คราฟต์เบียร์ในบ้านเราได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแบรนด์คราฟต์เบียร์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างถูกต้องประมาณ 50 แบรนด์ รวมจำนวนมากกว่า 100 ฉลาก และยังมีบริวผับ (Brewpub) ที่กำลังจะเปิดใหม่อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนคราฟต์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศปัจจุบันมีเกือบ 1,000 SKU และคาดว่ามีร้านรายย่อยที่เริ่มมีคราฟต์เบียร์จำหน่ายทั้งผลิตในประเทศไทยและนำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้านด้วย
ในมุมมองของ ประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด ให้ความเห็นว่า แม้ตลาดคราฟต์เบียร์จะมีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่ปัจจุบันมูลค่าตลาดยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก จากข้อมูลในปี 2565 ตลาดคราฟต์เบียร์รายย่อยทั้งของแบรนด์ไทยและนำเข้าจากต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 0.5-1% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2.7 แสนล้านบาท
“ตลาดเบียร์สัดส่วนมากถึง 97% ยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดคราฟต์เบียร์ไทยและคราฟต์เบียร์ที่บริวในผับรายย่อยต่างๆ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2-3 ร้อยล้านบาทเท่านั้น ไม่นับตัวเลขที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนอีกส่วนหนึ่ง”
สำหรับกรุ๊ปบี จัดจำหน่ายและทำตลาดคราฟต์เบียร์จากผู้ผลิตไทย ทั้ง Year-Round และ Seasonal ทั้งกลุ่มตลาดระดับ C จนถึง A เช่น ผีบอก แซนพอร์ต ยอดเบียร์ เหน่อเบียร์ อันเดอร์ด็อก เทพพนม หรือ Taopiphop Ale Project ก็ด้วย และในปีนี้ได้เริ่มจำหน่ายสุราชุมชนเข้ามาในพอร์ต สังเวียน นาสาร และ Red Jungle รวมทั้งกำลังจะมีสุราเทวะเพิ่มมาอีกด้วย
ส่วนคราฟต์เบียร์ไทยในพอร์ตของกรุ๊ปบีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 ปีมีอัตราการเติบโตถึง 400% และยังมีผู้ประกอบการในตลาดคราฟต์เบียร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย ขณะที่ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศยังถือว่ามีบทบาทสำคัญในตลาดอยู่ไม่น้อย ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้อย่างแน่นอน
ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคราฟต์เบียร์ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเลือกเบียร์ของตัวเอง เช่น เลือกรสชาติที่ชอบ เลือกฉลากหรือยี่ห้อที่ชอบ หรือเลือกตามงบประมาณที่ตัวเองมี และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกคราฟต์เบียร์ที่ตนเองมั่นใจในรสชาติและยี่ห้อเป็นหลัก ซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่ต่างจากดื่มเบียร์ทั่วไปในตลาด จึงทำให้คราฟต์เบียร์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกประเภท
“ทุกคนรู้จักคราฟต์เบียร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคส่วนมากให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็นการให้โอกาสสินค้าประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าเบียร์ทุกตัวสามารถเป็นกระแสได้ ถ้ามีการแนะนำให้พวกเขารู้จักและทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดเรื่องการห้ามโฆษณา ทำให้การสื่อสารเรื่องของแบรนด์ดิ้งและสินค้าทำได้ค่อนข้างยาก”
กระนั้นพบว่าผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย ทั้งด้านการผลิตและการทำตลาด ซึ่งผู้ผลิตคราฟต์เบียร์มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตทำโรงเบียร์ขนาดเล็กที่บรรจุสินค้าออกจำหน่ายภายนอกได้ รวมถึงต้องการให้กระทรวงการคลังแก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการทุกรายต้องการทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย
นอกจากนี้อยากให้มีการคิดอัตราภาษีของคราฟต์เบียร์เท่ากับภาษีสุราแช่อื่นๆ ด้วย เพราะปัจจุบันคราฟต์เบียร์เสียภาษีสูงกว่าสุราแช่ประเภทอื่นๆ หลายเท่าตัว ทั้งที่กระบวนการผลิตไม่ได้แตกต่างกัน
ที่สำคัญพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หรือที่เรียก พ.ร.บ.ต้านเหล้า ยังถือว่าเป็นอุปสรรคที่กีดขวางการประกอบอาชีพสุจริตของประชาชนชาวคราฟต์เบียร์ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รวมตัวจัดแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้มีการควบคุมที่สมเหตุสมผลและวัดประสิทธิภาพได้จริง
สำหรับการเปลี่ยนแปลงอยากให้เป็นไปในเชิงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าและมีการพัฒนาระบบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย อยากให้ภาครัฐเชื่อใจผู้ผลิตและประชาชนมากขึ้นว่ามีความต้องการสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างแท้จริง
“เราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการแบบเร่งด่วนใน 3 เรื่อง ดังนี้ หนึ่งคือ ปลดล็อกเวลาห้ามขายในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. และวันสำคัญทางศาสนา ต่อเนื่องไปถึงเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ต้านเหล้า สองคือ เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตขออนุญาตสร้างโรงเบียร์ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องขนาด สามารถบรรจุและส่งขายทั่วไปได้ จะทำให้คนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และสาม ปรับฐานภาษีสรรพสามิตของเบียร์ลงให้เท่าเทียมกับสุราแช่อื่นๆ เพื่อเป็นการลดจำนวนสินค้านอกระบบและเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้มากขึ้นด้วย”