×

ศาลอาญาไม่ให้ประกัน ตะวัน-แฟรงค์ คดีขบวนเสด็จฯ ระบุพฤติการณ์ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง หากปล่อยเชื่อว่าก่อเหตุอีก

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2024
  • LOADING...
คดี ขบวนเสด็จ

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดินแดน ยื่นคำร้อง ฝากขัง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 22 ปี หรือ ตะวัน นักเคลื่อนไหวอิสระ และ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อายุ 23 ปี หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องหาที่ 1-2 

 

ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ, ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มาขออำนาจศาลฝากขัง

 

คำร้องระบุพฤติการณ์ สรุปว่า วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18.20 น. ณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ โดยมี ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้โดยสารนั่งอยู่บริเวณด้านหน้าข้างคนขับรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อมาถึงบริเวณทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสัน แขวงสามเสนใน ซึ่งในบริเวณดังกล่าวนั้น ได้มี พ.ต.ท. ชญานิน พันธุ์ภักดี สารวัตรงานศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 2 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจะเสด็จฯ ผ่านในบริเวณดังกล่าวนั้น ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย 

 

ซึ่งได้มีการสั่งให้หยุดรถที่มาจากทางร่วมเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จที่กำลังจะผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาปรากฏว่า ณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้พยายามขับรถมาที่ด้านหน้าแต่ไม่สามารถขับผ่านไปได้ เนื่องจาก พ.ต.ท. ชญานิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในบริเวณนั้น ได้ใช้สัญญาณมือให้หยุดจราจร ผู้ต้องหาที่ 2 จึงได้บีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่องยาวประมาณ 1 นาที ในลักษณะที่แสดงถึงความไม่พอใจโดยไม่มีสาเหตุใดให้ควรใช้แตร

 

ขณะเดียวกัน ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 ที่เป็นผู้โดยสารได้เปิดกระจกออกมาและกล่าววาจาส่งเสียงตะโกนโวยวายในลักษณะว่า เดือดร้อนประชาชน ภาษีประชาชน เมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่านพ้นไปแล้วจึงได้เปิดให้รถยนต์วิ่งผ่านไปได้ตามปกติ แต่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวของกลุ่มผู้ต้องหากลับมีพฤติกรรมขับรถออกไปด้วยความเร็ว พ.ต.ท. ชญานิน เห็นว่ารถคันดังกล่าวมีลักษณะการขับขี่และพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อขบวนเสด็จฯ จึงได้แจ้งวิทยุให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจถวายความปลอดภัยทราบถึงพฤติกรรมของรถคันดังกล่าว 

 

จากนั้นรถของกลุ่มผู้ต้องหาได้เร่งความเร็วจนประชิดรถปิดท้ายขบวนเสด็จฯ ที่บริเวณทางลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่รถปิดท้ายขบวนจึงได้สกัดกั้นรถของกลุ่มผู้ต้องหาไม่ให้แทรกเข้าไปในขบวนเสด็จฯ ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถหยุดรถคันดังกล่าวแล้วจึงได้เข้าไปพูดคุย แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาที่ 1 ได้ถือโทรศัพท์มือถือลักษณะขึ้นมาถ่ายทอดออกอากาศสดผ่านทางช่องเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ต้องหาที่ 1 ที่ใช้ชื่อว่า Tawan Tantawan อีกทั้งยังได้ส่งเสียงดังโวยวายและกล่าวถ้อยคำในลักษณะต่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

โดยในขณะเดียวกันนั้น ณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ก็ยังได้บีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่องลากยาวในลักษณะที่แสดงถึงความไม่พอใจ ส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนผู้ใช้รถ-ใช้ถนนที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณนั้น อีกทั้ง ณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ยังได้กล่าววาจาในลักษณะดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง อันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติศักดิ์ศรีข้าราชการตำรวจซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งความผู้ต้องหาที่ 1 ว่า ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ และกล่าวหากรณีของ ณัฐนนท์  ผู้ต้องหาที่ 2 ว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ร่วมกันกระทำด้วยประการใด อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะและใช้เสียงสัญญาณ เสียงยาวหรือซ้ำ โดยไม่มีเหตุอันควร ให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด 

 

ต่อมา พ.ต.ท. สรัล สุรเดชานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สน.ดินแดง ได้สืบสวนหาพยานหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 18.26 น. ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ไลฟ์เหตุการณ์ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) บัญชี Tawan Tantawan ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังมีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน ซึ่งได้มีประชาชนทั่วไปเข้ามาแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในทางที่เห็นชอบด้วยและไม่เห็นชอบด้วย สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยไลฟ์ดังกล่าวมีผู้เข้าชม แชร์ แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นจำนวนมาก 

 

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท. สรัล กับฝ่ายสืบสวน ยังได้ตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กส่วนตัวของทานตะวันมีการโพสต์ภาพคลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถคันที่ใช้ขับขี่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นการแสดงให้ปรากฏถึงพฤติกรรมของ ทานตะวัน กับพวก ที่ขับรถยนต์แทรกรถยนต์ของประชาชนคันอื่นที่จอดชะลอรถอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อพยายามจะขับแซงหน้าไปให้ใกล้กับขบวนเสด็จฯ ทั้งยังบีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่อง อันเป็นการแสดงการต่อต้านท้าทายและดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทุกคน 

 

ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 และต่อมาเวลาประมาณ 16.45 น. เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองโดยแสดงหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองบริเวณทางเดินเท้าหน้าศาลอาญา และควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองส่งพนักงานสอบสวนดินแดงดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเวลาประมาณ 18.10 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

 

เหตุเกิดบริเวณทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 (ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3), 397 วรรคแรก, 397 วรรคสอง, 368 วรรคแรก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) แก้ไขเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3), 397 วรรคแรก, 397 วรรคสอง, 368 วรรคแรก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) แก้ไขเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ประกอบประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 83 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14, 148 

 

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน โดยประสงค์จะให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน 

 

เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานอีก 7 ปากเป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2 ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ระหว่างการสอบสวนกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-25 กุมภาพันธ์ 2567 

 

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านหากผู้ต้องหาทั้งสองขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไปเกรงว่าอาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ถ้าหากศาลเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง พนักงานสอบสวนขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดในขณะนี้อีก



ทั้งนี้จากข้อมูลและประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวก พบว่า เมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว มีการกลับมากระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก หากไม่มีการควบคุมกำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัด เป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาพลักษณ์ภายในประเทศ

 

ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้

 

วันเดียวกันนี้ที่ศาลอาญา ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้นำตัว นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ นักศึกษาอายุ 19 ปี มาฝากขังครั้งแรก 12 วัน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานฯ กรณีมีส่วนร่วมรู้เห็น กับผู้ต้องหาที่พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว และศาลอนุญาตฝากขังได้

 

ต่อมาในช่วงเย็น กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนภสินธุ์ ตีราคาประกัน 35,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีอีก 

 

ในส่วนของทานตะวันและณัฐนนท์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม 

 

หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้หรือประการอื่น อีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนจะยื่นซ้ำหรือไม่ ตนต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง 

 

กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ความจริงตะวันจะไม่ยื่นประกันในคดีนี้ด้วยซ้ำ แต่ตนเป็นคนขอร้องว่าต้องไปเรียนหนังสือและมีเรื่องหลายเรื่องที่จะต้องทำ ควรจะหาทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีการอื่นดีกว่า ตัวเขาเองไม่ได้หนักใจเรื่องประกันตัว เพราะเขาเองมีความตั้งใจที่จะไม่ประกันตัวอยู่แล้ว แต่ตนเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร ควรจะออกมาต่อสู้คดี เพราะการที่ไปถูกขังในเรือนจำมาต่อสู้คดีไม่ได้ โอกาสที่จะพบปะปรึกษาหารือก็ยาก 

 

ความจริงคดีที่ศาลไม่ให้ประกันคือมาตรา 116 โทษไม่เกิน 7 ปี ไม่ได้สูงถ้าเทียบกับคดีมาตรา 112 ก็ได้ประกันตัวในชั้นศาลมาโดยตลอด ตนยังแปลกใจกับคำสั่งศาลวันนี้ ว่าโทษแค่ 7 ปี เหตุใดถึงไม่ให้ประกัน ตนไม่แน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในการไต่สวนได้ความว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเด็ก เป็นเยาวชน เป็นนักศึกษา เรียนหนังสืออยู่ ซึ่งไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับการสอบสวนได้ ก็คงต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าเหตุใดศาลถึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว แน่นอนเป็นอำนาจของผู้พิพากษา แต่ความจริงแล้วมันมีหลักกฎหมายอยู่ มันเป็นหลักนิติธรรมนิติรัฐที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ได้กระทำผิด  

 

กฤษฎางค์ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของเด็กที่ติดคุก มันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม ว่าเราได้วินิจฉัยข้อมูล ข้อกฎหมายถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ ในฐานะคนที่ทำงานตรงนี้รู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะตรงข้ามกับสิ่งที่เรียนมา และผมไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยอันนี้ 

 

กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ทานตะวันได้ฝากข้อความเป็นลายมือถึงผู้สื่อข่าวระบุว่า 

 

นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเข้าเรือนจำ เราไม่เหลืออะไรนอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลืออยู่สู้ต่อไป

 

หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว

 

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
  3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

 

ทานตะวัน 14 กุมภาพันธ์ 2567

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising