เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เร่งเครื่องกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น เปิดตัวแบรนด์ราเมนชื่อดังจากญี่ปุ่นเสริมพอร์ต ก่อนเร่งขยายสาขาเพิ่ม พร้อมพัฒนาเมนูใหม่ บุก Ready to Eat แย้มปี 2566 เล็งเปิดอีก 2-3 แบรนด์ใหม่รองรับกระแสวัยรุ่น
ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีมูลค่า 28,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงโควิดเล็กน้อย ซึ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง เริ่มกลับมาฟื้นตัว เห็นได้จากบรรยากาศที่ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะเติบโต 15% ต่อปี
แน่นอนว่าทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เริ่มมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามาในตลาด โดยเฉพาะร้านอาหารปิ้งย่างทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น รวมไปถึงร้านอาหารพรีเมียม ที่ก่อนหน้านี้อยู่แถวสุขุมวิท ทองหล่อ วันนี้เริ่มเข้ามาเปิดสาขาในศูนย์การค้า และได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
เช่นเดียวกับกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นของบริษัท ประกอบด้วยแบรนด์ เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ และ คัตสึยะ ในช่วงโควิดเน้นขายเดลิเวอรี ทำให้สัดส่วนยอดขายเติบโตถึง 50% แต่ปัจจุบันเริ่มลดลงมาเหลือ 20% ขณะที่ช่องทาง Dine in ทราฟฟิกเริ่มกลับมา จึงเริ่มปรับกลยุทธ์พัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มแมสและพรีเมียมแมส ควบคู่กับการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มองเกมรบ CRG เปิด KFC ในตึกแถว, ปั้น Virtual Brand, เตรียมงบ 500 ล้าน ทำ M&A หวังรายได้ 12,100 ล้านบาท
- เปิด Café by Arigato ในร้าน KFC หนึ่งในวิธีกระตุ้นยอดขายของ CRG หลังโควิดทำกำลังซื้อและลูกค้าเดินเข้าร้านน้อยลง
- CRG ทุ่ม 520 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 51% ของ ‘Shinkanzen Sushi’ ร้านอาหารญี่ปุ่น ซูชิที่ขายเริ่มต้นคำละ 11 บาท
ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 1-3 ปี 2565 มียอดขาย 1,500 ล้านบาท โดยร้านอาหารญี่ปุ่นคิดเป็น 20 ของภาพพอร์ตร้านอาหาร CRG และตั้งเป้าสิ้นปี 2565 จะสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่า 35% หรืออยู่ที่ 2,300 ล้านบาท
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องมองระยะไกลก็คือ การ Diversify ขยายพอร์ตโฟลิโอ แม้ปัจจุบัน CRG จะมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือหลากหลาย แต่ยังไม่มีแบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างที่กำลังเป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ล่าสุดเตรียมเปิดตัวแบรนด์ ‘ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ’ (Ramen Kagetsu Arashi) ร้านราเมนระดับ Top 3 ของญี่ปุ่น ที่ทำตลาดมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันมีกว่า 290 สาขาทั่วโลก ทั้งในไต้หวันและเซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทได้ซื้อเข้ามาในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะมองว่ามีโอกาสและตลาดราเมนในไทยมีการเติบโตค่อนข้างดี จึงต้องการทำให้ราเมนกลายเป็นเมนูที่คนกินได้ทุกๆ วัน ในราคาที่เข้าถึงง่าย เริ่มต้น 150 บาท
เบื้องต้นเตรียมเปิดสาขาแรกในปี 2565 และมีแผนเปิดเพิ่มอีก 5 สาขาในปี 2566 พร้อมกับเตรียมขยาย Category อื่นๆ เช่น อาหารปิ้งย่าง อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ 2-3 เจ้า ซึ่งจะเป็นแบรนด์ระดับ Top 3 ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด
ทั้งนี้ การซื้อแฟรนไชส์มาบริหารมีการเติบโตเร็วกว่าการสร้างแบรนด์เอง เพราะแบรนด์ที่เราตัดสินใจนำเข้ามามีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วสารทิศ โดยเฉพาะอาหารเกาหลีหลังจากมีกระแส K-Pop เข้ามา ทำให้เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ยังถือว่าน้อยกว่าร้านอาหารญี่ปุ่น
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 ทุกๆ แบรนด์ในพอร์ตร้านอาหารญี่ปุนต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยได้เพิ่มงบลงทุน 40% เพื่อใช้ขยายสาขาเพิ่ม 20 แห่ง ทั้งเปปเปอร์ ลันช์, โอโตยะ, เทนยะ และ คัตสึยะ โฟกัสหลากหลายโมเดล ทั้งร้านขนาดเล็กและในรูปแบบ Hybrid Cloud ให้มีรวมกันราวๆ 235 สาขา กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเร่งสร้างยอดขาย และสอดรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
จากปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่นมี 211 สาขา (ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2565) แบ่งเป็นร้านแบบ Hybrid Cloud จำนวน 16 สาขา ในกรุงเทพฯ 68% และต่างจังหวัด 32%
ธีรวัฒน์กล่าวต่อถึงการนำ Innovation ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดเมนูใหม่ๆ จากนี้จะเพิ่มเติมในส่วนของสินค้าในกลุ่มพรีเมียมเพื่อเพิ่มทางเลือก และเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาอาหารพร้อมทานและสินค้าอาหารพร้อมปรุง เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายของภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นลากยาวไปจนถึงปี 2566 โดยเฉพาะวัตถุดิบนำเข้า แซลมอนและเนื้อ ทำให้ต้นทุนรวมของพอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 10% จึงอาจมีการปรับขึ้นราคาบ้าง แต่ไม่ถึงกับกระทบผู้บริโภคมาก แต่หลักๆ จะสร้างแรงกดดันต่อการบริหารรายได้มากกว่า
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัลมีแบรนด์ต่างๆ อยู่ในพอร์ตโฟลิโอกว่า 14 แบรนด์ เช่น มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่, เดอะ เทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, สุกี้เฮ้าส์ และเกาลูน รวมร้านอาหารในเครือมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ