ความสนใจเรื่องแมลงในฐานะแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนกำลังเติบโตขึ้น เนื่องจากโลกยังคงต่อสู้กับการเติบโตของประชากรและการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นี่กลายเป็นอีกหนึ่งโอกาสของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่หวังเปลี่ยนจิ้งหรีดเป็น ‘แหล่งรายได้’
Nikkei Asia ระบุว่า โครงการนี้นำโดย มีชัย วีระไวทยะ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2528 และ 2529 ก่อนที่จะทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2534 และ 2535 ซึ่งรู้จักกันในนาม ‘มิสเตอร์คอนดอม’ จากบทบาทในการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์
ฟาร์มจิ้งหรีดตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของศูนย์การศึกษาในตำบลโคกกลาง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายในประกอบด้วยภาชนะพลาสติกจำนวนมาก แต่ละกล่องมีกล่องไข่และแมลงซึ่งทำรังในกล่อง บางครั้งก็โผล่หัวออกมาเพื่อค้นหาอาหารและน้ำ โดยการเลี้ยงจิ้งหรีดแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
“ผมมีความสุขที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ผมหวังว่ามันจะช่วยให้ชาวบ้านสร้างรายได้แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม” พีรวัฒน์ ขันเงิน วัย 21 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแมลงกล่าว
Nikkei Asia ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน 10 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) แต่ยังมีช่องว่างรายได้ระหว่างเมืองและชนบทอยู่มาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นส่วนที่ยากจนที่สุดของประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมหลักคือเกษตรกรรม ซึ่งในปี 2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของภูมิภาคอยู่ที่ 83,856 บาท น้อยกว่า 1 ใน 5 ของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง
ความสนใจเรื่องแมลงในฐานะ ‘แหล่งโปรตีนใหม่’ กำลังเติบโต ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2593 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการผลิตอาหารจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2553
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปศุสัตว์แบบดั้งเดิมอย่างวัวและสุกรทำให้เกิดภาระหนักต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับวัว หมู และไก่ การเลี้ยงจิ้งหรีดใช้ที่ดิน อาหาร น้ำเพียงเศษเสี้ยว และพวกมันก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ามาก
ในประเทศไทยแมลงเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่คนไทยกินเป็นปกติ อย่างไรก็ตามชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์เคยทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดมาก่อน แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เนื่องจากไม่มีช่องทางการขาย แต่มีชัยคิดว่าครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เพราะเขาได้รับการช่วยเหลือจาก Global Bugs Asia ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-สวีเดน ที่ได้สนับสนุนไข่จิ้งหรีดและอาหารสัตว์ รวมถึงคำแนะนำในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด
Global Bugs Asia นั้นผลิตโปรตีนบาร์ ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากจิ้งหรีดผง สินค้าไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงญี่ปุ่นและที่อื่นๆ
มีชัยหวังที่จะสร้างช่องทางการค้าให้กับจิ้งหรีดจากชุมชนโคกกลาง โดยเน้นย้ำถึงมาตรฐานด้านสุขอนามัยซึ่งได้เรียนรู้จาก Global Bugs Asia
แม้โครงการยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่มีชัยหวังว่าโครงการนี้จะสร้างงานให้กับชาวบ้านที่ด้อยโอกาส รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ และสตรีที่สูญเสียงานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “จิ้งหรีดจะช่วยเพิ่มรายได้ในท้องถิ่น” มีชัยกล่าว
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: