“กราบเท้าคุณแม่ ตอนนี้ผมสอบเข้าโรงเรียน ม.ปลายคุโรมาตี้ได้เรียบร้อยแล้วครับ”
ประโยคเปิดตัวจากการ์ตูนเรื่อง โรงเรียนคนบวมคุโรมาตี้ ที่ คามิยามะ ทากาชิ เด็กหนุ่มผู้ใสซื่อ (แต่เลวบริสุทธิ์!) จรดปากกาส่งข้อความถึงคุณแม่
กลายเป็นปฐมบทจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ ‘บั่นทอนปัญญา’ ที่อยู่ๆ ก็ลอยเข้าหัวเราขึ้นมา หลังจากได้ยิน ‘ผู้ใหญ่’ ช่างฟ้องคนหนึ่งพูดคำว่า ‘กราบเรียน’ ในการสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์อยู่ซ้ำๆ จนหลายคนรู้สึกไม่อยากได้ยิน
อาจเพราะหลายคนสัมผัสได้ถึงความไม่จริงใจในการพูดคำว่า ‘กราบเรียน’ ที่ควรจะบ่งบอกถึงมารยาทในการสื่อสาร เลยเป็นได้เพียง ‘มีม’ ที่ถูกนำมาล้อเลียนเป็นเรื่องขำขัน
ผิดกับคำขึ้นต้นจดหมายของคามิยามะ ที่ถึงแม้จะตามมาด้วยมุกตลกหน้าตาย เรื่องราววุ่นวายที่หลายครั้งคนอ่านก็เข้าไม่ถึง แต่คนอ่านกลับเต็มรู้สึกอยากติดตามความคิดของเขาและเพื่อนๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้หลายคนจะมองว่าคามิยามะเป็นเด็กไม่ดี (หรือ ‘เลว’ ที่สุดในเรื่อง!) แต่เขาก็มีมุมน่ารักที่มักจะเขียนจดหมายที่ขึ้นต้นว่า ‘กราบเท้าคุณแม่’ แล้วอัปเดตชีวิตในโรงเรียนให้แม่ฟังอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ระบบการเดบิวต์ของนักเรียน ม.ปลาย, ปณิธานการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน, การขึ้นรถไฟไปทัศนศึกษาที่อยู่ๆ ก็มีม้าขึ้นมาป่วน ไปจนถึงการเป็นรุ่นพี่ปี 2 ที่อยากเปลี่ยนแปลงความคิดของรุ่นน้องปี 1 (เพราะเปลี่ยนเพื่อนๆ ไม่ไหวแล้วจริงๆ)
ถึงแม้เรื่องราวและชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นระหว่างคามิยามะจะเข้าขั้น ‘บั่นทอนปัญญา’ แบบสุดๆ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปเราจะเห็นว่าภายใต้มุกตลกหน้าตาย ตัวละครคาแรกเตอร์จัดอย่าง ฮายาชิดะ ตัวนำบทสนทนาออกทะเล, มาเอดะ ที่ต่อสู้เก่งแต่ถูกลืม และมีแม่หน้าเหมือนตัวเองเปี๊ยบ, ทาเคอุจิ หัวโจกจอมโหดแต่เมารถ
ไอ้โม่งผู้ก่อการร้ายที่กลายเป็นนักเรียน, โฮกุโตะ เด็กหนุ่มขี้โม้ที่ฝันอยากครองโรงเรียน, เฟรดดี้ พี่กล้ามที่ถอดแบบมาจากฟรอนต์แมนวง Queen, แก๊ง ‘จตุรอาชา’ ที่ดันมีสมาชิก 5 คน, หุ่นยนต์ปริศนาเมก้าซาวะ, กอริลลาที่ไม่รู้มาจากไหน, แบงก์พันบนหลังตู้เย็น ฯลฯ และตัวประกอบอีกมากมายที่มีเอกลักษณ์นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจซ่อนอยู่
โดยเฉพาะบทสนทนาระหว่างกลุ่มเพื่อน (และแก๊งอื่นๆ) ที่คามิยามะมักจะชวนเพื่อนๆ ถกเถียงในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ชวนนักเรียนคนบวมหาคำตอบ แต่ยังชวนให้คนอ่านตั้งคำถามในประเด็นใหญ่ที่มีความสำคัญ (ถึงแม้คำตอบที่ได้จะหลงประเด็นไปไกลก็เถอะ) อยู่หลายครั้ง
ตั้งแต่การคงไว้ซึ่งความดีงามของสิ่งเก่า หรือการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใหม่ ต้องใช้ความกล้ามากขนาดไหนเพื่อปฏิวัติรูปลักษณ์ภายนอก การเดาพฤติกรรมของคนอ่านที่สะท้อนการทำงานที่อิงความนิยมของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ปัญหากล่องนมพาสเจอไรซ์ที่เพิ่มภาวะเรือนกระจก การใช้ชีวิตให้คุ้มค่าหากเหลือเวลา 1 สัปดาห์ก่อนโลกจะแตก ฯลฯ
แน่นอนว่าหลายๆ แนวคิดนั้นสุดโต่ง บางเรื่องก็หลุดโลกจนไม่สามารถนำมาใช้ได้ในความเป็นจริง แต่สิ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือพวกเขายอมรับใน ‘ความคิดที่แตกต่าง’ และพร้อมถกเถียง ช่วยกันตรวจสอบ หาคำตอบกันอย่างจริงจัง
ไม่ด้อยค่าความคิดของใครว่าเป็น ‘เฟกนิวส์’ ที่สำคัญคือไม่เคยใช้กำลัง และไม่ต้องเสนอชื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมา ‘ตรวจสอบ’
เราเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงทางความคิด สำรวจทุกความเป็นไปได้ให้มากที่สุด คือเรื่องสำคัญที่ทำให้ทุกคนในโรงเรียนคนบวมคุโรมาตี้เติบโตขึ้นมาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่น่าเคารพ ยอมรับฟังทุกเสียงที่แตกต่าง ยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้อง
จะพูดหรือนำเสนอประเด็นไหนขึ้นมาก็มีผู้คนพร้อมรับฟัง โดยไม่ต้องขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า ‘กราบเรียน’ ให้คนหัวเราะ
*หมายเหตุ: ตอนนี้ THE STANDARD POP มีรายการใหม่ #โลกคือการ์ตูน ที่จะนำการ์ตูนหลายๆ เรื่อง มาตีความถึงแง่มุมต่างๆ ทั้งทางชีวิต สังคม และการเมือง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวหนังสือและลายเส้นที่เราหลงรัก
สามารถรับชมรายการได้ที่