีบางคนรู้ว่าน้อยอยากรับโชว์ น้อยอยากกลับมาเล่น คือที่ไหนก็ได้ที่ชวนน้อยไปเล่น น้อยอยากจะไปหมด”  

 

 

     เกี่ยวด้วยไหมว่าการที่เราได้เล่นก็เหมือนการได้เคาะสนิม ได้จูนกับเพื่อนร่วมวง และได้เตรียมตัวเตรียมใจกับตัวเอง ก่อนที่อัลบั้มใหม่จะคลอดออกมา

     “สำหรับตัวเอง น้อยว่ามันเหมือนนักฟุตบอลที่บาดเจ็บหรือไม่ได้ลงเล่นนานๆ พออยากจะกลับมา เขาก็ต้องลงไปฝึกฝนตัวเองในสนามที่อาจจะเล็กลงสักหน่อย หรืออาจจะลงเล่นในเวลาสัก 30 นาที ยังไม่ได้ลงไปเล่นอย่างเต็มที่ หรืออย่างนักฟุตบอลดังๆ ที่โค้ชให้เขาลงไปเล่นกับทีม B ก่อนเพื่อที่จะฝึกฝน เรียกความฟิต หรือสร้างความคุ้นเคยกับคนดู เพราะบรรยากาศมันก็เปลี่ยนไปมากจากสิบปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้บางคนก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายทั้งโชว์เลย ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ชิน

     “เมื่อก่อนเวลาโชว์ เราอาจจะพลาดโดยไม่มีคนเก็บภาพอะไรได้ (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเราพลาดอะไรขึ้นมา คนก็เห็นหมด

     “อีกอย่างการกลับมาเล่นโชว์ก็เป็นการทดสอบเพลงใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเราก็ได้รู้ว่าอย่าไปเล่นเพลงใหม่มากจนเกินไป

     “น้อยเข้าใจคนดูนะว่าเขาก็อยากฟังเพลงเก่า อยากฟังเพลงฮิตที่เขาจะอินตามไปด้วยได้ ซึ่งถ้าเกิดเราเล่นเพลงใหม่เยอะ มันก็เป็นการเห็นแก่ตัวมากเกินไป เพราะถ้าเราเป็น professional ในเมื่อคนจ้างเรามา เราก็ต้องให้ในสิ่งที่เขาต้องการด้วย”  

 

     หมายความว่านอกจากจะได้เคาะสนิม ตัวเราเองในขวบวัย 40 กว่าก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่กับแฟนเพลงในยุคสมัยนี้ด้วยเหมือนกัน

     “ใช่ฮะ เราก็เริ่มรู้ว่าเล่นเพลงไหนแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก บางเพลงคนอาจจะไม่รู้จัก แต่เล่นปุ๊บคนก็ชอบเลย

     “มันมีบางเพลงนะครับที่น้อยเข้าใจว่าบางคนอาจจะอยากฟัง แต่ถ้าเพลงนั้นน้อยไม่ได้อินกับมันจริงๆ หรือฝืนมากๆ ก็คงจะไม่เล่น พูดตรงๆ เลยก็ได้ อย่างเช่นเพลง นางฟ้า ของวงพรู ที่แฟนเพลงอาจจะชอบ แต่โดยส่วนตัวน้อยไม่ได้ชอบเพลงนี้มากมายสักเท่าไร แต่ช่วงหลังคนเริ่มบอกเยอะว่าน้อยน่าจะเล่นนะ เพราะแฟนเพลงบางคนเขาขอมา ซึ่งน้อยก็อาจจะต้องเริ่มเล่นแล้ว

     “อีกอย่างคือกาลเวลามันก็ช่วยน้อยไว้เหมือนกันนะฮะ เพราะเพลงฮิตส่วนใหญ่ของวงพรูจะอยู่ในอัลบั้มแรก แต่เวลาออกไปโชว์ เซตเพลงของน้อยก็ยังเล่นเพลง ‘รักคุณ’ ซึ่งอยู่ในอัลบั้มที่ 2 ซึ่งมักจะเป็นเพลงเปิดตัวที่ดีของโชว์ เพราะตอนนั้นคนดูยังไม่อินเต็มที่ ซึ่งเล่นแล้วจะได้อารมณ์ ไม่รู้นะ แต่น้อยมักจะเล่นมันเป็นเพลงแรกเสมอเลย (หัวเราะ)

     “ย้อนกลับไปในสมัยวงพรูออกอัลบั้มที่ 2 ความจริงตอนนั้นปล่อยเพลง รักคุณ ออกมาแล้วก็ไม่เวิร์กนะฮะ หลังจากนั้นเราเลยรีบปล่อยเพลงป๊อปออกมา ชื่อเพลง ‘โปรด’ ที่น้อยร้องกับอรอรีย์ (อรอรีย์ จุฬารัตน์) แต่สถานการณ์ก็ยังไม่เวิร์กอีก สมัยโน้นเพลง โปรด เลยแทบจะไม่ได้เล่น

     “แต่หลังจากช่วงสิบปีที่ผ่านมา คนฟังในเจเนอเรชันใหม่เขาเริ่มค้นหาเพลงฟัง แล้วคนที่ชื่นชอบแนวเพลงของวงพรูเขาก็เริ่มรีเควสต์เพลง โปรด ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างเป็นเพลงที่สำคัญมากในเซตลิสต์

     “โลกโซเชียลดีตรงนี้นะฮะที่มันทำให้คนเรียนรู้กับเพลงได้ แต่ภาพรวมของเซตลิสต์ก็สำคัญ เพราะคนส่วนมากจะชอบที่น้อยร้องเพลงช้าซะเยอะ น้อยก็สารภาพว่าเสียงน้อยเหมาะกับเพลงช้ามากกว่าเพลงเร็ว มันเลยยิ่งต้องระวัง เพราะบางโชว์กลายเป็นว่าเราเล่นเพลงช้าอารมณ์เดียวกันหมด

     “น้อยว่าถึงตอนนี้ วงเรามีประมาณ 10 เพลงที่เล่นกันค่อนข้างลงตัวแล้ว”

 

 

     “การทำอัลบั้มที่ใช้เวลาผ่านมานานถึง 10 ปี มันน่าจะเป็นระยะเวลาที่ทำให้คุณมั่นใจกับงานเพลงได้พอสมควร” ผมถาม 

     “เราก็มีความฝันไม่ต่างจากหลายๆ คน” น้อยหยุดคิดแล้วเล่าต่อ “มีเพลงหนึ่งที่น้อยเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวตรงนี้ไว้นะว่า ทุกคนก็มีความฝันเล็กๆ น้อยๆ อยากเปิดร้านอาหาร และมันเศร้ามากเวลาเราขับผ่านร้านอาหารแล้วไม่มีคนเข้าไปกิน อืม… น้อยสงสารคนที่เปิดร้านอาหารแล้วไม่เวิร์กนะ เขาตั้งใจตกแต่ง เตรียมโน่นเตรียมนี่ แต่ถึงเวลาแล้วไม่มีใครมา ซึ่งส่วนมากร้านอาหารก็มักจะไปไม่รอดนะฮะ มีอยู่น้อยร้านมากที่เปิดแล้วจะอยู่ได้นาน

     “มันก็ไม่ต่างจากน้อยที่ตั้งใจทำอัลบั้ม แล้วถ้าคนไม่ฟัง มันก็เจ็บ

     “มีอยู่เพลงหนึ่งที่น้อยเขียน มันเป็นเพลงที่น้อยรักมาก ซึ่งเท่าที่เคยเล่นมา คนดูก็มักจะคอนเน็กต์กับเพลงนี้นะฮะ ตอนนี้เพลงยังไม่มีชื่อภาษาไทย มีแต่ชื่อภาษาอังกฤษว่า Empty (ว่างเปล่า) เนื้อหามันเกี่ยวกับความผิดหวัง คือคนมักจะสอนให้ฉันต้องเดินเส้นทางของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะศิลปิน เราอย่าไปตามใคร อย่าไปก๊อบปี้ใคร …แต่เพลงนี้เกี่ยวกับคนที่เดินไปบนเส้นทางของตัวเองแล้วตอนหลังก็เฟล ชีวิตไม่เวิร์ก… หรือว่าที่ผ่านมาเขาควรจะตามคนอื่นบ้างก็ได้ สิ่งที่เขาพูดในช่วงสุดท้ายของเพลงก็คือ ‘แม้ว่ามันจะไม่เวิร์ก แต่ว่าอย่างน้อยฉันก็เดินบนเส้นทางของฉัน’ ฉะนั้นแม้แต่คนที่คิดจะเปิดร้านอาหาร หรือศิลปินที่อยากจะมีอัลบั้ม ในเมื่ออยากทำ ก็ต้องทำในสิ่งที่เป็นเรา เพราะอย่างน้อยเราก็ภูมิใจในความเป็นเรา เลือกแล้วบนเส้นทางของเรา ฉะนั้นสำหรับน้อย ทำแล้วผลออกมามันจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็แล้วแต่… มันคือ 12 เพลงที่ใช่ และน้อยทำมาตลอดหลายปี

     “แล้วพูดตรงๆ น้อยเข้าใจว่าการเขียนเพลงที่เรารู้สึกว่าเพราะนี่ยากมาก… เราก็หวังว่าคนฟังจะชอบ

     “อย่างเพลงอื่นที่ 3-4 ปีหลังน้อยเขียนขึ้นมาใหม่ ซึ่งคิดว่าเก็บไว้ก่อนดีกว่า ถ้าเกิดน้อยจะมีอัลบั้มใหม่ในอนาคตแล้วค่อยใช้ เพราะกลัวว่าถ้าเอาทุกอย่างมาใส่ไว้ในอัลบั้มนี้ อัลบั้มต่อไปอาจจะไม่ดีพอ

     “อีกอย่างน้อยก็ต้องเซฟ เพราะรู้ว่าไม่มีใครเขียนเพลงเพราะไปตลอดกาลได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับพอล แม็กคาร์ตนีย์ ของ The Beatles เอง ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งเพลงที่เขาเขียนก็ไม่เหมือนกับเพลงอย่าง Let It Be แล้ว หรือแม้แต่วง U2 เองก็ตาม อัลบั้มในหลังช่วงๆ ยังไงก็ไม่เพราะเท่าช่วงแรก อันนี้ในมุมมองของน้อยนะครับ  

     “น้อยว่าจินตนาการของทุกคนมันจะมีช่วงพีก มันเป็นช่วงที่บางคนเขียนเพลง 10 เพลงแล้วเพราะหมดเลย แต่พอแต่งเพลงไปเรื่อยๆ อายุมากขึ้น เขาอาจจะเขียนเพลงเพราะออกมาได้ แต่อาจจะกลายเป็น 1 ใน 10 เพลง ศิลปินทุกคนเป็นแบบนี้ทั้งหมด ตัวน้อยเองก็เชื่อมั่นในเรื่องนั้น เลยเข้าใจว่ากว่าโอกาสที่เพลงเพราะจะเกิดขึ้นมามันไม่ง่าย ฉะนั้นน้อยก็เลยต้องดูแลรักษามันให้ดี”

 

 

     ถ้าอย่างนั้นในอัลบั้มใหม่ทั้ง 12 เพลงที่คนฟังจะได้ยิน คุณพอใจกับมันขนาดไหน

     “พูดตามตรงนะ ใน 12 เพลงที่มีอยู่ในตอนนี้น้อยแฮปปี้กับมันมาก โดยเฉพาะ 2 เพลงแรกที่น้อยรักมากจริงๆ คือเพลงชื่อ Empty ที่เล่นโชว์มาเสมอ และรู้สึกว่ามันก็เวิร์กเสมอกับคนดูนะ หมายถึงว่าคนดูก็อิน แต่กับโชว์วันพรุ่งนี้ คนดูอาจจะไม่อินก็ได้นะ” (หัวเราะ) แต่เท่าที่เล่นมา อีก 5 คนในวงเขาเล่นแล้วก็อินไปด้วยเหมือนกัน

     “แต่ความจริงมันก็เป็นเพลงที่ยากนะครับ เพราะเพลงมันยาวตั้ง 7 นาที ความจริงน้อยอยากตัดมันเป็นซิงเกิลนะครับ แต่ใครจะฟังเพลงที่ยาวตั้ง 7 นาที… (คิด) ความจริงมันก็ไม่ต่างจากสมัยทำอัลบั้มกับวงพรูนะครับ ตอนนั้นเพลงโปรดที่น้อยชอบมากที่สุดเท่าที่เคยเขียนมาคือเพลงที่ชื่อว่า ‘Pru’ ซึ่งตอนที่เราปล่อยอัลบั้มนั้นออกมา เพลงมันก็ยาว 7 นาทีเหมือนกัน จะเอาไปเปิดที่คลื่นวิทยุก็ไม่ได้ เพราะเพลงมันยาวไป แต่ถ้าจะตัดให้สั้นลงก็ไม่เวิร์กอีก หรือจะเอามาทำมิวสิกวิดีโอมันก็ยาว สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย แต่ว่าสมาชิกวงทั้ง 4 คน หรือกับแฟนเพลงที่รู้จักกับมันจริงๆ ก็ชอบเพลงนี้มาก

     “พอมาถึงอัลบั้มนี้กับเพลง Empty ก็เหมือนกัน ชอบเพลงนี้มาก แต่น้อยอยากจะดื้อ เพราะไม่อยากรู้สึกพลาดเหมือนเพลง Pru ที่ไม่ได้ทำมิวสิกวิดีโอ เพราะเราคิดว่ามันคือเพลงที่ยาวเกินไป ฉะนั้นยังไงก็ตาม น้อยจะทำมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ จะส่งมันไปตามคลื่นวิทยุ ส่วนเขาจะเลือกมาเปิดให้คนฟังหรือเปล่าก็แล้วแต่ น้อยจะไม่ตัดให้มันสั้นลง และไม่ว่าผลของมันจะออกมาเวิร์กหรือไม่เวิร์ก แต่เท่าที่ทราบคือน้อยกับเพื่อนในวงชอบมันมาก แค่นี้ก็พอแล้ว”

 

     บางครั้งนักดนตรีก็ต้องตามใจตัวเองด้วยเหมือนกัน

     “ใช่ครับ น้อยอยากจะเอาใจตัวเอง

     “น้อยชอบมันมากเลย น้อยว่าความหมายมันซึ้งดี

     “ความจริง Empty มันเป็นเพลงที่น้อยได้เล่นกับวงพรูด้วยนะฮะ ตอนนั้นวงพรูกำลังจะเลิก เพราะอัลบ้ัมที่ 2 ออกมาไม่เวิร์ก เบเกอรี่ มิวสิคกำลังจะปิด สุกี้ก็เศร้า ชีวิตส่วนตัวของเขาในช่วงนั้นก็ไม่ค่อยดี จำได้ว่าวันนั้นน้อยบอกเขา ‘ไอมีเพลงใหม่จะเล่นนะเว้ย’ เป็นเพลงชื่อว่า Empty ไอเพิ่งเขียนมาวันนี้ แล้วทุกคนก็เล่นด้วยกัน เพียงแต่มันเป็นวันที่ไฟในตัวของทุกคนหมดแล้ว แล้วพอวงเลิกไป น้อยก็เลยเก็บเพลงนี้เอาไว้

     “แต่มองโลกในแง่ดี สมัยนี้คนชอบดูยูทูบ ไม่แน่ว่าเขาอาจจะยอมดูเอ็มวีที่ยาว  7 นาทีก็ได้”  

 

13 / 06 / 2560

22.00 น. ร้าน Loyshy ย่านราชเทวี

 

 

      คลื่นคนที่จองบัตรไว้ล่วงหน้ามากันเต็มความจุของร้าน

     ก่อนขึ้นเล่น น้อยนั่งคอยผมอยู่แล้ว เราคุยกันเล็กๆ น้อยๆ ถึงความพร้อมทั้งเรื่องส่วนตัวและหัวจิตหัวใจภายใน เขายิ้มและเตือนว่าอาจจะพูดไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะดื่มเบียร์เข้าไปหลายแก้วแล้วก่อนเราพบกัน

     “ตื่นเต้นไหม” – ผมถาม

     “ไม่หรอกฮะ เพราะไม่ว่าจะสมัยเล่นกับวงพรูหรือเล่นกับใคร เราก็ตื่นเต้นเสมอ ไม่เคยเปลี่ยน เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละโชว์จะออกมาเป็นยังไง บางทีคนอาจจะมาไม่เยอะมากก็ได้

 

 

     “เวลาเรากลับมาเล่นใหม่ เราก็ต้องทำตัวเหมือนเป็นศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วก็ทำโชว์นั้นๆ ให้ออกมาดีที่สุด เต็มที่ที่สุด น้อยพยายามจะคิดแบบนั้นนะฮะ

     “เราต้องคิดเหมือนสมัยที่เรายังเด็กๆ คือมีคนจ้างเรามาร้องเพลง เล่นดนตรี เราก็ต้องเต็มที่ไม่ว่าจะเล่นที่ไหน อาจจะเป็นในผับเล็กๆ หรือในอิมแพ็ค อารีน่า เราก็ต้องเต็มที่ เพราะว่ามีคนดูกำลังรอคอยโชว์จากเราอยู่ น้อยว่ามันเป็นเรื่องของ professionalism

     “อีกอย่าง ถึงเราจะพูดกันเสมอว่าศิลปะไม่ควรจะเกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่ว่าศิลปินทุกคน เราหนีให้พ้นจากตรงนี้ไปไม่ได้ นอกจากคุณจะอยากเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนหรือในถ้ำของคุณ แต่ถ้าเมื่อไรที่เดินออกมาข้างนอกเพื่อก้าวไปสู่อีกสเต็ป มันก็เป็นเรื่องของความรับผิดชอบที่คุณจะต้องเป็นมืออาชีพ คุณก็ต้องเต็มที่และเตรียมพร้อมกับมัน

     “นั่นเป็นสิ่งที่รู้สึก และน้อยเองก็มักจะโอเวอร์เสมอว่าแบบ… น้อยต้องเต็มที่ว่ะ”

     เขาหัวเราะท่ามกลางเสียงผู้คนในผับ ในร้านเหล้า ที่กำลังรอคอยโชว์ของเขา คืนนั้นน้อยเริ่มต้นโชว์ด้วยเพลง รักคุณ …เพลงที่เขาบอกไว้ว่ามักจะเลือกเป็นเพลงเปิดของโชว์ในช่วงนี้ สปอตไลต์ส่องฉาบลงบนชุดเสื้อยืดสีขาว กางเกงขายาว และรองเท้าหนัง วันนี้น้อยดูเนี้ยบขึ้นกว่า 2-3 ครั้งหลังที่เจอกัน แต่ถึงยังไงมันก็ยังเป็นลุคที่เหมาะกับเขา …เสียงดนตรีขึ้นแล้ว เสียงกรี๊ดตามมา ช่วงเวลาพิเศษของทั้งเขาและแฟนเพลงเริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

     … ไม่รู้ กี่ครั้ง ที่ฉันนั้นไม่อยู่

     ที่ฉันได้หลงทางห่างหายไป ก่อนนั้นไม่เคยจะรู้

     แต่ว่าวันนี้ ฉันพบแล้ว จะอยู่ตรงนี้และเฝ้าดู

     เมื่อไรเธอรู้สึกเศร้าเสียใจ ต่อจากนี้ฉันพร้อมจะอยู่

 

     เพราะฉันยัง รักคุณ

     เพราะฉันยัง รักคุณ…  (รักคุณ – อัลบั้ม Zero)

 

 

     (พบกับตอน 2 เร็วๆนี้)

FYI
  • ว่าแต่น้อย วงพรู คือใคร?

     ถามกับวัยรุ่น นักฟังเพลงยุคใหม่ อาจจะพอคุ้นชื่อ ขณะที่บางคนอาจลืมไปแล้วว่า ‘วงพรู’ ที่ทำหน้าที่ให้กับ ‘น้อย’ ไม่ต่างกับนามสกุล หมายถึงหนึ่งในวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกในยุค 90s ที่เรียกได้เต็มปากว่าโด่งดังในระดับตำนาน ด้วยดนตรีที่แตกต่าง สำคัญที่สุดคือคาแรกเตอร์บนเวที ทั้งการร้อง การเต้น จังหวะเอ็นเตอร์เทน เต็มไปด้วยลีลาเป็นเอกลักษณ์ ส่งให้น้อยได้รับการจดจำในฐานะศิลปินที่เฟอร์ฟอร์มดีที่สุดตลอดกาล

  • วงพรูมีผลงานออกมา 2 สตูดิโออัลบั้ม ซึ่งมันเต็มไปด้วยเพลงและซาวด์ดนตรีที่ยอดเยี่ยม  

     ความโด่งดัง โดยเฉพาะกับอัลบั้มแรก (Pru, 2544) ที่เกือบทั้งอัลบั้มเต็มไปด้วยเพลงฮิต ส่งให้ในช่วงปี 2545 วงพรูได้รับรางวัลศิลปินไทยยอดนิยมจาก MTV Asia Awards 2002 เอาชนะทั้งโดม-ปกรณ์ ลัม, มาช่า วัฒนพานิช, ทาทา ยัง และ ธงไชย แมคอินไตย์ ทั้งที่กำเนิดขึ้นจากค่ายเพลงอินดี้ขนาดเล็ก (เบเกอรี่ มิวสิค) แต่หลังจากความล้มเหลวของสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 (Zero, 2547) ใน 3 ปีต่อมา พวกเขาช็อกแฟนเพลงด้วยการตัดสินใจยุบวง…

  • แต่โลกก็อย่างนี้ เพราะทุกจุดจบมักจะมาพร้อมกับจุดเริ่มต้น หลังจากนั้น ‘น้อย วงพรู’ สร้างตัวตนใหม่ของเขาบนบนโลกภาพยนตร์ผ่านผลงานการแสดง ปีที่ผ่านมาเขารับบทมหาโจร ‘อัลฮาวียะลู’ ใน ขุนพันธ์ (2559) หนังไทยอีกเรื่องที่สร้างทั้งชื่อและรางวัลให้เขาอีกหลายตัว… ขณะเดียวกัน ไฟกับงานดนตรีก็ไม่เคยหมด และนี่น่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะเพื่อนร่วมวงของเขาในตอนนี้ล้วนเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่อาจจะสร้างความแตกต่างให้กับอัลบั้มเดี่ยวของเขาในอนาคต
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X