ฝนเม็ดเล็กๆ หลายล้านเม็ดที่ตกกระทบกับวัตถุ ทำให้เกิดกำแพงของเสียงรัวๆ และกลายเป็นแบ็กกราวด์ของกิจกรรมที่เราทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเปิดเพลงไปพร้อมๆ กัน เลเยอร์ของเสียงจะเกิดการซ้อนทับโดยมีเสียงฝนตกเป็นพื้นหลังสุด และเสียงเพลงที่เราเปิดอยู่ในเลเยอร์ถัดมา ทั้งหมดนี้จะรวมกันเป็นมวลเสียงที่สร้างมิติโอบล้อมกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำอยู่ตอนนั้นให้เป็น foreground ที่เด่นชัดขึ้น เพราะฉะนั้นผิวสัมผัสทางโสตประสาทของบทเพลงที่เราเลือกใช้เป็นบรรยากาศ ย่อมมีผลกับ performance ของกิจกรรมของเราอย่างแน่นอน
และด้วยมนต์เสน่ห์ของ ‘ฝน’ นี่เอง ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของบทเพลงหลายร้อยเพลง หลายร้อยภาษาทั่วโลกผ่านมุมมองของศิลปิน เม็ดฝนได้ถูกตีความเชิงอุปมาอุปไมยไปในหลายทิศทาง บ้างก็สร้างสรรค์ บ้างก็สร้างสรรค์มากๆ แล้วแต่ไอเดียของผู้ประพันธ์เพลง
ในวันฝนตกเช่นวันนี้ เรามาทำความรู้จักกับบางบทเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากฝน หรือมีการกล่าวถึงฝนกันสักหน่อยดีกว่า ไม่แน่นะ การหยิบเพลงเหล่านี้มาฟังในช่วงเวลาเยี่ยงนี้อาจทำให้เราสัมผัสอะไรได้ลึกซึ้งกว่าที่เคยฟังผ่านหูมาในรอบก่อนๆ ก็เป็นได้
1. B.J. Thomas: Raindrops Keep Fallin’ On My Head (1969)
ทุกคนคงรู้จักเพลงที่ฮิตจนกลายเป็นเพลงคลาสสิกเพลงนี้กันดี หรืออย่างน้อยถ้าไม่รู้จักชื่อเพลง แต่เมื่อเปิดฟังแล้วต้องคุ้นหูอย่างแน่นอน อาจจะเคยได้ยินจากวิทยุในรถของแฟน ของคุณแม่ หรือเคยฟังเวอร์ชันคัฟเวอร์สำเนียงฮ่องกงที่เปิดในห้องอาหารติดแอร์
ต้นฉบับดั้งเดิมของเพลงนี้แต่งขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) โดยนักแต่งเพลงชื่อดังในยุคนั้น ฮาล เดวิด และเบิร์ต บัคคารัค เนื้อหาแง่บวกมาพร้อมกับดนตรีแนวยิ้มๆ ฟังแล้วชุ่มชื่นใจ ผู้แต่งเปรียบ ‘ฝน’ เป็นเหมือน ‘อุปสรรค’ แต่มันจะทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเครื่องในเราไม่สะเทือนเสียอย่าง หรือแปลง่ายๆ คือ จะสุขจะทุกข์ก็อยู่ที่ใจเรานั่นแล
เพลงนี้น่าจะเหมาะกับพวกเราชาวกรุงที่มักจะบ่นอุบออกโซเชียลทุกครั้งที่เจอฝน โดยเฉพาะประโยคโดนใจในท่อนที่ว่า Cryin’s not for me, ‘cause I ain’t gonna stop the rain by complaining
ลองนึกดูเล่นๆ ไม่แน่ถ้าเราเปิดเพลงนี้คลอเป็นบรรยากาศประกอบการเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงานในเย็นวันศุกร์ที่ฝนกระหน่ำ อาจพลิกสถานการณ์ให้เย็นวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่แสนอิ่มเอมก็ได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะต้องเปิดวนสักร้อยรอบกว่าจะถึงบ้านก็ตาม
2. Creedence Clearwater Revival (CCR): Have You Ever Seen The Rain (1970)
สำหรับชาวไทยวัย 35 อัพต้องเคยได้ยินเพลงนี้แน่นอนจากโฆษณามอเตอร์ไซค์ผู้หญิงยุคพรี-แว้นยี่ห้อหนึ่งทางโทรทัศน์ ในสมัยที่ฟรีทีวีเคยเป็นสื่อหลักอันยิ่งใหญ่ แต่อันนั้นเป็นเวอร์ชันคัฟเวอร์โดยโจน เจ็ตต์ ส่วนเวอร์ชันดั้งเดิมเป็นของวงคันทรีร็อกจากแคลิฟอร์เนียอย่าง CCR ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมสุดๆ ในปี 1971
จอห์น ฟอเกอร์ตี นักร้องนำของวงผู้เขียนเพลงนี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาตั้งใจเขียนเพลงนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในวงขณะนั้น ซึ่งผ่านจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเกินคาดมาแล้ว มีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง แต่สมาชิกภายในวงกลับรู้สึกเศร้าสลด ไม่มีความสุขเหมือนตอนที่เริ่มตั้งวงกันใหม่ๆ คำอธิบายสถานการณ์ภายในวงอยู่ในเนื้อเพลงท่อนฮุกที่ว่า I wanna know, have you ever seen the rain, coming down on a sunny day? นี่ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เปรียบเทียบเรื่องเลวร้ายเป็นเหมือนกับฝนตก และในที่สุด CCR ก็ได้ประกาศยุบวงในปีต่อมา
https://youtu.be/7MGowIeu3Tw
3. Craig David: Don’t Love You No More (I’m Sorry) (2005)
เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษที่สายฝนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอาการอกหักรักคุด ไม่ว่าศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ต่างก็ใช้บริการจากน้ำฝนปนน้ำตากลั่นออกมาเป็นบทเพลงฮิตบ้าง ไม่ฮิตบ้าง และนี่ก็เป็นเพลงฮิตอีกเพลงจากเฮียเครก เดวิด ที่มีความพิเศษ คือเขาไม่ได้ใช้ฝนเป็น subject หลักของเพลง แล้วก็ไม่มีคำว่า rain ในชื่อเพลงด้วย มีเพียงประโยคเดียวในท่อนฮุกที่ร้องว่า Rain outside my window pouring down. What now?, You’re gone, my fault, I’m sorry.
ในเพลงนี้ น้องฝนทำหน้าที่เป็นเพียงแค่บรรยากาศพื้นหลังของเรื่องราวความอกหักที่เฮียรัวลิ้นลงรายละเอียดยาวเหยียดตั้งแต่ต้นเพลง น้องฝนช่วยให้เรื่องราวความเศร้าของเฮียมีน้ำหนักและฟังดูฟูมฟายมากยิ่งขึ้นได้อย่างเหลือล้น เพราะภาพนั้นแทบจะลอยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเลยทีเดียว ต้องยกเครดิตให้เฮียเครกที่เขียนประโยคนี้ออกมา และเลือกวางมันไว้ในตำแหน่งที่เป๊ะมาก
https://youtu.be/0B6lHw-tPWU?t=4m44s
4. Prince: Purple Rain (1984)
ฝนสีม่วงจากเจ้าชายผู้ล่วงลับ เพลงพาวเวอร์บัลลาดที่ยังคงมีการตีความถึงความหมายที่แท้จริงกันไปต่างๆ นานาอย่างสรุปไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อหาของเพลงค่อนข้างจะฟังดูปลายเปิดสมกับเป็น Prince ศิลปินผู้ขึ้นชื่อเรื่องความติสท์จัด แต่ว่ากันว่าเขาน่าจะกล่าวถึงวันสิ้นโลกที่ท้องฟ้าจะกลายเป็นสีม่วง และ purple rain ก็คือฝนที่หลั่งมาชำระล้างโลกให้สะอาด ซึ่งเป็นธีมที่ Prince คลั่งไคล้ รวมถึงสีม่วงเป็นสีโปรดของเขาด้วย
เวอร์ชันที่น่าจดจำที่สุดของเพลงนี้คือการแสดงสดในช่วง halftime show ของ Super Bowl 2007 ซึ่งในตอนนั้นฝนได้เทลงมาอย่างหนัก แต่ Prince ก็เลือกที่จะทำการแสดงอย่างดุเดือดกลางสายฝนจนกลายเป็นโชว์ที่น่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งของเขา
Purple Rain, Purple Rain. I only want to see you in the purple rain เราอาจต้องเลิกคิดตีความหมายให้งงตุ้ม เพราะจินตนาการของพี่แกไปไกลเหลือเกิน เลิกสนใจว่าหมายถึงอะไร แล้วหันมาเอ็นจอยกับท่วงทำนองอันบีบคั้นจากอัจฉริยะผู้ล่วงลับคนนี้กันเถอะ
5. Bruno Mars: It Will Rain (2011)
ว่าที่ King of Pop คนต่อไปอย่างบรูโน มาร์ส ก็มีเพลงฝนๆ กับเขาเหมือนกัน เพลง It Will Rain ถูกรวมอยู่ในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่อง The Twilight Saga: Breaking Dawn – Part 1
เพลงฟูมฟายมากๆ พี่บรูโนเปรียบเทียบสถานการณ์ชีวิตของเขากับสภาวะทางอุตุนิยมวิทยาในรูปแบบที่เป็นสากล แดดดีก็คือมีความสุข ส่วนช่วงทุกข์ก็คือฝนตก ‘ถ้าเธอจากฉันไป ทุกวันต่อจากนี้ก็จะเหมือนวันฝนกระหน่ำ’ สูตรสำเร็จความป๊อปรูปแบบนี้ยังใช้การได้ดีเสมอ บวกกับสำบัดสำนวนเปรียบเปรยเชิงออดอ้อนแง้วๆ เหนือจริง เป็นภาษาแบบที่พี่แกถนัดอยู่แล้วอีก ทั้งยังมีเมโลดีที่ฟังเพียงรอบเดียวก็จำได้ ทำให้ถ้าเพลงนี้ไม่ดังก็แปลกเกินไปแล้วล่ะ
อีกสาระสำคัญคือโทนของเพลงนี้ให้อารมณ์ซึมกะทือแบบวันฝนตกดีนะ อย่าเผลอไปฟังตอนอกหักล่ะ เดี๋ยวจะยิ่งเจ็บแปลบ
6. Rihanna: Umbrella (2007)
การออกเสียงคำว่า umbrella แบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนแบบนี้ ถ้าสมมติว่าเพลงนี้ไม่ดัง การเอาเพลงนี้ไปแสดงสดคงจะฟังดูเคอะเขินไม่เบา แต่สุดท้ายเพลงนี้โคตรจะดัง และยังมีเนื้อหาในเชิงบวกด้วย ถึงแม้ฝนในเรื่องนี้จะถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ร้ายก็ตาม
การติดแหงกไปไหนไม่ได้เพราะฝนตกคงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายชะมัด แต่ถ้าเราติดอยู่ใต้ร่มคันเดียวกันกับเพื่อนคู่คิด อย่างน้อยก็สร้างความอุ่นใจขึ้นได้เยอะเหมือน You can stand under my umbrella ella ella eh eh eh
7. Pearl Jam: Last Kiss (1999)
เพลงนี้เหมือนเป็น rare item ของวงกรันจ์ร็อกจากซีแอตเทิลอย่าง Pearl Jam ที่รวมอยู่ในอัลบั้มเพื่อการกุศล No Boundary: A Benefit for Kosovar Refugees ในปี 1999 ซึ่งเพลงนี้ช่วยหารายได้เข้าโครงการได้ถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นเพลงเก่าจากปี 1962 ของเวย์น คอชแรน ซึ่งด้วยความบังเอิญ เอ็ดดี เวดเดอร์ นักร้องนำของ Pearl Jam ได้ไปค้นเจอแผ่นเสียงเพลงนี้จากร้านขายของเก่าอีกที จึงได้นำเพลงมาให้ทางวงลองคัฟเวอร์ ซึ่งน้ำเสียงของเอ็ดดีก็ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาเพลงอันเศร้าหม่นได้อย่างกลมกลืน
โครงสร้างง่ายๆ กับ 4 คอร์ดวนครอบจักรวาลของเพลงนี้ถูกนำมาปูรองเนื้อเพลงแนวเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นวิธีการที่เพลงสมัยก่อนชอบใช้กัน ฟังดูคล้ายๆ กับวิธีการนำเสนอแบบเพลงเพื่อชีวิตของบ้านเรา ว่าด้วยเรื่องโศกนาฏกรรมบนท้องถนนที่ได้พรากชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งในบรรยากาศที่เศร้าสุดๆ ชายหนุ่มได้สูญเสียคนรักไปในอ้อมแขนของตัวเองกลางสายฝน ก็เพราะเรื่องมันเกิดกลางสายฝนนี่แหละที่มันช่วยเสริมความสะเทือนใจได้รุนแรงยิ่งขึ้นจริงๆ
8. Garbage: Only Happy When It Rains (1995)
เพลงเด่นจากอัลบั้มแรกของซูเปอร์อัลเทอร์เนทีฟกรุ๊ปในยุค 90s ความล้ำของภาคดนตรีนั้นไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพราะสมาชิก 3 ใน 4 ของวงเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีเครดิตมากมาย และหนึ่งในนั้นเป็นคนที่ทำให้อัลบั้ม Nevermind ของ Nirvana ได้ปักธงบนประวัติศาสตร์ดนตรีสากล ชนิดที่ว่าถ้าคุณวางแผนจะมีลูกในปีนี้ เชื่อเถอะว่าในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ลูกคุณก็ต้องย้อนกลับมาคุ้ยหาอัลบั้ม Nevermind ขึ้นมาฟัง
ความโดดเด่นในเชิงเนื้อหาของเพลง Only Happy When It Rains เป็นความแสบอย่างสร้างสรรค์ที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูด ในขณะที่ฝนถูกยกให้เป็นตัวแทนของความทุกข์ตรม ซึ่งปรากฏให้เห็นในเนื้อเพลงแนวฝนๆ อีกค่อนโลก โดยเฉพาะในวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟยุคนั้นที่เต็มไปด้วยเพลงที่มีเนื้อหาแนวทุกข์นิยม แต่ชาวคณะ Garbage เองกลับเลือกที่จะล้อเลียนและหยอกเย้าวงการด้วยการออกมาพูดโต้งๆ ว่า I’m only happy when it rains, I’m only happy when it’s complicated. และแทบทุกบรรทัดของเพลงก็จะกล่าวถึงความสุขสมในความห่วยแตกแร้นแค้นลำเค็ญของชีวิต ราวกับเป็นคนที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้เสพความทุกข์
แน่นอน ‘ฝน’ ถูกหยิบยกมาเป็นตัวแทนของความเศร้าหมองอีกครั้ง แต่สำหรับ Garbage แล้ว ความเศร้าหมองนี่แหละที่ทำให้พวกเขามีความสุข ตบด้วยท่อนฮุกเรียบๆ ด้วยน้ำเสียงพริ้มๆ ว่า Pour your misery down, Pour your misery down on me. (หลั่งความทุกข์ลงมาสิ หลั่งรินความลำเค็ญลงมาที่ฉัน)
9. The Weather Girls: It’s Raining Men (1982)
It’s raining men, hallelujah. It’s raining men, amen. ทำเป็นเล่นไป เพลงที่ฟังดูสุดเซอร์เรียลและโคตรคัลต์นี้ดูเหมือนจะไม่ได้มีนัยลึกซึ้งอะไร แต่กลับเป็นเพลงที่ทรงพลังมากในแง่ของจินตนาการสร้างสรรค์ ราวกับเพลงนี้เป็นอีกข้อยืนยันว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีปีกหรอก ตราบใดที่เรายังมีความคิดสร้างสรรค์เป็นพาหนะล้ำเลิศที่พาไปได้ทุกแห่งหน
เพลงนี้ขึ้นแท่นเป็นเพลงชาติของชาวเพศทางเลือก และกลายเป็นเพลงฮิตอีกเพลงในยุค 80s ด้วยจังหวะดิสโก้ป๊อป ประกอบกับเนื้อหาหลุดโลกที่กล่าวว่า พยากรณ์อากาศวันนี้ ผู้ชายทุกประเภทจะตกลงมาจากฟากฟ้าราวห่าฝน จงเก็บร่มไว้ที่บ้าน แล้ววิ่งออกไปรอรับความชุ่มชื่นข้างนอกกันเถอะ!
ส่วนภาพจำจากเพลงนี้สำหรับคนในเจเนอเรชันเราๆ น่าจะมาจากเวอร์ชันคัฟเวอร์ของเจอรี ฮัลลิเวลล์ อดีตสมาชิกวง Spice Girls ที่ประกอบอยู่ในซีนต่อยตีในศึกชิงนางจากภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’s Diary (2001) ที่เข้ากันได้ดีเหลือเกิน
https://youtu.be/D1ZYhVpdXbQ
10. Gene Kelly: Singin’ In The Rain (1952)
ลังเลอยู่พักใหญ่ว่าจะปิดท้ายด้วยเพลงนี้ดีไหม เพราะอายุอานามของมันถือว่าเก่าแก่เอาเรื่อง เกรงว่าจะไม่มีใครรู้จัก แต่ของดีๆ เราก็ต้องเอามาแนะนำกันสิ มีไม่กี่เพลงหรอกที่จะเขียนถึงฝนในแง่บวกได้ขนาดนี้
Singin’ In The Rain เป็นเพลงจากภาพยนตร์แนวมิวสิคัล-โรแมนติกคอเมดี ที่ใช้ชื่อเดียวกับเพลง และในฉากที่จีน เคลลี ตัวเอกของเรื่องร้องเพลงนี้กลายเป็นภาพจดจำที่เป็นอมตะตลอดกาลในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งลีลาการร้องเพลงและการเต้น tap dance กลางสายฝนที่ทำให้เราคิดว่ามันคงไม่มีใครมีความสุขได้เท่าหมอนี่อีกแล้วล่ะ I’m laughing at clouds so dark up above, The sun’s in my heart, and I’m ready for love
และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของเพลงที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากฝน ส่วนตัวเชื่อว่าวันฝนพรำไม่ได้เป็นวันที่น่าหงุดหงิดเสมอไป เพราะยังมีศิลปินหลายคนที่นำมันมาใช้เป็นแหล่งพลังในการสร้างสรรค์เพลง และเพลงเหล่านี้นี่เองที่ถูกหยิบมาเป็นแหล่งกำลังใจให้พวกเราอีกที
ตราบใดที่ฝนยังคงตก โลกนี้ก็ยังจะมีเพลงใหม่ๆ ดีๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาอีกเรื่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยนี้ที่รูปแบบของฤดูกาลเริ่มวิปริตเหนือการคาดเดา อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการตีความ ‘ฝน’ ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ออกมาเป็นบทเพลงโดยศิลปินในอนาคตก็เป็นได้ เรามารอฟังกันเถอะ