หลังจากมีข่าวลือมาสักพัก แบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดนอย่าง H&M ก็พร้อมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในชื่อ Arket โดยร้านสาขาแรกตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมปีนี้ แต่หากลองดูภาพจากแบรนด์ Arket ที่สื่อต่างๆ นำเสนอแล้วอาจจะทำให้ใครหลายคนตกใจว่า Arket เป็นแบรนด์ลูกของ H&M จริงหรือ เพราะด้วยสไตล์ที่เรียบง่ายแบบมินิมัล เน้นที่การใช้งาน และคุณภาพในทุกรายละเอียด อีกทั้งยังมีกลิ่นอายความมินิมัลแบบ Nordic ชัดเจนกว่า H&M ที่เราคุ้นเคย
Photo: arketofficial/Instagram
Arket ใช้เวลาตั้งแต่ต้นปี 2015 เพื่อศึกษารสนิยมผู้บริโภคและสรรสร้างแบรนด์ใหม่นี้ขึ้นมาให้มีเอกลักษณ์มากที่สุด โดยมีหัวหน้าทีมในตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์อย่างอัลริกา เบิร์นฮาร์ดต์ (Ulrika Bernhardt) ที่ทำงานกับ H&M มาแล้ว 25 ปี เธอกล่าวว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเหน็ดเหนื่อย หลายแบรนด์สร้างสินค้าออกมาคล้ายๆ กันจนไม่มีความโดดเด่นหรือแตกต่าง โดยมี H&M และ Zara เป็นผู้นำในตลาด สุดท้ายแล้วผู้บริโภคก็วนกลับมาซื้อสิ่งเดิมๆ อยู่ดี นั่นทำให้ Arket เปิดตัวมาเพื่อนำเสนอจุดยืนในการเป็นตลาดเสื้อผ้ายุคใหม่ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ทนทาน เข้าถึงได้ง่าย และผู้บริโภครักที่จะสวมใส่มันได้เรื่อยๆ
แน่นอนว่า Arket ไม่ได้เป็นแค่ร้านเสื้อผ้าแนวมินิมัลเพียงเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในทุกๆ ด้านของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นจุดขายที่น่าสนใจ
Photo: vg-images.condecdn.net
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ Arket จึงตอบโจทย์หนุ่มสาวรุ่นใหม่ในยุค 4.0
1. ด้วยความที่ตลาดซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Arket จึงรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสู่ร้านค้า Brick-and-Mortar (ร้านค้าแบบดั้งเดิมที่มีสินค้าให้จับต้องได้) โดยทาง Arket จะแสดงหมายเลข ID ประจำสินค้าแต่ละแบบอย่างชัดเจน หากผู้บริโภคชอบวัสดุชนิดใดก็ใช้หมายเลขที่กำกับอยู่นั้นไปหาสินค้าคอลเล็กชันอื่นๆ ที่มีวัสดุชนิดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันได้ง่ายดาย
สิ่งนี้ตรงกับความต้องการของลาร์ส แอกเซลส์สัน (Lars Axelsson) กรรมการผู้จัดการแบรนด์ Arket ที่อยากให้การเลือกซื้อสินค้าเป็นเรื่องง่าย ยิ่งในยุคที่ช่องทางการจับจ่ายมีให้เลือกมากมาย การที่ผู้บริโภคเดินเข้าไปในร้านและซื้อสินค้าผ่านหมายเลข ID ได้ทันทีย่อมเป็นเรื่องดีสำหรับทุกฝ่าย
2. Arket เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วยการเพิ่มส่วนคาเฟ่เข้าไปในร้าน โดยเปิด Arket Cafe ที่จะรวบรวมร้านขนมปังหรือร้านขายผลไม้ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามา โดยมีเชฟมาร์ติน เบิร์ก ที่คอยควบคุมและสร้างสรรค์เมนูที่ยังคงความอร่อยแบบยุโรปตอนเหนือ และแน่นอนว่าภายในร้านยังมีช้อนส้อม จานชาม และสินค้าภายในบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียนให้เลือกซื้อติดมือกันอีกด้วย
3. เสื้อผ้าก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะ Arket เน้นรายละเอียดมากๆ ผ้าที่ใช้ในการผลิตจะต้องเป็นผ้าที่เหลือใช้จากบริษัทแม่และบริษัทซัพพลายเออร์ในเครือเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลเส้นไหม แคชเมียร์ ผ้าคอตตอน และวัสดุอื่นๆ เพื่อตอกย้ำความ sustainable หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของแบรนด์ ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้บริษัทแม่อย่าง H&M
Arket จะมีทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย และเสื้อผ้าเด็ก เน้นความคลาสสิกแบบเรียบง่ายที่สวมใส่ได้ทุกวัน ทางแบรนด์ใช้คำว่า Everyday Uniform ซึ่งทำให้ในทุกคอลเล็กชันจะมีไอเท็มพื้นฐานหลายแบบกว่าแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ และจะมีการลดราคาอยู่บ่อยครั้ง
Photo: arketofficial/Instagram
4. แนวโน้มความนิยมของ Multi-label Store หรือร้านค้ารวมแบรนด์ที่มีให้เห็นมากขึ้น Arket จึงคัดเลือกแบรนด์อื่นๆ กว่า 20 แบรนด์มาวางขายในร้านด้วยเช่นกัน อาทิ Adidas, Clarks, Phaidon, Trickers ฯลฯ ที่ครอบคลุมทั้งสินค้าที่เป็นเสื้อผ้า และสินค้าไลฟ์สไตล์
5. แม้ว่า Arket จะไม่ได้เน้นเรื่องการตั้งราคา แต่บอกได้เลยว่าถ้าสาวกแฟชั่นเดินเข้าไปเยี่ยมชมแล้วจะต้องได้สินค้าติดมือออกมาแน่นอน เพราะราคาไม่เกินเอื้อม อย่างถุงเท้า 1 คู่ ก็มีราคาเริ่มต้นที่ 5 ยูโร หรือประมาณ 195 บาทไทยเท่านั้น
6. ทิศทางของภาพลักษณ์แบรนด์ก็น่าสนใจ เริ่มจากที่มาของชื่อ Arket ที่เป็นภาษาสวีเดน แปลว่า sheet of paper หรือแผ่นกระดาษ ซึ่งบริษัทต้องการที่จะยึดความเป็น Nordic เอาไว้ในชื่อ และคำว่าแผ่นกระดาษ สื่อถึงกระดาษเปล่าหนึ่งแผ่นที่มีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เปรียบเสมือนแบรนด์ Arket นั่นเอง
หน้าร้านยังติด Typography ของโลโก้แบรนด์ขนาดใหญ่สีดำบนพื้นสีขาว ซึ่งมองแล้วดูคล้ายฟอนต์ Helvitca บางๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นฟอนต์ตัวหนังสือที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่สำหรับแบรนด์โดยเฉพาะ
ที่มา: vg-images.condecdn.net
หากผู้ที่ชื่นชอบเสื้อผ้าสไตล์น้อยได้มาก หรือเสื้อผ้าแนวสแกนดิเนเวียนแบบนี้ ยังมีแบรนด์ภายใต้บริษัทแม่อย่าง H&M อีกมากที่ไม่มีหน้าร้านในประเทศไทย แต่มีร้านกระจายอยู่หลากหลายสาขาทั่วโลก ทั้งแบรนด์ลูกที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 ที่เน้นความเป็นมินิมัลอย่างแท้จริง และมีราคาที่สูงกว่า H&M อย่าง COS (Collection of Styles) ที่เน้นไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่โตขึ้น
COS ควบคุมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้คงความมินิมัลสุดๆ และยังมีการจัดร้านที่เป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่พูดถึง ทำให้จากปี 2009 ถึงปี 2014 COS มีผลกำไรเพิ่มขึ้นจาก 132 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 625 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว และในปี 2015 COS ได้ขยายสาขาไปทั่วโลกอีกกว่า 27 สาขา ซึ่งหากลองดูคุณภาพการตัดเย็บและการออกแบบที่เป็นตัวแทนความมินิมัลในตลาดแบรนด์ระดับกลางจะเข้าใจว่าทำไม COS ถึงปิดช่องว่างระหว่างแบรนด์เสื้อผ้าดีไซน์ดี และแบรนด์เสื้อผ้าที่ผู้บริโภคจ่ายไหว
ที่มา: www.metropolismag.com
ที่มา: www.thisisjanewayne.com
และถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในปี 2013 H&M เพิ่งจะเปิดตัวอีกหนึ่งแบรนด์ลูกที่ผลิตทั้งเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรในสไตล์เฟมินีน การตกแต่งร้านแบบมินิมัล สีขาวตัดกับสีชมพูอ่อน ตัวหนังสือแบบลายมือ เป็นเอกลักษณ์เด่นของแบรนด์ &Other Stories แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงซึ่งยังคงคอนเซปต์ของ H&M ที่ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไร แต่งตัวสไตล์ไหน พร้อมจ่ายที่ราคาเท่าไร ก็สามารถซื้อสินค้าจาก &Other Stories ได้
ในร้านมีสินค้าตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ น้ำยาทาเล็บ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสกินแคร์ พร้อมการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ชวนให้สาวๆ ซื้อเก็บ
ที่มา: theseventhdistrict.com
ที่มา: media.fashionnetwork.com
จริงๆ แล้ว H&M ยังมีแบรนด์ลูกอีกมากมายเต็มไปหมด บางแบรนด์ที่เราอาจจะคุ้นหูแต่ไม่เคยรู้มาก่อนอย่าง Cheap Monday หรือ Monki แต่ถ้ายังติดใจกับแบรนด์น้องใหม่อย่าง Arket ก็ต้องรอติดตามต่อไป เพราะนอกจากสาขาแรกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้ว Arket จะเปิดขายออนไลน์ในอีก 18 ประเทศทั่วยุโรป
แล้วคุณจะเห็นความฉลาดของแบรนด์เจ้าแม่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าอย่าง H&M ที่เติบโตและทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ ทั้งยังอยู่รอดมากว่า 70 ปี!