×

ลอนดอนกับยุงสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพราะความเป็นเมือง

20.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เทรนด์ Urbanization ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เมืองไม่ได้มีผลเฉพาะแค่กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีผลกับสัตว์จำนวนมากด้วย เช่น หมาป่าไคโยตีที่ข้ามถนนได้เก่งขึ้น สิงโตภูเขาที่ถูกรุกล้ำที่อยู่จนต้องหลบซ่อนและหากินอย่างยากลำบาก หรือแม้แต่ ‘ยุง’ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมเมื่ออาศัยอยู่ในเมือง
  • ยุงที่อยู่บนพื้นดินในลอนดอนมีหลายสปีชีส์ แต่สปีชีส์หนึ่งที่พบมากคือ Culex Pipiens ที่กัดเฉพาะนกเท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในอุโมงค์รถไฟใต้ดินของลอนดอนมียุงที่มีพันธุกรรมต่างออกไป เป็น subspecies ที่เรียกว่า Culex Pipiens Molestus
  • ที่สำคัญก็คือเจ้า Molestus นี่ไม่ได้พบเฉพาะที่ลอนดอน แต่พบได้ในระบบโครงสร้างใต้ดินใหญ่ๆ ที่อื่นด้วย เช่น ในถ้ำ ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ทั่วยุโรปตะวันตก รวมไปถึงโตเกียว หรือกระทั่งนิวยอร์กก็ยังมี

ตอนนี้เทรนด์ Urbanization กำลังฮิต ไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่อง ‘ความเป็นเมือง’ กันไปทั่ว มนุษย์จะกลายเป็นมนุษย์เมือง เมืองในอนาคตจะมีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ การออกแบบคอนโดฯ อาคารสำนักงาน สาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ จะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้สำหรับรองรับและโอบรับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเพื่อจะได้มาอยู่ในเมืองร่วมกัน มนุษย์จะเข้ามาอยู่ในเมืองมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

บลา บลา บลา…

 

อ้าว แล้วสัตว์ล่ะ

 

การกลายไปเป็นเมืองนั้นไม่ได้มีผลเฉพาะแค่กับมนุษย์เท่านั้นนะครับ แต่ยังมีผลกับสัตว์จำนวนมากด้วย เช่น ในเมืองโคลัมโบของศรีลังกาก็มีรายงานการพบ ‘เสือปลา’ ในเมืองมากขึ้น มันเข้ามาจับสัตว์เล็กกินและซุ่มซ่อนตัวอยู่ตรงนั้นตรงนี้ตามมุมมืด หรือในนิวยอร์กและชิคาโก สัตว์อย่างหมาป่าไคโยตีก็เข้ามาอยู่ในเมืองพร้อมทั้งปรับรูปแบบการใช้ชีวิตหลายอย่าง เช่น ข้ามถนนได้เก่งกาจมากขึ้น รวมไปถึงสัตว์ใหญ่อย่างสิงโตภูเขาที่ไม่ได้อพยพเข้าเมือง แต่เมืองอย่างลอสแอนเจลิสรุกล้ำเข้าไปกินที่อยู่ของมันตามภูเขาในฮอลลีวูดเอง พวกมันก็เลยต้องหลบซ่อนและหาอาหารกินอย่างยากลำบากมากขึ้น

 

แต่เป็นความ ‘ยากลำบาก’ ของเมืองนี่เองครับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่ม ‘สงสัย’ แล้วว่าชะรอย ‘เมือง’ จะทำให้สัตว์พวกนี้ฉลาดขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า

 

แล้วถ้ามันฉลาดขึ้นล่ะ อย่างแรคคูน หมี หรือนกบางชนิด (เช่น นกฟินช์) ก็มีรายงานว่าถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างสัตว์ที่อยู่ในเมือง (หรืออยู่ใกล้ชุมชน) มันจะ ‘ฉลาด’ กว่าสัตว์ที่อยู่ในป่าในเขาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการหาอาหารด้วยวิธีที่ไม่มีในธรรมชาติ เช่น รู้วิธีเปิดกล่องอาหารหรือฝาถังขยะที่ปิดมิดชิด รวมไปถึงการข้ามถนนหรือหลีกเลี่ยงผู้คน (หรือในบางกรณีก็กล้าหาญมากขึ้น) ถ้าพวกมันฉลาดมากขึ้นแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บ้าง

 

คำถามนี้ยังไม่มีใครตอบได้อย่างแท้จริงนะครับ แต่กรณีที่ผมคิดว่าน่าสนใจเอามากๆ ก็คือเรื่องของ ‘ยุง’ ที่อาศัยอยู่ในรถไฟใต้ดินของลอนดอน

 

ถ้าใครเคยใช้บริการ Tube ของลอนดอนคงรู้ว่ามันสลับซับซ้อนและยาวยืดขนาดไหน อุโมงค์ของรถไฟใต้ดินนั้นเหมือนเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งที่ซ้อนอยู่ข้างใต้เลยนะครับ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเคยมีคนเข้าไปหลบภัยอยู่มากถึง 180,000 คน และภายในนั้นก็มีสัตว์จำพวกแมลงอยู่มากมาย

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาก็คือแล้วสัตว์ที่อยู่ใต้ดินนั้นย่อมเป็นพวกที่ ‘ถูกตัดขาด’ จากสัตว์ที่อยู่บนพื้นดิน คำถามก็คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้นหรือเปล่า เหมือนอย่างสัตว์ที่กาลาปาโกสหรือในออสเตรเลียที่เมื่อถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่แล้วก็เกิดวิวัฒนาการในแบบของตัวเองขึ้นมา

 

เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งคือ แคธารีน เบิร์น (Katharine Byrne) ได้มุดดินของลอนดอนลงไปศึกษาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ยุง’ ข้างใต้นั้น

 

ยุงที่อยู่บนพื้นดินในลอนดอนมีด้วยกันหลายสปีชีส์ แต่สปีชีส์หนึ่งที่พบมากคือยุงที่เรียกว่า Culex Pipiens มันเป็นยุงประเภทที่กัดเฉพาะนกเท่านั้น แต่แคธารีนพบว่าในอุโมงค์รถไฟใต้ดินของลอนดอนมียุงที่มีพันธุกรรมต่างออกไป เป็น subspecies ที่เรียกว่า Culex Pipiens Molestus

 

คำถามก็คือมันเกิดวิวัฒนาการจนแยกขาดจากกันหรือเปล่า

 

ยุง Culex นั้นเป็นยุงที่พบได้ทั่วไป แต่ด้วยความที่มันกัดเฉพาะนก คนก็เลยไม่ค่อยสนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นอันตรายอะไรกับคน อย่างไรก็ตาม แคธารีนพบว่าพอเป็น Culex Pipiens Molestus แล้วมันกลับมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป

 

อย่างแรกสุดก็คือยุง Culex ที่อยู่บนดิน (ต่อไปจะเรียกว่า ‘ยุงบนดิน’ และเรียกเจ้า Molestus ว่าเป็น ‘ยุงใต้ดิน’ แล้วกันนะครับ) จะมีการจำศีลในฤดูหนาว เพราะอากาศหนาวมากๆ นอกจากนี้เวลาที่ผสมพันธุ์กันมันจะกระทำการกันเป็นฝูงใหญ่ๆ คือบินว่อนผสมกันไปกับตัวโน้นตัวนี้ ใช้พื้นที่ในการผสมพันธุ์ค่อนข้างเยอะ และต้องการเลือดค่อนข้างมากในการวางไข่ ทั้งนี้ก็เพราะบนดินนั้นมีนกให้มันไปกัดมากมาย

 

ทว่าพอมาเป็นยุงใต้ดินแล้วพวกมันกลับไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้เลย อย่างแรกสุดก็คือใต้ดินไม่มีนกให้พวกมันไปกัดกินเลือด มันก็เลยเริ่มหันไปกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทน ซึ่งใต้ดินก็มีแค่หนูกับมนุษย์นี่แหละครับ แล้วมันก็ปรับตัวด้วย คือไม่ต้องใช้เลือดในการวางไข่เยอะมากนัก และเนื่องจากใต้ดินไม่มีฤดูหนาวที่หนาวขนาดนั้น มันก็เลยไม่ต้องจำศีลอะไร เรียกว่ามีอาหารให้กินพร้อม อากาศก็อบอุ่น พฤติกรรมหลายอย่างของมันจึงไม่เหมือนเดิม

 

แต่อีกเรื่องที่เปลี่ยนไปด้วยก็คือการผสมพันธุ์ เพราะใต้ดินไม่ได้มีที่ทางเยอะแยะกว้างขวาง ที่สำคัญก็คือปริมาณของยุงใต้ดินไม่ได้มีเยอะเหมือนยุงบนดิน พวกมันเลยไม่ได้ผสมพันธุ์กันแบบเป็นฝูงอีกแล้ว แต่หันมาผสมพันธุ์แบบตัวต่อตัวกันมากขึ้น

 

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าพอเกิดสภาวะใต้ดินบนดินที่แยกขาดจากกันแบบนี้ขึ้น ใช้เวลาแค่ราวๆ 100 ปีก็เพียงพอแล้วที่จะเกิด subspecies ใหม่ขึ้นมาได้ คือใช้ยุงราวๆ 200-300 รุ่นเท่านั้น ซึ่งขัดกับความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าวิวัฒนาการจะต้องค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ ทว่าในตัวอย่างของยุงนี้เราจะพบว่ามันเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เนื่องจากรถไฟใต้ดินของลอนดอนสร้างมาในปี 1863 ก็กินเวลาราว 150 กว่าปีเท่านั้น

 

แต่กระนั้นก็มีเสียงโต้แย้งว่า เอ๊ะ ยุงที่ว่านี้มันเกิดมาจากยุงบนดินสายพันธุ์ Culex จริงๆ หรือ หรือว่ามันเป็นยุงอีกประเภทหนึ่งไปเลยที่ลงไปอยู่ใต้ดิน เช่น ยุงที่มาจากการขนส่งผลไม้แล้วมันติดเข้าไปในโครงข่ายใต้ดินก็เลยถูกขังอยู่ในนั้น ไม่ได้เป็นยุงบนดินที่พลัดหลงบินเข้าไปใต้ดินหรอก

 

ที่สำคัญก็คือเจ้า Molestus นี้ไม่ได้พบเฉพาะที่ลอนดอนนะครับ แต่พบได้ในระบบโครงสร้างใต้ดินใหญ่ๆ ที่อื่นด้วย เช่น ในถ้ำ ในท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ทั่วยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะประเทศอบอุ่นอย่างสเปนและโปรตุเกส รวมไปถึงโตเกียว หรือกระทั่งนิวยอร์กก็ยังมี

 

ด้วยเหตุนี้ก็เลยต้องตรวจลึกกันลงไปถึงพันธุกรรมครับว่าเจ้ายุงใต้ดินกับบนดินของลอนดอนนั้นมีความใกล้ชิดเกี่ยวพันกันจริงหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นยุงใต้ดินดึกดำบรรพ์ที่ติดมากับการขนส่งต่างๆ

 

นั่นทำให้แคธารีนต้องไปเก็บตัวอย่างยุงจากใต้ดินหลายแห่งแล้วนำมาเปรียบเทียบทางพันธุกรรมดู คือถ้าเป็นยุงที่มาจากที่อื่นๆ มันก็ต้องมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับยุงใต้ดินตามที่ต่างๆ มากกว่าจะใกล้เคียงกับยุงบนดินของลอนดอน แต่ก็พบว่าพันธุกรรมของยุงใต้ดินนั้นใกล้เคียงกับยุงบนดินของลอนดอนมากกว่า ที่สำคัญก็คือยุงใต้ดินพวกนี้ยังมีพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกันเองมากจนคาดการณ์ได้ว่ามันสืบพันธุ์มาจากยุงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวกัน ซึ่งก็พอจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ได้ว่ายุงใต้ดินเหล่านี้น่าจะมีที่มาจากยุงบนดินของลอนดอนเองนั่นแหละครับ

 

นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งบอกว่าปลาชนิดหนึ่งที่อะแลสกาก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน มันเป็นปลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมจากที่เคยเป็นปลาทะเล แต่เกิดแผ่นดินไหวในยุค 60s พวกมันจึงถูกกักอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นทะเลสาบน้ำจืด พบว่าเมื่อผ่านไปราว 50 รุ่น พันธุกรรมของมันก็เปลี่ยนแปลงไป ยุงใต้ดินของลอนดอนก็อาจเป็นอย่างนั้นด้วย

 

เรื่องของยุงพาเราย้อนกลับไปที่ ‘ความเป็นเมือง’ ซึ่งว่ากันมาตั้งแต่ต้นว่าการกลายไปเป็นเมืองนอกจากจะทำให้มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สัตว์ก็ยังเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน และถ้าย้อนกลับมาคิดโดยดูตัวอย่างจากสัตว์ก็อาจเป็นได้เหมือนกันนะครับที่ตัวมนุษย์เราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ ‘ลึก’ ลงไปถึงระดับพันธุกรรมโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการอยู่ในเมืองนี่เอง

 

เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กเลย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X