×

กสิกรไทยชี้ โควิด-19 ฉุดรายได้อีคอมเมิร์ซ เผย E-Market Place ต่างชาติในไทยขาดทุนต่อเนื่อง 30-40%

26.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (26 พฤษภาคม)​ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ราว 3-4 เดือนที่ผ่านมา เมื่อประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าปลีกของไทยปรับตัวมาขายสินค้าช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์จะเติบโตขึ้น แต่การแข่งขันในธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยลบต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น 

 

– กำลังซื้อหดตัว เพราะผู้บริโภคใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ดังนั้น คาดว่าสินค้ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็น (Non-Food) จะมีแนวโน้มใช้จ่ายลดลง 

– คู่แข่งจำนวนมากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงคู่แข่งที่เป็น Modern Trade รายใหญ่เข้ามารุกตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งคู่แข่งรายใหญ่ต่างมีจุดแข็ง ทั้งแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และเงินทุน 

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ กลุ่มผู้ประกอบการ E-Market Place ต่างชาติ (เช่น แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายออนไลน์จากต่างชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นขายสินค้า Non-Food ทำให้ผู้ประกอบการ E-Market Place ต่างชาติต้องเปลี่ยนแผนงาน เพราะช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแผนจะขยายผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภค บริโภค หรือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน (FMCG) เพิ่มเติม

 

ดังนั้น คาดว่าหลังการเกิดวิกฤตโควิด-19 บทบาทของ E-Market Place ต่างชาติในตลาดรวมของอีคอมเมิร์ซจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มองว่ามีความได้เปรียบและมีบทบาทมากข้ึน แต่ในระยะต่อไปอาจเจอการแข่งขันที่รุนแรงข้ึน ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มของตนเอง

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการของ E-Market Place ต่างชาติในปี 2563-2565 จะยังคงขาดทุนต่อเนื่อง 30-40% ต่อปี เมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งขาดทุนมาโดยตลอด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 46% ต่อปีเมื่อเทียบกับรายได้ 

 

ทั้งนี้ ในภาพรวมตลาดค้าปลีกออนไลน์ B2C อีคอมเมิร์ซ (เฉพาะสินค้า) ปี 2563 จะเติบโต 8-10% จากปีก่อน ถือว่าชะลอตัวลงจากปี 2562 ที่เติบโตราว 20% โดยปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 3-3.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม โดยมองว่า ปีนี้การใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มอาหาร (Food) และสินค้าอุปโภค บริโภค หรือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน (FMCG) จะเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้า Non-Food เช่น กลุ่มแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising