×

หวั่นปลาหมดทะเล ประชาสังคมชี้ หากยังจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เสี่ยงไม่เหลือปลาให้จับในอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
14.07.2021
  • LOADING...
สัตว์น้ำ

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ( CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood in Thailand) เปิดตัวงานวิจัยล่าสุดเรื่อง ‘การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ พร้อมจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย’ ซึ่งสนับสนุนโดยองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และสหภาพยุโรป เพื่อย้ำให้เห็นถึงวิกฤตอาหารทะเลหากไม่หยุดขายและบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมเรียกร้องผู้บริโภคส่งสารถึงซูเปอร์มาเก็ตให้เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะหมดแล้วจริงๆ

 

บริโภคสัตว์น้ำโตไม่เต็มวัย ใครเป็นคนเริ่ม

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตกคือการเอาสัตว์น้ำละอ่อนมาใช้ในการบริโภค โดยพบว่าในการประมงนั้นมีการจับสัตว์น้ำละอ่อนเยอะมากซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตลอดจนเศรษฐกิจและผู้บริโภคเอง เนื่องจากเมื่อสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยถูกจับไปจนหมดจึงไม่เหลือสัตว์น้ำให้ขยายพันธุ์ในเวลาต่อๆ ไป ที่ผ่านมาเมื่อสัตว์น้ำละอ่อนถูกจับมาวางขายมักถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเสมอจนผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นปลาสายพันธุ์เล็ก ไม่ใช่ปลาวัยอ่อน

 

“เช่น ปลาทูวัยเด็กที่ถูกจับมาขายจะถูกนำไปเปลี่ยนชื่อเป็นปลาทูแก้ว หรือหมึกกล้วยวัยละอ่อนจะถูกเรียกว่าหมึกกะตอย ปลากะตักก็ถูกใส่ชื่อว่าเป็นปลาข้าวสาร หรือปูม้าวัยละอ่อนก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นปูกะตอย โดยผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์เล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นสัตว์น้ำวัยเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย” วิโชคศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่หลายคนมองว่าทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจต้องไปแก้ไขที่ชาวประมง โดยเน้นไม่ให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อน จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สัตว์วัยอ่อนเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก การใช้เครื่องมือจึงต้องเล็กกว่าตัวปลา ซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้จับกันได้บ่อยนัก โดยการทำประมงนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือชาวประมงพื้นบ้านที่จะออกเรือแค่วันละครั้ง จับสัตว์น้ำแบบแยกประเภท ทำให้การออกเรือแต่ละครั้งต้องนำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดไป ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ ต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ขณะที่ประมงพาณิชย์เป็นประมงขนาดใหญ่ เครื่องมือมีความพร้อมกว่า ถ้าเป็นอวนล้อมจับจะออกคืนหนึ่ง 3-5 ครั้ง ทำให้จับสัตว์น้ำได้เป็นปริมาณมาก

 

จิรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า มีช่วงหนึ่งที่ตนจับปลาผิดประเภทโดยใช้อวนตาถี่จับลูกปลา วันหนึ่งหลายพันกิโลกรัม ทำให้เมื่อปี 2551 เกิดวิกฤตในประเทศคือไม่มีปลาให้จับ ต้องอพยพครอบครัวไปหากินที่ต่างอำเภอ

 

“จนสมาคมรักษ์ทะเลไทยก็ได้มาลงพื้นที่ ถอดบทเรียนในการทำประมง ว่าทำไมเมื่อก่อนปลาเยอะแต่ตอนนี้ไม่มีปลาให้จับเลย ก็ได้ข้อสรุปว่าเราจับลูกปลาหมดจนไม่มีปลาขยายพันธุ์เลย เราจึงเลิกใช้อวนปลาขนาด 2.5 เลย เป็นข้อตกลงในชุมชนว่าจะไม่ใช้อวนขนาดเล็กมาจับปลาอีก ทำให้เห็นภาพว่าถ้าเราใช้ลูกปลาทะเล อาชีพเราก็พัง แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาโตแล้วค่อยจับ เราก็มีโอกาสรอด” จิรศักดิ์สรุป

 

ฝันร้ายของระบบนิเวศ เมื่อสัตว์น้ำละอ่อนถูกกิน

การที่สัตว์น้ำวัยเด็กหายไปจากน่านน้ำทะเลนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ ดังที่วิโชคศักดิ์อธิบายว่า ปลาที่ถูกมนุษย์จับมาวางขายมากที่สุดคือปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กโดยธรรมชาติไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยโต ทำให้มันเป็นอาหารหลักของปลาทุกชนิดในระบบนิเวศ แต่เมื่อมนุษย์จับปลากะตักมาขายทำให้ห่วงโซ่อาหารตรงนี้ขาดหายไป และทำให้ปลาโตกว่าต้องหันมากินลูกตัวเอง

 

“ต่อมาคือตัวปลาอย่างอื่นก็เริ่มลดน้อยถอยลงไป ปลาทูแทบจะหายไปจากทะเลไทย มนุษย์ที่ไปจับปลาจึงจับได้น้อยลงทำให้ต้องจับมากขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบหลักๆ คือชาวประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อย ส่วนประมงพาณิชย์ก็ต้องออกเรือให้จับได้มากขึ้น ใช้เวลา อวน และน้ำมันเรือมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะต้องใช้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากจึงจะมีน้ำหนักครบหนึ่งกิโลกรัม แต่ถ้าเรารอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัยแล้วขายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากถึงขนาดนั้น อันที่จริงก็รอเพียง 6 เดือน ปลาส่วนใหญ่ก็โตเต็มวัยและทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนเป็นราคาถูกลง โดยหากไม่จัดการเรื่องนี้จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง คนไทยจะกินปลาที่แพงมากขึ้น หาปลาที่มีคุณภาพมาบริโภคได้ยากมากขึ้น” วิโชคศักดิ์กล่าว

 

ด้าน ดวงใจ พวงแก้ว Producer Outreach Manager – SE Asia องค์กรมาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืน ASC เสริมว่า สัตว์น้ำแต่ละสายพันธุ์นอกจากจะมีหน้าที่เรื่องห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ยังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกันในการสร้างความสมดุลในท้องทะเล หากมนุษย์บริโภคมากไปโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้ฟื้นฟู เช่น บริโภคโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสแพร่พันธุ์หรือรักษาความสมดุลในระบบนิเวศก็อาจจะเกิดปัญหา

 

“ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ เมื่อออกเรือจากที่เมื่อก่อนออกไปไม่นานก็ได้สัตว์น้ำกลับมาคุ้มค่าแรง แต่เมื่อสัตว์น้ำน้อยลงทำให้เรือประมงวิ่งออกไปไกลมากขึ้น หมดน้ำมันมากขึ้น เสียทรัพยากรแรงงานและเวลา ทั้งยังก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินต์มากขึ้น และสิ่งต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อชดเชยในการเอาอาหารทะเลกลับมายังฝั่งด้วย” ดวงใจกล่าว

 

ส่วน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) ประเทศไทย กล่าวว่า หากดูประมงโลกจะพบว่าจีนเป็นมหาอำนาจของประมงทะเล เข้าใจว่ากองเรือประมงออกหาปลามีจำนวนมาก จีนจับปลา 15% ของประมงโลก โดยนิยมจับปลาเป็ดจนส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีน 80% เป็นปลาวัยอ่อน ปริมาณของปลาเป็ดเหล่านี้มากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน เพราะนโยบายการประมงของจีนนั้นท้าทายมาก และได้มีการคุยกันว่าพยายามการลดการทำประมงทะเลให้เหลือ 10 ล้านตันต่อปีจาก 12-13 ล้านตัน และลดจำนวนกองเรือประมงลง จะช่วยให้ทะเลฟื้นฟูกลับมาได้ระดับหนึ่ง

 

“กรีนพีซในตุรกีมีงานรณรงค์เรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน และมีคนร่วมลงชื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด กว่า 5-6 แสนคน ทั้งยังมีการกดดันในหลายๆ ทางจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงในตุรกีตามมา” ธารากล่าว

 

โดยวิโชคศักดิ์เสริมว่า จากรายงานวิจัยล่าสุดเรื่อง ‘การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ พบว่า กลุ่มที่มีการซื้อขายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากที่สุดไล่ตามลำดับ คือ

1. ห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก
2. กลุ่มตลาดขายของฝาก
3. ตลาดสด
4. ตลาดออนไลน์ต่างๆ 

 

“ผลจากการสำรวจใน 15 จังหวัด พบว่าความนิยมของการบริโภคในผู้คนในจังหวัดชลบุรีมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือนครราชสีมา ต่อมาคือกรุงเทพมหานคร แปลว่ากลุ่มเมืองใหญ่ที่มีผู้คนเยอะ มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเยอะ เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทย” วิโชคศักดิ์กล่าว

 

ภาคประชาชนทำอะไรได้บ้างไหม

ธารากล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องการการเปิดเวทีให้คนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ โดยเฉพาะผู้บริโภคซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมของทะเลไทย ตนคิดว่าอาจต้องใช้แคมเปญดึงดูดใจ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมผู้บริโภคแต่ละคนในเมืองหลวงที่ซื้อของจากโมเดิร์นเทรดให้มองว่าปลาต่างๆ โยงไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนที่ดูแลทะเล และแสดงให้เห็นว่าพลังผู้บริโภคในเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางทะเลไทย ส่วนดวงใจเสริมว่าสิ่งที่เราขาดกันคือการให้ชื่อสินค้าเป็นชื่อแบบอื่นทำให้ผู้บริโภคเองอาจหลงลืมและเข้าใจผิดว่าเป็นสายพันธุ์ปลา จึงต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ต่อผู้บริโภคด้วย

 

จิรศักดิ์ซึ่งเป็นชาวประมงและอยู่ต้นน้ำนั้นกล่าวว่าทะเลไม่ต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย แต่ถ้าใส่ใจก็จะส่งทะเลให้ลูกหลานได้ ตนกำลังจะส่งต่อทะเลให้ลูกหลาน

 

 “ชาวประมงส่วนใหญ่รู้ว่าปลาที่จับนั้นเป็นปลาอะไร เราแยกขนาด สายพันธุ์ได้ หากเรายั้งใจรออีก 6 เดือนให้สัตว์น้ำโตก็จะเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตนก็อยากเห็นท้องทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง” จิรศักดิ์กล่าว

 

ด้านวิโชคศักดิ์กล่าวปิดท้ายว่า ต้องมีการร่วมมือกันจากคน 4 กลุ่ม ได้แก่ ชาวประมงที่เป็นคนจับปลา หากทะเลกลับมาสมบูรณ์ชาวประมงจะได้กำไรและไม่ต้องออกทะเลไกลๆ อีกแล้ว ลำดับต่อมาคือผู้บริโภค หากจะต้องซื้อสัตว์น้ำก็สามารถซักถามได้ หรือเข้าร่วมแคมเปญต่างๆ ร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อบรรดาตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้หยุดขายสินค้าสัตว์น้ำวัยอ่อน

 

“ลำดับต่อมาคือภาครัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นภาพรวมให้ได้ ส่วนไหนที่ควรตัดสินใจก็ให้ภาครัฐตัดสินใจเสีย ลำดับสุดท้ายคือห้างโมเดิร์นเทรดที่เป็นตลาดใหญ่มาก จากผลสำรวจชี้ชัดว่าเป็นมือที่สำคัญในห่วงโซ่การบริโภคอาหารทะเล ไม่ต้องรอกฎหมาย แต่ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจว่าจะไม่ขายสัตว์น้ำยังไม่โตเต็มวัย และตนหวังว่าจะเกิดขึ้นได้จริง” วิโชคศักดิ์กล่าว

 

ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีแคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ’ ซึ่ง ธันวา เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่ ได้สร้างแคมเปญนี้เพื่อรณรงค์เลิกกินปลาเล็กผ่านเว็บไซต์ Change.org/BabySeafood โดยเชิญชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันลงชื่อเพื่อบอกกับซูเปอร์มาร์เก็ตให้เลิกขายสัตว์น้ำวัยอ่อน ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่ทั่วประเทศรวมกันหลายพันสาขาเลิกขายก็จะช่วยตัดตอนวงจรระหว่างคนจับและคนซื้อไปได้มหาศาลแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising