การจะหาคำจำกัดความของศิลปินชื่อ ไมเคิล โจเซฟ แจ็กสัน (Michael Joseph Jackson) อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ภายในหนึ่งประโยคหรือหนึ่งบทความ
ไมเคิล แจ็กสัน คือบุคคลต้นแบบในวัยเด็กของหลายคนที่พยายามเลียนแบบท่าเต้น Thriller หรือ Moonwalk ในเพลง Billie Jean แล้วพอโตจนพ่อแม่อนุญาตให้ดูช่อง MTV ก็เป็นไมเคิล แจ็กสัน คนเดิมที่ทำให้เราต้องทุบกระปุกออมสินเพื่อไปซื้อเทปคาสเซตในวันที่อัลบั้มใหม่วางแผง (เด็กยุคปลาย 70s ต้องมีอัลบั้ม Off the Wall ยุค 80s อัลบั้ม Bad และยุค 90s ต้องเป็นอัลบั้ม Dangerous)
แน่นอนว่าหลายๆ บทเพลงของผู้ชายคนนี้ได้กลายมาเป็นเพลงประกอบชีวิตของเราในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพลง Don’t Stop Til’ You Get Enough ตอนจะออกไปเที่ยวกลางคืน เพลง You Are Not Alone ฟังปลอบใจตอนอกหัก เพลง Heal the World ตอนโลกตกอยู่ในภวังค์และต้องการกำลังใจ หรือเพลง Beat It ที่ต้องใช้เพื่อปลุกตัวเองออกจากเตียงทุกเช้า
พูดได้ว่าถึงแม้เขาจะจากไปแล้วหลายปี แต่ไมเคิลยังมีส่วนสำคัญต่อชีวิตคนดนตรีอย่างมากมาย และเราอาจต้องสรรหาคำที่ให้ความหมายมากกว่าคำว่า ‘ตำนาน’
ภาพถ่ายแบบนิตยสาร Vanity Fair โดย Annie Leibovitz ในปี 1989
ก้าวแรก ก้าวสำคัญ
ไมเคิล แจ็กสัน เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1958 ที่เมืองแกรี รัฐอินดีแอนา เป็นลูกคนที่ 8 ของครอบครัวที่มีลูกทั้งหมด 10 คน (เจเน็ต แจ็กสัน คือลูกคนสุดท้อง) และอาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่มีแค่สองห้อง ในสมัยนั้นยังมีปัญหาการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งคนแอฟริกัน-อเมริกันมักใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินหรือนักกีฬา เพราะเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้และไม่ถูกกดขี่ทางสังคม
ตั้งแต่วัยเด็ก ไมเคิลถือได้ว่าหลงรักดนตรีแบบหัวปักหัวปำ เขาหลงใหลนักแสดงภาพยนตร์มิวสิคัลในตำนานอย่าง เฟรด แอสแตร์ (Fred Astaire) และจีน เคลลี (Gene Kelly) เป็นพิเศษ ซึ่งเราจะเห็นไมเคิลนำลวดลายการเต้นของพวกเขามาใช้ในผลงานเพลงตลอด เช่น Smooth Criminal
การสร้างรากฐานทางดนตรีของไมเคิลเริ่มในปี 1964 ที่เขาได้ร่วมร้องแบ็กอัพให้กับวงดนตรีของพี่ชาย ก่อนที่ในปีต่อมาเขาได้ขยับขึ้นมาเป็นนักร้องนำในวงที่ตั้งชื่อว่า The Jackson 5 วงนี้เริ่มต้นจากการซ้อมดนตรีในห้องรับแขกเล็กๆ บ้านของพวกเขา โดยมีคุณพ่อ โจ แจ็กสัน (Joe Jackson) เป็นผู้ควบคุมอย่างเคร่งครัด และมีการลงไม้ลงมือกับไมเคิลด้วย ตามที่ไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ The Oprah Winfrey Show ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนตราบาปอยู่ในใจเขาเสมอมา
ปี 1969 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวง The Jackson 5 หลังจากที่พวกเขาได้ไปเดบิวต์การแสดงที่รายการ The Ed Sullivan Show และได้รับคำชื่นชมล้นหลาม โดยเฉพาะไมเคิลกับเพลงที่กลายเป็นอมตะในทุกวันนี้อย่าง Who’s Lovin You จากนั้นวง The Jackson 5 ก็มีเพลงคลาสสิกตามมาอีกมากมายทั้ง ABC, I Want You Back และ I’ll Be There ที่ตอนนั้นพวกเขาได้เข้าไปในสังกัด Motown Records ร่วมกับศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง The Supremes และ Smokey Robinson
ในปี 1975 เป็นช่วงเวลาที่ไมเคิลเริ่มโฟกัสการเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ไมเคิลได้เซ็นสัญญากับค่าย Epic Records และปล่อยอัลบั้มแรก Off the Wall (1979) ซึ่งก็ดังถล่มทลายพร้อมยอดขายกว่า 20 ล้านแผ่นทั่วโลก หลังจากนั้นไมเคิลก็มีทั้งอัลบั้ม Bad (1987), Dangerous (1991), HIStory (1995), Invisible (2001), โดยมีอัลบั้ม Thriller (1982) เป็นอัลบั้มขายดีตลอดกาล ด้วยยอดขาย 65 ล้านแผ่น พร้อมชนะรางวัลแกรมมี อวอร์ดส์ สูงถึง 8 รางวัล
“If you wanna make the world a better place, take a look at yourself and then make a change”
ดนตรีที่ไร้ขอบเขต ไร้ประเภท ไร้ข้อจำกัด
ไมเคิลเป็นศิลปินที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น King of Pop ผู้ปฏิวัติวงการเพลงอยู่ตลอดเวลา บทเพลงของเขามีเสน่ห์บางอย่างที่เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้หลากหลายรูปแบบ จนต้องเรียกประเภทดนตรีว่า ‘สไตล์ไมเคิล แจ็กสัน’ อย่างเช่นเพลง The Way You Make Me Feel จากอัลบั้ม Bad ในปี 1987 ที่ไมเคิลรังสรรค์กับโปรดิวเซอร์คู่บุญควินซี โจนส์ (Quincy Jones) อัลบั้มนี้มีการผสมผสานซาวด์ป๊อป, อาร์แอนด์บี, โซล และฟังก์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว บวกกับการใส่เสียงอันเป็นเอกลักษณ์แบบ “Aowwww!” (พร้อมท่าลูบเป้า)
ความสำเร็จของเพลงไม่ได้แค่มาจากการชนะรางวัลต่างๆ (เขาชนะแกรมมีรวมทั้งหมด 13 ครั้ง) ยอดขายอัลบั้มที่อยู่ในหลักร้อยล้านแผ่น หรือการรีวิวของนักวิจารณ์เพียงอย่างเดียว แต่เพลงของไมเคิลยังแปรผันเป็นเหมือนสิ่งที่เชื่อมโยงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว ทุกระดับชนชั้นเข้าด้วยกัน
ไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่เข้าใจการเหยียดเชื้อชาติ เราทุกคนก็เหมือนกันหมด และผมมีหลักการสำหรับความคิดนี้… ตอนผมเล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก ทุกคนก็จะร้องไห้ช่วงเวลาเดียวกันของโชว์ หัวเราะช่วงเวลาเดียวกัน บ้าคลั่งช่วงเวลาเดียวกัน เป็นลมช่วงเวลาเดียวกัน… นั่นแหละคือสิ่งที่บอกว่าเราเหมือนกันหมด”
เราจะเห็นประเด็นนี้ถูกตีแผ่ผ่านทั้งในเพลงการกุศล We Are the World ที่ระดมทุนหาเงินช่วยผู้ยากไร้ในทวีปแอฟริกา, Black or White ที่มิวสิกวิดีโอเฉลิมฉลองหลากหลายเชื้อชาติ ที่มีนางรำไทยอยู่ด้วย และ Man in the Mirror ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดหลังจากไมเคิลเสียชีวิต พร้อมวลีเด็ด “If you wanna make the world a better place, take a look at yourself and then make a change” ถ้าคุณอยากให้โลกนี้ดีขึ้น ลองกลับมามองตัวเองและเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน – นี่ยังเป็นประโยคคลาสสิกที่นำไปปรับใช้ได้ตลอด โดยเฉพาะกับปัญหาต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน
ไมเคิล แจ็กสัน ต้นแบบของศิลปินหลายคน
หากย้อนกลับไปดูการแสดง Superbowl ในปี 1993 ของไมเคิล เราจะเห็นจิตวิญญาณการเป็นศิลปินของเขาที่ทุกกระเบียดนิ้วต้องเฟอร์เฟกต์ แม้ในสารคดี This Is It ในปี 2009 ที่เล่าเรื่องราวการเตรียมคอนเสิร์ตก่อนที่ไมเคิลจะเสียชีวิตกะทันหัน เรายังเห็นว่าผู้ชายคนนี้ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่จุดที่สปอตไลต์จะส่องลง คอสตูมที่จะสวมใส่ ภาพวิดีโอที่เล่นข้างหลังจอ หรือการลำดับจังหวะเพลงที่เขาต้องควบคุมวงเอง สิ่งนี้ทำให้เรานึกถึงศิลปินในยุคปัจจุบันหลายๆ คนที่เลือกเดินตามรอยเขา
เริ่มที่นักร้องสาวแม่ลูกแฝดคนใหม่อย่างบียอนเซ่ (Beyoncé) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์เสมอว่า เพราะไมเคิล เธอเลยเป็นศิลปินในแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ ความคล้ายคลึงของสองคนนี้เริ่มจากการที่ไมเคิลและบียอนเซ่เข้าวงการตั้งแต่ยังเด็กในฐานะนักร้องนำของกลุ่ม (บียอนเซ่เป็นนักร้องของวง Destiny’s Child ที่ตอนแรกชื่อ Girl’s Tyme) ซึ่งทั้งคู่ก็โดนคุณพ่อของตัวเองผลักดันและเคี่ยวเข็ญให้ถึงฝั่งฝันในฐานะผู้จัดการ แม้ต่อมาจะทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอนและต้องแยกออกมาจากการทำงานใต้ร่มเงาคุณพ่อทั้งคู่
ในรูปแบบการเป็นศิลปินเราก็ได้เห็นบียอนเซ่หยิบยืมสไตล์ต่างๆ จากไมเคิลอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นที่งาน Superbowl ในปี 2016 เธอใส่แจ็กเก็ตหนังของแบรนด์ Dsquared2 ที่ประดับด้วยโลหะสีทอง ซึ่งก็เหมือนเป็นการคารวะชุดของไมเคิลที่ Superbowl ปี 1993 หรือการผสมผสานเพลงหลายแนวเพลงเข้าด้วยกันในอัลบั้มชุดล่าสุด Lemonade ที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ไมเคิลทำได้ดีมาโดยตลอด
เป็นประจำที่สื่อมักเล่นไอเดียว่าใครจะมาแทนที่ใคร ซึ่ง บรูโน มาร์ส (Bruno Mars) ก็เป็นหนึ่งในนักร้องชายที่ถูกนำมาเทียบกับไมเคิลอยู่เสมอ บรูโนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดว่าเขาสร้างมาตรฐานให้ศิลปินทุกคน ผมไม่แคร์ว่าคุณจะเป็นนักร้องแนวไหน คุณควรมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นเหมือนไมเคิล แจ็กสัน” โดยเราจะเห็นความคล้ายคลึงของบรูโนผ่านการร้องสไตล์อาร์แอนด์บีที่จะมีการเล่นกับเสียง แม้จะเป็นเพลงป๊อปทั่วไป
อีกหนึ่งศิลปินที่น่าศึกษาคือ แทยัง (Taeyang) นักร้องเกาหลีจากวง BIGBANG ที่ในหลายผลงานของเขา เราจะเห็นความเป็นไมเคิลอยู่ในนั้น เช่น ในการแสดงสดเพลง Eyes, Nose, Lips กับการเล่นเสียง ad-libs ของแทยังที่ชวนให้เรานึกถึงการแสดงเพลง Human Nature ของไมเคิล โดยแทยังเองเคยกล่าวกับ Billboard.com ว่าไมเคิลเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาก็ว่าได้
https://www.youtube.com/watch?v=ujDSiL600nc&feature=youtu.be
คำขอบคุณ
แม้วันนี้ 25 มิถุนายน จะเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของไมเคิลที่จากเราไป แต่ความสำคัญของเขายังคงไม่เลือนหายไปไหน และชีวิตของคนเราก็ยังเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากผลงานและตัวตนของเขา ไมเคิลทำให้เห็นว่าการ ‘born to be’ ต่างจากการ ‘wannabe’ และถึงแม้ว่าจะถูกตราหน้าว่าเป็น wannabe เราก็ควรผลักดันตัวเองและมุ่งมั่นทำในสิ่งสิ่งหนึ่งจนผู้คนต้องยอมรับว่าเราเกิดมาทำเพื่อสิ่งนั้นในท้ายที่สุด
เราขอขอบคุณไมเคิล แจ็กสัน สำหรับผลงานดนตรี การเป็นศิลปินตัวจริง และขอบคุณในการเป็นตัวอย่างของคนที่ผลักดันตัวเองให้ถึงจุดสูงสุดในทางเดินที่ตัวเองเลือก
ไมเคิลเคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณก้าวเข้ามาในโลกนี้แล้วรู้ว่าคุณเป็นที่รัก คุณจะจากโลกนี้ไปด้วยความรู้สึกเดียวกัน ดังนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นเราจะจัดการกับมันได้” ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าไมเคิลจะคิดเช่นนั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในวันนี้
Cover Photo: Kadir Nelson
อ้างอิง:
- en.m.wikipedia.org/wiki/The_Jackson_5
- www.billboard.com/articles/columns/k-town/6143278/taeyang-interview-rise-album-michael-jackson-english-album
- www.dailyrecord.co.uk/entertainment/music/music-news/bruno-mars-every-artist-should-1464017
ไมเคิลเคยมาเปิดคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยสองครั้ง ครั้งแรกในปี 1993 กับ Dangerous World Tour มีสองรอบ จัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติ ส่วนการมาเปิดคอนเสิร์ตเมืองไทยรอบที่สอง เกิดขึ้นในปี 1996 กับ HISTory World Tour จัดขึ้นที่ลานเมืองทองธานี