วันนี้ (10 มกราคม) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์สำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีกองทัพเรือทำหน้าที่หลักในคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
การประมูลครั้งนี้ มีเอกชนเข้าร่วมแข่งขัน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS, กลุ่ม Grand Consortium และ กลุ่มธนโฮลดิ้ง (กลุ่ม CP)
การยื่นซองประมูลมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ปมปัญหาคือ คณะกรรมการคัดเลือกฯ กำหนดเวลายื่นเอกสารการประมูลภายในเวลา 15.00 น. แต่กลุ่มธนโฮลดิ้ง (กลุ่ม CP) ยื่นเอกสาร (บางส่วน) ช้ากว่ากำหนดไป 9 นาที
คณะกรรมการคัดเลือกตัดสิทธิไม่รับเอกสารการประมูลของกลุ่ม CP นำมาสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง ซึ่งในขั้นแรกศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งยกฟ้อง
ต่อมากลุ่ม CP ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มกราคม 2563
โดยในวันนี้ ตอนเวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 หมายเลขแดงที่ อ. 1/2563 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี)
ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ กลุ่มธนโฮลดิ้ง ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ และได้เข้าร่วมลงทะเบียนภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นๆ อีกทั้งในขณะที่ลงทะเบียนกลุ่มธนโฮลดิ้ง ได้มีการนำกล่องไม่ปิดผนึก (ซองศูนย์) จำนวน 1 กล่องมาแล้วด้วย และได้มีการทยอยนำเอกสารซองข้อเสนอจำนวน 8 กล่อง มายังสถานที่ยื่นข้อเสนอแล้วก่อนเวลา 15.00 น.
– ศาลชี้เจ้าหน้าที่เซ็นรับเอกสารกลุ่ม CP ไว้แล้ว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กระบวนการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้เริ่มจากการลงทะเบียนแสดงตน
จากนั้นในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอ และตรวจรับซองข้อเสนอเป็นการทำทีละรายภายในห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ โดยให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นรออยู่ด้านนอก ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มในเวลา 15.00 น. (21 มีนาคม 2562) และสิ้นสุดรายสุดท้ายในเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งปรากฏว่าได้มีการดำเนินการรับซองข้อเสนอของทุกราย รวมทั้งของกลุ่มธนโฮลดิ้งด้วย โดยมีเอกสารหลักฐานรับรองอย่างชัดเจน
การที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ว่า การลงเวลาในเอกสารดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของของเจ้าหน้าที่ แต่เห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
– ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่า CP รู้ซองคู่แข่ง
จากข้อกำหนดการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการ กำหนดให้เปิดซองที่ 1 (คุณสมบัติ) ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 16.00 น. จากนั้นจะมีการออกหนังสือนัดเพื่อเปิดข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) และซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ต่อไป
ศาลเห็นว่า ซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายล้วนอยู่ในความครอบครองเก็บรักษาของคณะกรรมการฯ อีกทั้งเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) และซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ที่คณะกรรมการฯ ปฏิเสธไม่รับพิจารณา ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องทำการเปิดซองในวันเวลานั้นทันทีแต่อย่างใด
โดยวิสัยและพฤติการณ์เช่นนี้ ย่อมไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า สาเหตที่เอกสารกล่องที่ 6 (ซอง 2) และเอกสารกล่องที่ 9 (ซอง 3) ลำเลียงมาถึงจุดลงทะเบียนหลังเวลา 15.00 น. นั้น เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มธนโฮลดิ้งล่วงรู้ข้อเสนอของผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอรายอื่น
ดังนั้น การที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เฉพาะเอกสารข้อเสนอกล่องที่ 6/10 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจที่มีจำนวน 4 กล่อง และกล่องที่ 9/10 ซึ่งเป็นซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มธนโฮลดิ้งมีการขนผ่านจุดลงทะเบียนเวลาประมาณ 15.09 นาที จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่อง หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องถึงขนาดที่มีผลต่อการดำเนินโครงการร่วมทุนในครั้งนี้ ในทางที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อหลักการดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ศาลจึงเห็นว่า การที่คณะกรรมการฯ มีมติไม่รับซองข้อเสนอของกลุ่มธนโฮลดิ้งมาพิจารณา โดยเหตุผลเพียงว่าเป็นเอกสารข้อเสนอที่มาถึงจุดลงทะเบียนภายหลังกำหนดเวลา 15.00 น. นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์