×

Cracked: สีและความเชื่อ ทำไม ‘คังคุไบ’ ราชินีมาเฟียแห่งกามธิปุระ ถึงใส่แต่ส่าหรี ‘สีขาว’ ในหนังเรื่อง Gangubai Kathiawadi

13.05.2022
  • LOADING...
Gangubai Kathiawadi

*คำเตือน: บทความนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

 

“ขืนฉันใส่ส่าหรีสีขาวตั้งแต่ยังเด็ก ลูกค้าฉันหนีหมดแน่”

 

“ถ้าเธอใส่เสื้อสีขาวตัวนี้ เธอจะดูเหมือนนักการเมืองเลย”

 

ใครที่ได้ดู Gangubai Kathiawadi ภาพยนตร์อินเดียความยาว 2.30 ชั่วโมงที่เข้าฉายผ่านสตรีมมิง Netflix ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกแฟนหลอกเอามาขายในซ่องโสเภณี ณ กามธิปุระ ย่านโคมแดงในมุมไบ จนทำให้ชีวิตต้องผันผวน จากหญิงสาวมีฐานะและการศึกษาดีในสมัยนั้น สู่ชนชั้นที่แม้แต่เปิดบัญชีธนาคารยังไม่ได้รับสิทธิ 

 

ในวันที่ คงคา นางเอกของเรื่องเปลี่ยนสถานะจาก คังคุ มาเป็น คังคุไบ (Gangubai) หญิงสาวขายบริการธรรมดาสู่แม่เล้าดูแลเด็กในซ่อง กัมลี เพื่อนสนิทของเธอและหญิงสาวคนอื่นๆ ต่างให้ของขวัญเธอเป็นส่าหรีตัวสีขาว สีที่คังคุไบบอกว่า ถ้าเธอใส่ ใครจะกล้ามาเป็นลูกค้า หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็ได้เห็นคังคุไบในลุคสีขาวตลอดเวลา ไม่ว่าเธอจะเดินเฉิดฉายไปส่วนไหนของย่านกามธิปุระก็ตาม สีขาวหมายถึงอะไร ทำไมคังคุไบถึงเลือกใส่สีขาวตลอดทั้งเรื่อง? 

 


 

อ่านเพิ่มเติม:

 


 

 

🔸✽✺ สีขาว สีแห่งการเริ่มต้นและบริสุทธิ์ ✺✽🔸

 

เราไม่มั่นใจว่าในชีวิตจริงของคังคุไบสวมสีขาวบ่อยแค่ไหน แต่คำกล่าวอ้างของ Sheetal Iqbal Sharma นักออกแบบเครื่องแต่งกายมากฝีมือ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเสื้อผ้าของคนทั้งเรื่องบอกว่า “คังคุไบชอบสวมใส่สีขาวตลอดเวลา” ซึ่งเขานำข้อมูลมาจากหนังสือเรื่อง ‘Mafia Queens of Mumbai’ ซึ่งตีแผ่เรื่องราวของเธอ 

 

ความหมายของสีขาวคือความบริสุทธิ์, ความอ่อนโยน, สะอาด, เรียบง่าย, ความนอบน้อม, ความไร้เดียงสา, ความอ่อนเยาว์, ความหลุดพ้น, ความว่างเปล่า, ความเท่าเทียมกัน และสมดุล สีขาวจึงถูกอ้างอิงได้หลายอย่างมาก และแน่นอนว่าส่วนใหญ่มักเป็นความรู้สึกในด้านบวก 

 

ในฉากที่คังคุไบได้รับส่าหรีสีขาวครั้งแรกจากเพื่อนๆ ในซ่อง สีขาวจึงเป็นตัวแทนของการเกิดใหม่ เธอกลายเป็นคนใหม่อีกครั้ง จากคังคุ สู่คังคุไบ หญิงสาวที่เคยมัวหมอง แปดเปื้อน คาวโลกีย์ สู่สาวนุ่งขาวที่แสดงเป็นสัญญะว่า ฉันบริสุทธิ์ ความพรหมจรรย์ และไม่ต้องการรับแขกอีกต่อไป (แม้ความจริงเธอจะไม่บริสุทธิ์แล้วก็ตาม) 

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็ได้เห็นคังคุไบสวมสีขาวตลอดทั้งเรื่อง ท่ามกลางส่าหรีสีสันฉูดฉาดแข่งกันเปล่งประกายของเหล่ากุหลาบดำย่านโคมแดง การสวมสีขาวยังทำให้เธอโดดเด่น แตกต่าง แสดงเจตนารมณ์ และกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลเต็มตัว ประกาศตัวว่าเธอเป็นใหญ่ และไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวใคร ซึ่งเธอก็ทำให้เราเห็นจริงๆ ในภาพยนตร์ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นตำรวจ นักเลง นักการเมือง ข้าราชการ ถ้าใครมาแหยมกับคังคุไบ แม่เอามือตบหัวทิ่ม เท้าถีบให้คลานทุกคน

 

 

🔸✽✺ สังคมอินเดียกับการใส่ส่าหรีสีขาว✺✽🔸

 

คนอินเดียใส่สีขาวกันเมื่อไร? 

 

สัธกูรู (Sadhguru) นักพูดมีชื่อด้านปรัชญาของอินเดีย เคยกล่าวไว้ว่า สีขาวที่มนุษย์เห็นมาจากการสะท้อนของทุกสียกเว้นสีขาวออกมา ขณะที่วัตถุสีดำดูดกลืนทุกสิ่ง การใส่สีดำจึงเป็นการดูดกลืนพลังงานทั้งด้านลบและด้านบวกไว้พร้อมกัน ขณะที่สีขาวสะท้อนทุกพลังออกไป พร้อมทั้งแสดงความเจิดจ้าของตนเองออกไปด้วย

 

คนฮินดูจึงหยิบส่าหรีสีขาวมาใส่ในช่วงไว้ทุกข์ เพื่อสะท้อนพลังงานด้านลบในพิธีศพมากกว่าใส่สีดำตามวัฒนธรรมตะวันตก นักพรต นักบวช ผู้ถือศีล แต่งกายสีขาวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง สะท้อนทุกพลังออกไป แถมยังดูเปล่งประกาย นุ่มนวล สมถะ 

 

เช่นเดียวกัน คังคุไบซึ่งผันตัวไปเป็นมาเฟียและนักการเมือง ก็ย่อมต้องการแสดงความเจิดจรัสของตนเอง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ความรู้สึกใหม่ ว่าฉันสะอาด บริสุทธิ์ มีความยุติธรรม และเป็นคนดี 

 

การสวมใส่ชุดขาวของคังคุไบยังสื่อถึงภาพลักษณ์ของนักการเมืองของคนอินเดียที่นิยมใส่สีขาวในยุคนั้น ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบันที่ผู้เล่นทางการเมืองเริ่มหันมาใส่สีอื่นมากขึ้น เพื่อลบภาพจำและสื่อถึงการเป็นนักการเมืองยุคใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคมและความเป็นอยู่ของคนอินเดีย

 

“บอกฉันหน่อยสิว่าควรเลือกอันไหน”

 

“อันไหนก็ได้ครับ สีขาวหมด”

 

“เอาขาวโทนไหนดีล่ะ? ขาวเหมือนดวงจันทร์ ขาวเหมือนปุยเมฆ ขาวเหมือนกระดาษ ขาวเหมือนกุหลาบขาว ขาวเหมือนหิมะ หรือขาวเหมือนเกลือ ขาวเหมือนน้ำนม ขาวเหมือนเปลือกหอย ขาวเหมือนสายน้ำ ขาวเหมือนเม็ดทราย ขาวเหมือนควัน”

 

“อันนี้ครับ ขาวดั่งหงส์ ”

 

ภาพ: Netflix

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X