×

ทุเรียนนนท์หายไปไหน? และทำไมถึงแพงมาก ราคาลูกละเกือบหมื่น

17.05.2022
  • LOADING...
ทุเรียนเมืองนนท์

พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ

 

นนทบุรีมีชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่โด่งดังที่สุดในประเทศ จนถูกเอาไปตั้งเป็นคำขวัญประจำจังหวัด มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างตลอดเวลาว่า ทุเรียนนนท์อร่อยบ้างล่ะ ดีอย่างนั้นอย่างนี้บ้างล่ะ แต่เมื่อมองไปในตลาดสดจนถึงของขึ้นห้าง มีใครเจอทุเรียนนนท์บ้าง? ทุเรียนนนท์หายไปไหน? อร่อยจริงหรือเปล่า? และทำไมถึงหาซื้อยากและราคาแพงนัก ถ้าอยากรู้ THE STANDARD POP จะมา Cracked ให้คุณฟัง

 

🌳🌱 ทุเรียนและเมืองนนท์ 🌱🌳

‘ทุเรียนนนท์’ เป็นคำเรียกของลูกทุเรียนที่เก็บผลมาจากต้นทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดนนทบุรี บางตำราว่ากันว่าคนนนท์เริ่มปลูกทุเรียนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานเป็นบันทึกชาวฝรั่งเศส ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ นักบวชนิกายเยซูอิต หัวหน้าคณะราชทูตในสมัยนั้น ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็น และตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2336 โดยถูกปรับปรุงพันธุ์ปลูกจริงจังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2397 บริเวณบ้านบางกร่าง ริมคลองบางกอกน้อย 

 

แม้จะมีบันทึกจากชาวฝรั่งเศสว่า ทุเรียนมีปลูกและมีอยู่ในแดนสยามมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ทว่า อ้างอิงจากหนังสือ เมืองนนท์เมืองผลไม้ เขียนโดย ธำรง ธรรมนิตยกุล อดีตข้าราชการครูใหญ่ ศึกษานิเทศก์จังหวัดนนทบุรี กลับพบว่าทุเรียนนนท์เริ่มปลูกโดยทหารผู้หนึ่งซึ่งนำเมล็ดมาจากพม่า 

 

“เมื่อ พ.ศ. 2480 สงวน ฉิมคล้าย เพื่อนนักเรียนฝึกหัดครูรุ่นเดียวกับผู้เขียน ได้บอกกับผู้เขียนว่า คุณพ่อของคุณสงวนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ. 2330 ประมาณ 200 ปีล่วงมาแล้ว คุณปู่สาย ฉิมคล้าย ถูกเกณฑ์ไปกับกองทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งที่พระองค์เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดนั้นคุณปู่สายเล่าว่า ขณะที่กองทัพเข้าล้อมเมืองทั้งสองไว้ได้เกิดการขาดแคลนเสบียงอาหาร นายทัพนายกองได้ให้ทหารออกตระเวนหาเสบียงอาหารแถวนั้นมากิน คุณปู่สายบอกว่า ในป่าใกล้เมืองทั้งสองนั้นมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่มากมาย ต้นสูงใหญ่แหงนคอตั้งบ่าจนเห็นลูกของมัน ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันว่าทุเรียน 

 

“พวกทหารไปเก็บลูกทุเรียนที่หล่นมากินกันเป็นอาหาร มีรสหวาน อร่อยดี แต่มีเนื้อน้อย เนื้อบางติดกับเมล็ด คุณปู่สายเป็นลูกชาวสวนเมืองนนท์ เมื่อกินเนื้อทุเรียนแล้วก็เก็บเมล็ดใส่ย่ามไว้ โดยตั้งใจว่าจะเอาไปปลูกในสวนที่บ้าน เมื่อกองทัพยกกลับกรุงเทพฯ และปล่อยทหารกลับบ้าน คุณปู่สายก็นำเมล็ดทุเรียนที่เก็บมาแจกจ่ายเพื่อนฝูง อีกส่วนหนึ่งเก็บเอามาปลูกที่สวนใกล้วัดสัก อำเภอบางกรวย ต้นทุเรียนได้ดินดี มีปุ๋ยธรรมชาติ ก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปลูกได้ไม่กี่ปีก็ผลิดอกออกผล ชาวสวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ชิมรสชาติของทุเรียนก็อร่อยติดอกติดใจ โจษขานบอกกล่าวกันไปทั่ว จึงมาขอพันธุ์ไปปลูกกันในเขตบางกรวยและเมืองนนทบุรี”

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นตามทฤษฎีใด ก็แสดงให้เห็นว่าชาวนนทบุรีเริ่มปลูกทุเรียนมานานกว่า 200 ปี

 

🌳🌱 ทุเรียนนนท์มีทั้งหมดกี่สายพันธุ์ 🌱🌳

ทุเรียนเป็นพืชในเขตร้อน หากินได้ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย หรือไทย มีทั้งหมด 28 ชนิด แต่เป็นทุเรียนที่กินได้เพียง 7 ชนิดเท่านั้น ซึ่งพบในประเทศไทยแล้ว 6 ชนิด กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ 

 

คนนนท์เรียกทุเรียนของตนว่า ‘ทุเรียนใน’ และเรียกทุเรียนนอกจังหวัดว่า ‘ทุเรียนนอก’ ว่ากันว่าช่วงแรกทุเรียนนนท์มีเพียง 3 พันธุ์ดี คือ อีบาตร, ทองสุก และการะเกด แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2485 พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ชาวสวนเริ่มกลับมาปลูกทุเรียนอีกครั้งด้วยเมล็ด ทำให้ทุเรียนนนท์มีสายพันธุ์ดีและไม่ดีปนกันกว่า 200 สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลือเพียงไม่มีกี่สายพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากตายจากไปในช่วงน้ำท่วม พ.ศ. 2538 และ 2554

 

🌳🌱 ทำไมทุเรียนนนท์ถึงอร่อยและเป็นที่ต้องการนัก 🌱🌳

สาเหตุที่ทุเรียนนนท์อร่อยแน่นอนว่าย่อมเกิดจากดิน นนทบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำ มีสภาพดินเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำ ทำให้เก็บสะสมแร่ธาตุอาหารได้ดี บวกกับภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีการปลูกชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย ทำให้ดินของที่นี่ดีเป็นพิเศษ เมื่อดินดี น้ำดี จึงทำให้ทุเรียนดีและอร่อย

 

จุดเด่นของทุเรียนนนท์คือเปลือกบาง ไม่แข็ง และแกะง่าย เมื่อแกะออกมาแล้วมีกลิ่นหอม ไม่เหม็นฉุน ง่ายต่อการกิน ตัวเนื้อทุเรียนมีรสชาติหวานกลมกล่อมและไม่มีเสี้ยน นักชิมทุเรียนจึงชอบทุเรียนนนท์มาก จนทำให้ออกมากี่ล็อตๆ ก็หมดตั้งแต่ยังไม่ออกจากสวน

 

🌳🌱 ทุเรียนนนท์หายไปไหน ทำไมถึงหากินยาก 🌱🌳

อย่างที่ทราบกันดีว่า นนทบุรีเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ เกิดจากการสะสมตะกอนของแม่น้ำมานาน จึงทำให้พื้นที่แถวนี้เกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2485 ทำให้พันธุ์ทุเรียนนนท์งอกเงยจากไม่กี่สายพันธุ์เพิ่มมาเป็น 200 สายพันธุ์ ทว่า หลังน้ำท่วมใน พ.ศ. 2538 ทำให้พันธุ์ทุเรียนล้มหายตายจาก และชาวสวนหันมาปลูกหมอนทอง, ก้านยาว และชะนี เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์เศรษฐกิจ ซื้อง่าย ขายคล่อง และราคาดี สมัยก่อนเราจึงได้กินทุเรียนสายพันธุ์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก 

 

พอน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 สวนทุเรียนเสียหาย ล้มตายหมด จากพื้นที่ปลูก 3,475 ไร่ เหลือเพียง 43 ไร่เท่านั้นจากพื้นที่ปลูกในทุกอำเภอ สวนทุเรียนจึงเหลือน้อยเต็มที ประกอบกับความเจริญของคนเมือง การขยับขยายของหมู่บ้านจัดสรร มลภาวะ สารพิษ คนรุ่นใหม่ก็หันไปทำอาชีพอื่นแทนการทำไร่ ทำสวน ทำให้ชาวสวนทุเรียนตัดสินใจขายที่ทำกินทิ้ง และไม่หันไปทำการเกษตรอีก สวนทุเรียนจึงกลายเป็นแรร์ไอเท็มของจังหวัด ทำให้ในแต่ละปีมีทุเรียนนนท์ออกสู่ตลาดน้อยมาก และผู้คนก็หันไปกินทุเรียนจากจังหวัดอื่นๆ แทน

 

🌳🌱 ถ้าอยากกินทุเรียนนนท์ต้องทำอย่างไร 🌱🌳

ด้วยความที่เป็นของดี มีน้อย ทุเรียนนนท์จึงไม่มีขายตามท้องตลาด เนื่องจากเหล่านักชิมตัวยงมักบุกไปจองทุเรียนตั้งแต่อยู่บนต้น และจะขายเป็นลูกเท่านั้น ไม่มีแบ่งช่างเป็นกิโลกรัม โดยสนนราคาเริ่มต้นที่ 5,000-7,000 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท และหลักแสนบาทหากประมูล พันธุ์ที่แพงที่สุดคือก้านยาว, หมอนทอง และชะนี นักชิมที่อยากชิมทุเรียนนนท์จึงต้องจองกันล่วงหน้าโดยตรงกับทางสวนเท่านั้น หากเจอกันนอกสวนขอให้คิดไว้ก่อนเลยว่าปลอมแน่นอน

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X