×

CPTPP และ UPOV 1991 น่ากลัวจริงหรือ? ถอดบทเรียนนิวซีแลนด์ อะไรคือข้อดี-ข้อเสียของการเข้าเป็นภาคีคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

29.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดที่มีถิ่นกำเนิดและอาศัยเฉพาะในนิวซีแลนด์เท่านั้น อีกทั้งมีความคล้ายคลึงกับไทยในแง่ที่มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก
  • นิวซีแลนด์ศึกษาทั้งกรณีของสหภาพยุโรปและออสเตรเลีย พร้อมยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ตามที่กำหนดในรายงาน National Interest Analysis โดยมีเวลาอีก 3 ปีในการปรับตัวเข้าสู่ UPOV 1991 และยังคงรักษาสิทธิ์ให้เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดของพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ UPOV 1991 ไว้ใช้ปลูกต่อได้ เช่นเดียวกับที่เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชเก่า ไว้ใช้ได้เหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมรายการ ‘ตอบโจทย์’ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีคุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณวราวิทย์ ฉิมมณี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ ‘CPTPP ฟังมุมมองรอบด้าน ประเทศไทย ได้หรือเสีย?’ โดยมีแขกรับเชิญในรายการจากทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายคัดค้านการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง CPTPP ซึ่งมีวิทยากรคือ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่ม FTA Watch 

 

 

และฝ่ายที่สนับสนุนให้ไทยเข้าไปร่วมเจรจาในข้อตกลง CPTPP ซึ่งมีวิทยากรคือ ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ทำงานวิจัยศึกษาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคุณมานพ แก้วโกย เจ้าของบริษัท เนเจอร์ฟู้ด โปรดักส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นเกษตรกรหนุ่มวัย 24 ปีที่เริ่มจากครอบครัวชาวนาแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่บรรพบุรุษในจังหวัดสุรินทร์ และพัฒนาตนเองจนกลายเป็น Smart Farmer ปลูกและส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปต่างประเทศ  

 

ส่วนผมก็เข้าไปทำหน้าที่คอยชี้แจงว่าข้อเท็จจริงที่แต่ละฝ่ายนำเสนอมีส่วนไหนที่ถูกต้อง ครบถ้วน ผิดพลาด ตกหล่น หรือไม่ (สามารถดูย้อนหลังได้ที่)

 

 

แน่นอนว่าด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้พวกเราไม่สามารถนำเสนอข้อมูลของ CPTPP ซึ่งประกอบด้วยข้อตกลง 30 ข้อบท เอกสารมากกว่า 7,000 หน้าได้อย่างละเอียดครบถ้วน ดังนั้นรายการในวันนั้นจึงหยิบขึ้นมาพูดคุยกันเพียง 1 ประเด็น นั่นคือเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคชาวไทยจะเป็นอย่างไร รุนแรง เลวร้าย หรือดีงาม ต่อยอด สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมต่างๆ ในประเทศไทยอย่างไร 

 

ซึ่งแน่นอนว่าคุยกันไม่จบ มีความเห็นที่แตกต่างกัน มีข้อมูลที่อาจจะไม่ครบถ้วน และบางข้อมูลอาจจะไม่ทันสมัย รายการจบลงโดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ตั้งประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า แล้วทำไมเราไม่ไปหาข้อมูลจากประเทศที่เขาเป็นภาคี เป็นสมาชิก CPTPP ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วล่ะ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่ๆ มันจะเป็นอย่างไร บทเรียนจากเขาที่เราควรเรียนรู้คืออะไร

 

ผมคิดว่านี่คือประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเชื่อว่าน่าจะทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ผมจึงขอนำเอากรณีของประเทศนิวซีแลนด์ขึ้นมานำเสนอข้อมูลครับ 

 

ที่ผมเลือกนิวซีแลนด์ เพราะนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดที่มีถิ่นกำเนิดและอาศัยเฉพาะในนิวซีแลนด์เท่านั้น และในขณะเดียวกันในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิ์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ‘มาวรี’ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาก่อนการเข้ามาของชาวตะวันตก และเป็นผู้ที่หวงแหนในสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ 

 

สิทธิและการปกป้องคุ้มครองนี้ก็ถูกจัดทำขึ้นเป็นข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ สนธิสัญญาไวตางี (Treaty of Waitangi) ซึ่งถูกนำมาเป็นแกนกลางในการสร้างระบบการพัฒนาประเทศร่วมกันอย่างยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ เท่านั้นยังไม่พอนิวซีแลนด์ยังมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในแง่ที่มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก โดยสินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุดในปี 2018 ของนิวซีแลนด์คือ ผลิตภัณฑ์นม, ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, ผลไม้, เครื่องจักรและอุปกรณ์, ไวน์, ปลาและอาหารทะเล 

 

จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้การเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 และการเข้าเป็นประเทศสมาชิก CPTPP จึงเป็นประเด็นที่นิวซีแลนด์อ่อนไหว และนิวซีแลนด์เองก็ขอขยายระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นภาคีของอนุสัญญา UPOV 1991 ออกไปอีก 3 ปี

 

สิ่งที่น่าชื่นชมและควรเรียนรู้จากนิวซีแลนด์คือ ในเดือนมีนาคม 2018 รัฐบาลนิวซีแลนด์ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (Ministry of Foreign Affairs and Trade) ได้ออกเอกสารสำคัญออกมา 1 ฉบับ เรียกว่า National Interest Analysis หรือบทวิเคราะห์ผลประโยชน์แห่งชาติต่อการเข้าเป็นภาคี CPTPP (อ่านฉบับเต็มไปที่ https://www.mfat.govt.nz/assets/CPTPP/CPTPP-Final-National-Interest-Analysis-8-March.pdf

 

โดยในหน้าที่ 65–68 ของบทวิเคราะห์นี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้กล่าวถึงผลกระทบและการปรับตัวของประเทศต่อการเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 เอาไว้ในหัวข้อที่ 4.18 Intellectual Property: UPOV 91 และยังแบ่งหัวข้อย่อยออกเป็น 4.18.1 Advantages of accession to, or alignment with, UPOV 91 และ 4.18.2 Disadvantages of accession or alignment with UPOV 91 โดยในส่วนสุดท้ายของบทวิเคราะห์นี้ยังนำเสนอแนวทางของนิวซีแลนด์ในการป้องกันผลกระทบทางลบจาก UPOV 91 ต่อเกษตรกร โดยเปรียบเทียบกับกรณีของสหภาพยุโรปและออสเตรเลียเอาไว้ด้วย โดยบทเรียนสำคัญที่เราควรเรียนรู้จากนิวซีแลนด์มีดังนี้

  • นิวซีแลนด์ก็เช่นเดียวกับประเทศไทย นั่นคือเป็นภาคีและบังคับใช้ UPOV 1978 แต่ยังไม่ให้สัตยาบันและยังไม่บังคับใช้ UPOV 1991 โดยนิวซีแลนด์นำอนุสัญญา UPOV 1978 มาปรับเป็นกฎหมาย The Plant Variety Act 1987 (PVR Act) เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยนำ UPOV 1978 มาปรับใช้เป็น พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
  • รายงานฉบับนี้สรุปไว้ในเบื้องต้นเลยตั้งแต่ก่อนการพูดถึงข้อดีข้อเสียของการเข้าสู่ UPOV 1991 ว่า “If a new plant variety is granted a PVR under the PVR Act, the breeder of the variety protected by the PVR (’protected variety’) has the exclusive right to produce for sale, and to sell seed or reproductive material of their protected varieties for the term of the PVR. The PVR ACT is based on the 1978 Revision of the UPOV Convention (UPOV 78). Many of the provisions of UPOV 78 are also contained in UPOV 91. The analysis below focuses on the provisions of UPOV 91 that differ from UPOV 78.” [แปลโดยผู้เขียน: หากพันธุ์พืชใหม่ได้รับการคุ้มครองตาม PVR Act ผู้พัฒนาพันธุ์พืชจะได้รับการคุ้มครอง โดยจะได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตเพื่อขาย ขายเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่นั้นๆ โดย PVR ACT ถูกพัฒนาขึ้นจาก UPOV 1978 ซึ่งหลายๆ ข้อบทของ UPOV 1978 ยังคงอยู่ใน UPOV 1991 บทวิเคราะห์ฉบับนี้จะเน้นนำเสนอความแตกต่างที่จะเปลี่ยนไประหว่าง UPOV 1991 และ UPOV 1978] จะเห็นได้ว่ากรณีของนิวซีแลนด์มีความใกล้เคียงมากกับกรณีของไทย

 

ข้อดีของ UPOV 1991 ในทัศนะของนิวซีแลนด์ และบทเรียนต่อไทย มีดังนี้

  • เหตุผลเบื้องหลังของการปรับปรุง UPOV จาก 1978 เป็น 1991 คือ UPOV ต้องการให้โอกาสและให้การคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาพันธุ์พืช ให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมจากการลงทุนในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่หากไม่มีสิทธิเหล่านี้ พืชหลายๆ สายพันธุ์อาจจะไม่ได้รับการพัฒนา หากไม่มีการคุ้มครองสิทธิให้พันธุ์พืชใหม่ (Plant Variety Rights: PVR) พันธุ์พืชที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ก็จะถูกนำไปลอกเลียนแบบได้ง่าย โดยใครก็ตามที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกก็สามารถเก็บเมล็ด หรือ หัว หรือส่วนขยายพันธุ์ไว้ใช้ และยังขยายพันธุ์เพิ่มได้อีก ดังนั้นผู้พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่ลงทุน ลงแรง ลงสติปัญญาไป ก็จะสูญเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่ตนลงทุนลงแรงไป
  • แล้วทำไมการคุ้มครองภายใต้ UPOV 1978 ถึงไม่พอ ทำไมยังต้องมีการปรับเพิ่มเป็น UPOV 1991 คำตอบที่นักพัฒนาพันธุ์พืชให้คือ การไม่เข้าสู่ UPOV 1991 จะทำให้ผู้พัฒนาพันธุ์พืชไม่มีแรงจูงใจมากพอในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะให้กับตลาดการเกษตรของประเทศนิวซีแลนด์ (เขากลัวว่าว่าถ้าพัฒนาขึ้นมาแล้วเกษตรกรนิวซีแลนด์ก็เอาพืชของเขามาปลูกแล้วเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อ แล้วก็เอาเมล็ดมาขายแข่งกับเขา ในราคาถูกๆ โดยตัวเองก็ไม่ได้ลงทุนลงแรง ลงสติปัญญาเลย มันไม่คุ้มที่จะให้เขามาพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรนิวซีแลนด์: ความคิดเห็นของผู้เขียน) ในขณะที่นักพัฒนาพันธุ์ที่อยู่ในนิวซีแลนด์เองก็บอกว่าถ้าไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็ไม่คุ้มที่จะพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประเทศของตนเอง สู้ไปพัฒนาสายพันธุ์ในต่างประเทศ ให้กับประเทศที่มีการคุ้มครองดีกว่า (นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึง เพราะในแต่ละปีเรามีบัณฑิตที่จบวิทยาศาสตร์การเกษตรจำนวนมาก มีบริษัทการเกษตร มีชุมชนเกษตรกรจำนวนมาก ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์พืช คำถามคือ เราจะให้โอกาสเขาได้รับการคุ้มครองสิ่งที่เขาพัฒนาขึ้นมาหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่คุ้มครอง นั่นก็เท่ากับเราผลักให้เขาไปทำมาหากินอย่างอื่นๆ หรือไม่ก็ผลักให้เขาออกไปทำมาหากินในต่างประเทศ ในที่ที่เขาได้รับการคุ้มครองหรือไม่-ความคิดเห็นของผู้เขียน)
  • ดังนั้นการบังคับ UPOV 1991 จะเป็นโอกาสในการเพิ่มรายรับให้กับนักพัฒนาพันธุ์พืช ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์มีโอกาสที่จะได้พัฒนาและเกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชใหม่ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและบริบทของประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับนิวซีแลนด์มากยิ่งขึ้น
  • ซึ่งพันธุ์พืชใหม่ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ทั้งจากนักพัฒนาพันธุ์พืชในนิวซีแลนด์เอง หรือจากบริษัทต่างชาติ จะทำให้นิวซีแลนด์มีพันธุ์พืชที่ดีขึ้น ทำให้ประเทศและเกษตรกรนิวซีแลนด์สามารถผลิตสินค้าเกษตร และสินค้าต่อเนื่องที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดียิ่งขึ้นต่อระดับการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ผู้บริโภค (ประชาชนนิวซีแลนด์-เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) ก็จะสามารถเข้าถึงผลผลิตการเกษตร ทั้งผัก ผลไม้ และอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ละบ้านก็สามารถปลูกต้นไม้ จัดสวน ด้วยต้นไม้ พันธุ์ไม้ ที่สวยงามและหลากหลายมากขึ้น
  • UPOV 1991 สนับสนุนให้เกิดการทดลอง การพัฒนา และการคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ UPOV 1978 ซึ่งนิวซีแลนด์นำมาปรับเป็นกฎหมาย PVR Act ซึ่งภายใต้กฎหมายเดิมนี้ การที่เกษตรกรหรือผู้พัฒนาสายพันธุ์รายย่อยหรือรายใหญ่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีการพัฒนาไปแล้วมาพัฒนาต่อไปอีก อาจจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้พัฒนาสายพันธุ์เจ้าแรกได้ ดังนั้นการปลดล็อกจุดนี้ที่ทำให้สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนามาแล้วครั้งหนึ่งไปพัฒนาต่อได้ และไม่ละเมิดผู้พัฒนาเจ้าเดิม จะทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่หลากหลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น (ดังนั้นในกรณีของไทย เราคงต้องมาเปรียบเทียบกันด้วยว่า พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เอื้อให้ชาวไทย บริษัทไทย และบริษัทต่างชาติ สนใจมาพัฒนาพันธุ์พืชดีๆ ให้เกษตรกรไทยหรือไม่ และจะสร้างดุลยภาพอย่างไร ระหว่างสิทธิของเกษตรกร กับสิทธิของนักพัฒนาพันธุ์พืช-ความคิดเห็นของผู้เขียน)

 

ข้อเสียของ UPOV 1991 ในทัศนะของนิวซีแลนด์ และบทเรียนต่อไทย มีดังนี้

    • UPOV 1991 มีสภาพบังคับและรายละเอียดที่เข้มข้นมากกว่า UPOV 1978 ซึ่งหลายๆ เรื่องอาจจะขัดแย้งกับเจตจำนง หรือผลประโยชน์ของนิวซีแลนด์ที่ระบุไว้ในรายงานของ Waitangi Tribunal เกี่ยวกับข้อร้องเรียน WAI 262 ในประเด็นพันธุ์พืชพื้นเมือง (Waitangi Tribunal’s report on the WAI 262 claim in respect of indigenous plant varieties) โดยในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงทำการสงวนสิทธิ์ในการบังคับใช้ UPOV 1991 บางประการเอาไว้ใน Annex 18-A ของข้อตกลง CPTPP (ดังนั้นในกรณีของประเทศไทยหากเราจะเข้าไปเจรจาการค้าในกรอบ CPTPP เราคงต้องศึกษาและยึดแนวทางเดียวกันนี้-ความคิดเห็นของผู้เขียน) 
    • UPOV 1991 จะทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น และ/หรือต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขอใช้สิทธิ และการจ่ายค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต (License Fees) ในการปลูกพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและได้รับการคุ้มครอง ซึ่งแน่นอนต้นทุนเหล่านี้ในที่สุดก็จะถูกผลักไปให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารที่แพงขึ้น แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์เชื่อว่าต้นทุนจะไม่สูงขึ้นมาก ทั้งนี้เนื่องจากหากราคาของเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มีราคาสูงเกินไป เกษตรกรก็จะกลับไปใช้พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่ออกขายมานานแล้ว และไม่ได้รับการคุ้มครองตาม UPOV 1991 (ซึ่งคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ที่ยังไม่ได้ออกวางขายเกินกว่า 1 ปี สำหรับพืชไร่ และ 4-6 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและไม้เถายืนต้น ดังนั้นในกรณีที่บางภาคส่วนในประเทศไทย อธิบายว่าตลาดเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศไทยมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มีราคาสูงกว่าพันธุ์พืชเดิม 3-5 เท่า นั่นหมายความว่าต้นทุนการเกษตรของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือแพงขึ้นทันที 60,000 ล้านดอลลาร์ (เอา 30,000 มาคูณกับ 3 เท่าเลยทันที) น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการคำนวณแบบนี้หมายความว่า ต่อไปนี้เราจะไม่สามารถใช้พันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์เก่าได้อีกต่อไป ต้องใช้แต่พันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการคำนวณที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง-ความคิดเห็นของผู้เขียน)
    • ภายใต้ UPOV 1991 พันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาจากพันธุ์พืชเดิม (EDVs: Essentially Derived Varieties คือพันธุ์พืชที่ได้รับพันธุกรรมส่วนใหญ่จากพันธุ์ตั้งต้นที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง (Protected variety)) ผู้พัฒนาพันธุ์พืช EDVs เหล่านี้ต้องเคารพสิทธิของผู้พัฒนาพันธุ์ตั้งต้น ซึ่งนั่นหมายถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากพันธุ์พืชใหม่ให้กับเจ้าของพันธุ์พืชเดิม ซึ่งแน่นอนว่านี่คือต้นทุนของผู้พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีการกำหนดไว้ใน UPOV 1978 (ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรคำนึงถึงคือ หน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาที่เคยรวบรวมพันธุ์เดิมไว้ อาทิ 20,000 ตัวอย่างพันธุ์ของข้าวไทยที่เก็บไว้ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ไทยเราคงต้องมาทบทวนกันว่า จะมีกี่สายพันธุ์ที่เราสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาและขอการคุ้มครอง เพราะหากมีนักพัฒนาพันธุ์เอาพันธุ์เหล่านี้ไปพัฒนาต่อ เราจะได้รับส่วนแบ่ง ได้รับผลตอบแทนจากพันธุ์พืชของเรา ดีกว่าที่เราจะไม่สนใจ ไม่พัฒนา ไม่ขอคุ้มครอง และมีใครสักคนหนึ่งเอาพันธุ์ของเราไปพัฒนาต่อ แล้วเราไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใดเลย เราต้องแปลงภูมิปัญญาของคนไทยให้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ และได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมหากมีใครนำทรัพย์สินของเราไปต่อยอด และยังสามารถคุ้มครองทรัพย์สินของเราได้ ในที่นี้คือทรัพย์สินทางปัญญา-ความคิดเห็นของผู้เขียน)
    • ความแตกต่างอีกประเด็นหนึ่งระหว่าง UPOV 1978 และ UPOV 1991 คือการใช้ส่วนขยายพันธุ์ของพืชใหม่ (เมล็ด, หัว, …) เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลที่ปลูกในฤดูกาลที่แล้วไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไปสามารถทำได้ หากทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ (Non-Commercial) เรื่องนี้สามารถทำได้ตาม UPOV 1978 แต่ใน UPOV 1991 การใช้ส่วนขยายพันธุ์ (เช่นกรณีตัวอย่างข้างต้น) สามารถทำได้โดยเอกชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ (Private and Non-Commercial) คำว่า Private ที่เพิ่มขึ้นมา อาจทำให้หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านการพัฒนาพันธุ์พืชมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะกิจกรรมที่ทำเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public ไม่ใช่ Private) 

 

  • ประเด็นเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไปของเกษตรกร (Farm Saved Seed) ประเด็นนี้คือเรื่องที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการรณรงค์ไปแล้วในหลายๆ ภาคส่วนว่า เมื่อเข้า CPTPP จะทำให้การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ใช้อาจจะกลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันได้ แต่กลุ่มที่รณรงค์เรื่องนี้ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า เฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองตาม UPOV 1991 เท่านั้น ที่ให้สิทธิกับผู้พัฒนาพันธุ์พืชในการกำหนดว่า เขาจะให้สิทธิกับเกษตรกรในการเก็บเมล็ดที่ได้จากการปลูกในฤดูกาลที่แล้วไปปลูกในฤดูกาลต่อไปได้หรือไม่ แต่สำหรับพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชที่ขายๆ กันอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ภายใต้ UPOV 1991 ดังนั้นเกษตรกรจึงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน เมล็ดพันธุ์ได้อย่างเสรีอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา 

 

แต่แน่นอนว่าจากเดิมที่เมล็ดพันธุ์ทุกชนิดเคยสามารถทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อเข้า UPOV 1991 นั่นหมายถึงพันธุ์พืชใหม่ที่เจ้าของพันธุ์ไม่อนุญาตก็ไม่สามารถทำได้ เช่นนี้ถือเป็นการรอนสิทธิที่เคยมี โดยในเรื่องนี้ UPOV เรียกเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ใช้นี้ว่า Farm Saved Seed

 

 

ในเรื่องนี้ นิวซีแลนด์ได้ทำการศึกษาและใส่ไว้ในรายงาน National Interest Analysis ดังนี้ “Many growers currently save seed from one year’s crop (farm saved seed) which is then used to sow the next year’s crop rather than buying fresh seed. Under UPOV 78 and the PVR Act, growers may use farm saved seed of a protected variety for this purpose, and sell the seed harvested from the crop for purposes other than growing another crop (for example, for human or animal consumption) without paying a license fee to the PVR owner.” [คำแปลโดยผู้เขียน: ปัจจุบันผู้ปลูกพืชจำนวนมากเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากฤดูกาลที่ 1 (Farm Saved Seed) ไว้ปลูกต่อในฤดูกาลต่อไป โดยไม่ได้ซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ ภายใต้ UPOV 1978 และ PVR Act (กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของนิวซีแลนด์) ผู้ปลูกพืชสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองที่เก็บไว้ในรูปแบบ Farm Saved Seed เหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่า License Fee ให้กับเจ้าของพันธุ์พืชใหม่ โดยต้องใช้ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ (เช่น เป็นอาหารคน อาหารสัตว์) แต่ไม่สามารถปลูกเพื่อขายส่วนขยายพันธุ์ (ปลูกเพื่อขายเมล็ด ปลูกเพื่อขายหัว หรือเหง้า) ได้] 

 

While UPOV 91 provides enhanced rights for PVR owners, it allows a country to create an optional exception to allow growers to use farm saved seed “within reasonable limits and subject to the safeguarding of the legitimate interests of the breeder”. [คำแปลโดยผู้เขียน: ในขณะที่ UPOV 1991 เพิ่มสิทธิให้กับผู้พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ โดยยังอนุญาตให้ผู้ปลูกพืชยังสามารถปลูกเมล็ดพันธุ์จากการทำ Farm Saved Seed ได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การปกป้องผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้พัฒนาพันธุ์พืช”

 

Some UPOV 91 member states (for example, the EU) have implemented this by limiting the exception to ‘small farmers’, or requiring growers to pay a license fee that is significantly lower than the license fee that would be paid on seed sold by the PVR owner. Other member states (for example, Australia) have implemented Art 15 (2) by allowing growers to use saved seed without any requirement to pay a license fee. New Zealand would therefore have the option of retaining our current approach, when implementing the necessary changes to the PVR regime. [คำแปลโดยผู้เขียน: ประเทศสมาชิก UPOV 91 บางประเทศ (ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป) ได้ดำเนินการรักษาสิทธิ Farm Saved Seed นี้ไว้ให้กับผู้ปลูกพืช โดยจำกัดข้อยกเว้นการบังคับใช้ UPOV 1991 ในประเด็นนี้ให้กับ ‘เกษตรกรรายย่อย’ หรือกำหนดให้ผู้ปลูกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายโดย PVR อย่างมีนัยสำคัญ (อาจจะให้ตั๋วเด็กสำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย) ประเทศสมาชิก CPTPP อื่นๆ (เช่นออสเตรเลีย) ใช้มาตรา 15 (2) ของ UPOV 1991 โดยอนุญาตให้ผู้ปลูกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ (Farm Saved Seed) โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดๆ นิวซีแลนด์เองก็ยังคงมีทางเลือกในการรักษาแนวทางปัจจุบันของนิวซีแลนด์ในการใช้ Farm Saved Seed เอาไว้ (ซึ่งสอดคล้องกับ UPOV 1978) เมื่อนิวซีแลนด์ต้องดำเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่]

 

จะเห็นได้ว่าจากประสบการณ์ของนิวซีแลนด์ ที่ศึกษาทั้งกรณีของสหภาพยุโรปและ ออสเตรเลีย รวมทั้งสิ่งที่นิวซีแลนด์ยืนยันในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ตามที่กำหนดในรายงาน National Interest Analysis ที่ผู้เขียนอ้างอิง ยังคงอนุญาตให้นิวซีแลนด์มีเวลาอีก 3 ปีในการปรับตัวเข้าสู่ UPOV 1991 และยังคงรักษาสิทธิให้เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดของพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ UPOV 1991 ไว้ใช้ปลูกต่อได้ เช่นเดียวกับที่เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชเก่า ไว้ใช้ได้เหมือนเดิม 

 

และสิ่งสำคัญที่สุดที่ไทยต้องดำเนินการคือ เราต้องทำการศึกษาเช่นนี้กับทุกๆ ข้อบททั้ง 30 ข้อบทของ CPTPP ว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ละข้อบทเราได้ประโยชน์อย่างไร เราเสียประโยชน์อย่างไร และเราสามารถปกป้องไม่ให้เราเสียประโยชน์ได้หรือไม่ โดยต้องเป็นรายงานที่เป็นข้อเท็จจริง ทันสมัย และเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านจริง ก่อนที่เราจะเลือกว่าเราจะเข้าสู่กระบวนการเจรจา CPTPP หรือไม่ 

 

ดังนั้นเวลานี้จึงไม่ใช่เวลาที่ฝ่ายสนับสนุนการเข้าเจรจา CPTPP จะมาทะเลาะเอาชนะคะคานกับฝ่ายต่อต้าน CPTPP แต่เวลานี้ทั้งฝ่ายสนับสนุนการเข้าเจรจา และฝ่ายต่อต้านการเจรจา CPTPP น่าจะลงมานั่งปรึกษาหารือกัน ช่วยกันวางยุทธศาสตร์มากกว่าว่า ถ้าจะเจรจาต้องเจรจาเรื่องใด อย่างไร ในแต่ละข้อบท เพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด และในขณะเดียวกันก็ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ไว้ด้วยว่า หากประเทศไทยเสียประโยชน์ในประเด็นนั้นประเด็นนี้เท่านั้นเท่านี้ เราจะหยุดการเจรจา ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์น่าจะช่วยสนับสนุนให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สามารถเจรจาเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าถึงโอกาสที่ดีที่สุดของ CPTPP ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่คนไทยรับได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising