×

กมธ. CPTPP จี้ถามกรมฯ เกษตร เหตุสถานะไทยใน UPOV เป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ ทั้งที่ไม่เคยแสดงเจตจำนง

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (22 กรกฎาคม) คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบรายงานจากคณะอนุกรรมาธิการด้านการเกษตร ที่ได้ขอคำชี้แจงจากสำนักเลขาอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ในประเด็นข้อกฎหมายป้องกันผลกระทบซึ่งจะเกิดกับเกษตรกร 

 

โดย รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อนุกรรมาธิการเกษตร ได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการว่า พบความผิดปกติในเว็บไซต์ UPOV ในสถานะของประเทศไทยที่ระบุว่า เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ ที่อยู่ระหว่างการขอให้ทางสำนักเลขาธิการ UPOV ช่วยพัฒนากฎหมาย และยังได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วม 4 การประชุมสำคัญอนุสัญญา 

 

ซึ่งเว็บไซต์ของทาง UPOV ระบุอย่างชัดเจนว่า การได้รับสถานะดังกล่าว ประเทศนั้นได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการแสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV แล้ว โดยยังได้ตอบอีเมลระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกรมวิชาการเกษตรคนหนึ่งเป็นผู้ประสานงานหลัก

 

ขณะที่ นิกร จำนง รองประธานอนุกรรมาธิการเกษตร กล่าวเสริมว่า ทางอนุกรรมาธิการเกษตรมีความกังวลว่า รัฐบาลไปยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก UPOV1991 แล้วหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องเร่งให้ความกระจ่างโดยเร็ว 

 

ขณะเดียวกัน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล หนึ่งในกรรมาธิการ มองว่า นับเป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขององค์การการค้าโลกยังต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่นี่ไม่เคยมีมติ ครม. เรื่องนี้เลย ดังนั้นอาจมีข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ทางด้าน ธิดากุญ แสนอุดม ผอ. กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ประเทศไทยยังไม่เคยแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ นี่เป็นสถานะที่ทาง UPOV ให้เอง 

 

นอกจากนี้ เกียรติ สิทธีอมร กรรมาธิการ ชี้ว่า นี่เป็นสาระสำคัญ เพราะองค์กรระหว่างประเทศเช่นนี้มีกติกาหรือ Charter ที่ชัดเจนในการให้สถานะประเทศใด ถ้าไทยไม่เคยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำหนังสือไปยัง UPOV ให้แก้ไขสถานะไทยให้ถูกต้อง แล้วนำมารายงานคณะกรรมาธิการ

 

“สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องกลับไปคิดและปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าใช้วิธีแบบนี้ เพราะในที่สุดจะมีผลกระทบในสถานะของประเทศไทย”

 

สำหรับประเด็นคำถามที่กรรมาธิการได้ถามไปยัง UPOV ถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ล่าสุดกรรมาธิการได้รับคำตอบมา ดังนี้

 

– พืชอ่อนไหวที่ปลูกมากกว่า 65% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ (ซึ่งกรรมาธิการตั้งใจหมายถึงข้าว) จะขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษจากพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครองหลังจากเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เกิน 10 ปี ทาง UPOV ตอบว่า ยกเว้นไม่ได้ หลังจากเป็นภาคี 10 ปี กฎหมายจะต้องบังคับใช้กับพืชทุกสกุลและทุกชนิด

 

– การปฏิบัติพิเศษกับเกษตรกรรายย่อย เช่น การเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ ทาง UPOV ตอบโดยอ้างอิงข้อแนะนำจากที่ประชุมการทูตปี 2017 ซึ่งมีเงื่อนไขมากมาย ต้องมีการจำกัดอย่างสมเหตุสมผล และปกป้องประโยชน์ตามกฎหมายของนักปรับปรุงพันธุ์ 

 

– การให้แจ้งแหล่งที่มาของพันธุ์ใหม่ที่ต้องการขึ้นทะเบียน ทาง UPOV ตอบว่า ไม่ได้ เพราะการให้สิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์จะต้องไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเหนือแตกต่างจากที่ UPOV1991 กำหนดคือให้พิจารณาจากแค่ 4 เงื่อนไข ความใหม่ ความแตกต่าง ความสม่ำเสมอ และความคงตัว

 

– สิทธิของประเทศไทยในการปฏิเสธการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ห้ามปลูกเชิงการค้าภายในประเทศ (กรรมาธิการตั้งใจให้หมายถึงพืช GMO) ทาง UPOV ตอบว่า การควบคุมการตลาดไม่ได้เป็นหน้าที่ของ UPOV หากจะมีมาตรการควบคุมต้องไม่กระทบต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดของ UPOV โดยไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนคุ้มครองที่นอกเหนือจาก 4 เงื่อนไขข้างต้นได้ และการเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะต้องส่งร่างกฎหมายของไทยให้ทางสภา UPOV ตรวจดูความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ก่อน

 

ซึ่งคำตอบทั้งหมดทำให้ เกียรติ สิทธีอมร แสดงความกังวลต่อการแทรกแซงการออกกฎหมายของประเทศ, เกษตรกรแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กัน เกษตรกรอาจไม่ได้คิดเรื่องการค้า แต่ UPOV อาจมองว่าเป็นเรื่องการค้า และที่น่าห่วงคือเรื่องพืช GMO ที่เป็นเรื่องใหญ่มาก 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising