ย้อนกลับไปในปี 2015 ที่เมืองมัชฮัด ประเทศอิหร่าน มีการทาสีผนังเปล่าด้วยข้อความภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ‘Wall of Kindness’ แล้วติดที่แขวนเสื้อเอาไว้สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเสื้อผ้า รวมถึงสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเพื่อให้คนไร้บ้านหรือผู้ยากไร้ในเมืองหยิบไปใช้ได้ โดยไอเดียสุดสร้างสรรค์และความน่ารักของลวดลายต่างๆ บนผนังทั่วเมืองทำให้แคมเปญ Wall of Kindness กลายเป็นไวรัลแชร์ไปทั่วโซเชียลมีเดีย และกลายเป็นกระแสสนับสนุนให้ประชาชนชาวอิหร่านหันมาสร้าง Wall of Kindness ในชุมชนของตัวเอง ทั้งในเมืองชิราซ และเคอร์มันชาห์ จนล่าสุดการแบ่งปันความสุขนี้ถูกขยายออกไปนอกประเทศอิหร่าน
Wall of Kindness เริ่มไปปรากฏตัวอยู่ในหลายๆ ประเทศทั้ง อินเดีย ปากีสถาน จีน บราซิล และประเทศอื่นๆ
เว็บไซต์ The Guardian ในปี 2016 รายงานว่า เตหะราน เมืองหลวงของประเทศอิหร่าน มีผู้ไร้บ้านกว่า 15,000 คน โดยมีชื่อเรียกพวกเขาว่า ‘Kartonkhab’ หรือผู้ที่อาศัยในกล่องกระดาษ แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมของชาวอิหร่านที่แข็งแรง จึงมีมูลนิธิและองค์กรนอกภาครัฐที่ออกมาให้ความช่วยเหลือเพื่อนในประเทศกันอย่างจริงจัง
Wall of Kindness เกิดขึ้นได้ก็เพราะสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดผู้ว่างงานจำนวนมาก โดยที่บางส่วนไม่มีที่อยู่อาศัยหรือเครื่องนุ่งห่ม ทำให้ช่วงฤดูหนาวปี 2015 กลุ่มวัยรุ่นชาวอิหร่านในเขตซัจจัด บูเลอวาร์ด ปิ๊งไอเดียในการสร้าง Wall of Kindness เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ยากไร้ และได้รับเงินระดมทุนจากชาวบ้านที่ต้องการสนับสนุน
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระแส Wall of Kindness ได้เดินทางมาถึงเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน และได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
เว็บไซต์ Huffington Post ได้ถ่ายทำวิดีโออาสาสมัครในแคมเปญ Wall of Kindness ที่บอกเล่าความตั้งใจในการช่วยเหลือเพื่อนผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในเมืองเบรุต ซึ่ง 70% มีความเป็นอยู่ที่ยากจน แคมเปญนี้ถือเป็นตัวอย่างของความเมตตาที่มนุษย์โลกยังคงมีให้กันอยู่
ตามมาติดๆ กับประเทศอินเดีย ในเมืองติรูเนลเวลิ ซึ่งยังคงมีปัญหาความยากจนในสังคมอย่างต่อเนื่อง พนักงานเก็บภาษีที่มีชื่อว่า Sandeep Nanduri ได้เปลี่ยนผนังตึกสำนักงานเก็บภาษีให้กลายเป็น Wall of Kindness แห่งใหม่ของอินเดีย ด้วยเหตุผลที่สถานที่แห่งนี้เป็นจุดรวมตัวของประชาชนหลายชนชั้น นอกจากนี้ในอินเดียยังมี ‘Neki Ki Deewar’ หรือ Wall of Kindness อีกหลายที่ ทั้งในเมืองชัยปุระ, จันฑีครห์, โภปาล และเดลี
จะว่าไปเราก็อยู่ในยุคที่หลายๆ คน ‘แชร์’ สิ่งต่างๆ บนหน้า ‘วอลล์’ อยู่แล้ว คงไม่ใช่เรื่องยากถ้าประเทศไทยจะหันมาสร้าง ‘Wall of Kindness’ ในพื้นที่ชุมชนกันดูบ้าง วันหนึ่งการ ‘แชร์’ โพสต์ที่มีประโยชน์ต่างๆ บนโซเชียลมีเดียของเราอาจจะกลายเป็น ‘การแบ่งปัน’ สิ่งของที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริงได้ด้วย
Cover Photo: difference.pk