×

โควิด-19 ลามหนักทั่วโลก ยอดติดเชื้อ-ตายพุ่ง เหตุไวรัสกลายพันธุ์ คลายล็อกดาวน์เร็วเกิน WHO แนะเร่งกระจายวัคซีน

12.04.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ลามหนักทั่วโลก ยอดติดเชื้อ-ตายพุ่ง เหตุไวรัสกลายพันธุ์ คลายล็อกดาวน์เร็วเกิน WHO แนะเร่งกระจายวัคซีน

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพราะดูเหมือนว่าในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันนี้ โดยสำนักข่าว AP ประมวลรวบรวมวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าหลายประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงประสบปัญหากับการควบคุมการระบาดไม่ให้ลุกลาม 

 

โดยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องมีการประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้ม เช่น การขยายมาตรการล็อกดาวน์หรือสั่งปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างร้านอาหาร โรงเรียน โรงภาพยนตร์ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันรายงานยังพบอีกว่า ยังมีประเทศอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่สถานการณ์การระบาดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคืออังกฤษและอิสราเอล โดยต้องยกให้เป็นความดีความชอบของโครงการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง และอัตราการระบาดชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกำลังขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลพวงจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และการสั่งคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไป ซึ่ง ดร.มาร์การ์เรต แฮร์ริส โฆษกหญิงของ WHO เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วงอย่างน้อย 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ในการอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ของ WHO พบว่า เฉพาะสัปดาห์ที่แล้วเพียงสัปดาห์เดียว ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11% หรือมากกว่า 71,000 ราย โดยหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาล และผู้เสียชีวิตขยับปรับขึ้น ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นกำลังเร่งจัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่เพราะความล่าช้า จึงไม่ทันท่วงทีกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกับสายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ ที่ระบาดได้เร็วและรุนแรงกว่า

 

Ismail Cinel หัวหน้าสมาคม Intensive Care Association ของตุรกี กล่าวว่า ไวรัสกลายพันธุ์ทำอันตรายต่ออวัยวะรุนแรงกว่าเดิม ทำให้จากเดิมที่อัตราการตายอยู่ที่ 2 ใน 10 ของผู้ติดเชื้อ กลายเป็น 4 ใน 10 เแทน และหากยังไม่สามารถจัดการกับการระบาดได้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ใน 10 โดยสถานการณ์การระบาดของตุรกีเลวร้ายลง หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อหวังฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ ทว่าอัตราการระบาดระลอกใหม่บีบให้รัฐบาลต้องหวนกลับมาใช้มาตรการคุมเข้ม ซึ่งรวมถึงการปิดร้านคาเฟ่และร้านอาหารจำนวนมาก

 

ตุรกีถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลยร้ายมากขึ้น เช่น บราซิล อิหร่าน โปแลนด์ เยอรมนี ปากีสถาน หรือแม้แต่ประเทศไทย ที่หลายฝ่ายให้การยอมรับว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งก็ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ WHO กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยควบคุมและสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 คือวัคซีน โดยมีรายงานยืนยันของประเทศอังกฤษที่ค้นพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลงถึง 60% เพราะโครงการฉีดวัคซีน

      

อย่างไรก็ตาม กลับเป็นที่เรื่องที่น่าวิตกว่า 87% ของซัพพลายของวัคซีนมากกว่า 700 ล้านโดสในปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของกลุ่มประเทศร่ำรวย ขณะที่ประเทศยากจนรายได้ต่ำมีวัคซีนเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น

 

เทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นก็คือ ขณะที่ 1 ใน 4 ของประชากรในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้รับวัคซีน สัดส่วนดังกล่าวของประเทศรายได้น้อยจะอยู่ที่ 1 ใน 500 คน

 

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า เป็นความไม่สมดุลและไม่เท่าเทียมของการกระจายวัคซีนที่น่าวิตก ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมเจรจาหาทางขยายช่องทางการกระจายวัคซีน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ

 

ท่ามกลางความต้องการวัคซีนต้านไวรัส ประเด็นเรื่องของคุณภาพวัคซีนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน โดยล่าสุด จอร์จ เกา ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของจีน ได้ออกมายอมรับว่า วัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำ ทำให้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาใช้วัคซีนของจีนควบคู่ไปกับวัคซีนตัวอื่นๆ เพื่อเร่งกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising