×

รู้ไว้เพื่อความสวย นี่คือส่วนประกอบต่างๆ ที่น่ารู้ในเครื่องสำอาง

13.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รู้จักหน้าที่ของส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องสำอาง เช่น ค่า SPF, ค่า PA, สารสกัดจาก AHA, BHA, พาราเบน, เซราไมด์, กรดไฮยาลูรอนิก, สารแอนติออกซิแดนต์ ฯลฯ ที่หลายคนคุ้นเคย แต่อาจไม่รู้ว่าสารเหล่านี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง

เวลาอ่านข้อมูลส่วนประกอบต่างๆ ที่แปะหราอยู่บนฉลากของเครื่องสำอาง หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่าค่า SPF, ค่า PA, สารสกัดจาก AHA, BHA, พาราเบน, เซราไมด์, กรดไฮยาลูรอนิก, สารแอนติออกซิแดนต์ และอีกมากมาย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เข้าใจแน่ชัดว่าส่วนประกอบเหล่านี้มีไว้ทำไม ช่วยเรื่องอะไร มีข้อเสียอะไร หรือมีแล้วดีหรือไม่ THE STANDARD จึงรวบรวมส่วนประกอบของเครื่องสำอางมาลงดีเทลให้ชัดแบบเคลียร์ๆ ต่อไปเวลาจะเห็นข้อมูลเหล่านี้อีกจะได้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น

 

ค่า SPF

จะพบอยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งค่า SPF ย่อมาจากคำว่า Sun Protection Factor ซึ่งเป็นค่าที่แสดงระยะเวลาในการป้องกันรังสี UVB จำง่ายๆ ว่ามันคือค่าที่บอกให้เรารู้ว่า ถ้าต้องเจอแดด เราจะทนต่อรังสี UVB ได้นานกี่นาที ซึ่งตามข้อมูลทั่วไป ผิวคนเราจะทนต่อรังสี UVB ได้นาน 20 นาที หลังจากนั้นผิวจะเริ่มไหม้ และเริ่มถูกรังสี UVB ทำร้าย

 

สมมติว่าเราทาครีมที่มีค่า SPF2 เลข 2 หมายถึงการยืดระยะเวลาในการป้องกันผิว 2 เท่า (จากปกติที่ผิวคนเราทนต่อรังสี UVB ได้นาน 20 นาที) แปลว่าเมื่อใช้ครีมที่มี SPF2 ก็จะปกป้องรังสี UVB ได้นานขึ้นเป็น 40 นาทีนั่นเอง ยิ่งค่า SPF สูงก็จะช่วยในการปกป้องผิวต่อรังสี UVB ได้นานกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อย แต่ในข้อดีของการใช้ SPF ค่าสูงๆ มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะยิ่งค่า SPF สูง แม้จะมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวได้ยาวนานมากกว่า แต่ก็สามารถสร้างความระคายเคืองผิวได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อล้างออกไม่หมด

*หมายเหตุ: ค่า SPF เริ่มตั้งแต่ SPF15 จนถึง 100 กว่าก็มี

 

ค่า PA

ไหนๆ ก็รู้จักค่า SPF ไปแล้ว เรามารู้จักกับเงาของคำนี้กันหน่อยดีกว่า เพราะมักจะมาคู่กันเป็นปาท่องโก๋ มีค่า SPF ที่ไหน ต้องมีค่า PA ที่นั่น ค่า PA ย่อมาจาก Protection Grade of UVA หมายถึงค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ซึ่งเป็นรังสีที่สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่ผิวชั้นหนังแท้ หรือชั้นเดอร์มิส (Dermis) ซึ่งผลเสียของการรับรังสี UVA เมื่อเข้าสู่ชั้นหนังแท้มากๆ นั้นอาจทำร้ายผิวจนก่อให้เกิดอันตรายได้ในระยะยาว การจะป้องกันเจ้ารังสีตัวนี้จะพึ่งแค่ SPF อาจไม่เพียงพอ เพราะเป็นการปกป้องคนละชั้นผิวกัน ค่า PA จึงเหมาะสมที่สุดในการปกป้องผิวไม่ให้โดนรังสี UVA และค่า PA ที่เห็นนั้นจะมาพร้อมกับเครื่องหมาย + ซึ่ง + เดียวหมายถึงระดับการป้องกันนั้นทำได้ 2-4 เท่า ถ้า ++ (สองบวก) ก็ป้องกันได้ 4-8 เป็นต้น

 

Q: เราจะเลือกค่า PA ที่เหมาะสมได้อย่างไร

A: สำหรับชีวิตประจำวันที่ต้องแต่งหน้าออกจากบ้านธรรมดา ไม่ได้มีกิจกรรมหรือไปเล่นกีฬาเอาต์ดอร์อะไรมากมาย ใช้แค่ PA++ ที่ให้การป้องกัน 4-8 เท่าก็เพียงพอ แต่หากต้องไปเผชิญกับแสงแดดแรงๆ เช่น ไปทริปล่องเรือ ดูปลา ดำน้ำ หรือปีนเขา ที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน แนะนำให้เลือกค่า PA ที่สูงขึ้นเช่น PA+++ หรือ PA++++

 

สารสกัด AHA

AHA ย่อมาจาก Alpha Hydroxy Acid มักเจอในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายไปแล้วให้หลุดออก คนที่ผิวแลดูกระดำกระด่าง ไม่สม่ำเสมอ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA จะช่วยได้มาก ค่าของสารสกัด AHA ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพผิว โดยสารสกัดนี้มักจะเป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้า

 

สารสกัด BHA
BHA ย่อมาจาก Beta Hydroxy Acid เวลาแบรนด์ต่างๆ นำเอาสารสกัด BHA มาใช้กับผลิตภัณฑ์ ให้รู้ไว้ว่าเจ้าสารตัวนี้เป็นกรดซาลิไซลิกชนิดหนึ่ง มีส่วนช่วยในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ส่วนมากจะพบได้ในผลิตภัณฑ์รักษาสิวต่างๆ ซึ่งมีส่วนผสมของ BHA ตั้งแต่ 2% ขึ้นไป ไม่แนะนำให้คนผิวแพ้ง่าย บอบบาง ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัด BHA ที่มีตัวเลข % เยอะๆ เพราะจะสร้างความระคายเคืองให้ผิว แทนที่สิวจะหาย กลายเป็นสิวเห่อกว่าเดิมเพราะระคายเคืองก็มี ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ต้องรู้จักผิวของตัวเองแล้วค่อยเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวจะดีที่สุด

 

สารต้านอนุมูลอิสระ

บางทีก็เรียกว่าสารแอนติออกซิแดนต์ มีในผลิตภัณฑ์แล้วดีไหม? ขอตอบว่าดี! เพราะสารต้านอนุมูลอิสระเป็นเสมือนองครักษ์พิทักษ์ผิวของเราจากอาการระคายเคืองของแสงแดด มลภาวะ สารปนเปื้อนต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา โดยจะพบได้ในถั่ว, ชาเขียว, สารสกัดจากเมล็ดองุ่น, โคเอ็นไซม์ คิว 10, วิตามินซี, ไอดีบีโนน ฯลฯ

 

เซราไมด์

เป็นสารที่โดดเด่นเรื่องคงความชุ่มชื้นให้ผิว จากข้อมูลพบว่าเซราไมด์นี่แหละเป็นสารที่คงความชุ่มชื้นสูงที่สุดในบรรดาสารคงความชุ่มชื้นทั้งหมด สาวคนไหนผิวแห้ง ให้มองหาส่วนผสมที่มีเซราไมด์อยู่ได้เลย เพราะช่วยปกป้องผิวและล็อกความชุ่มชื้นได้ยาวนาน แต่บางครั้งผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดก็โฆษณาว่ามีส่วนผสมเซราไมด์เต็มไปหมด ซึ่งบางทีปริมาณอาจน้อยมาก แต่เอามาชูเป็นจุดเด่น หรือบางทีก็เป็นเซราไมด์ที่ไม่แท้ แต่เป็นสารเลียนแบบ เทคนิคง่ายๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเลือกใช้เพื่อล็อกความชุ่มชื้นให้ผิวนั้นมีส่วนผสมของเซราไมด์แท้ๆ สิ่งหนึ่งที่สามารถบอกได้ในระดับหนึ่งคือราคา โดยของแท้มักมีราคาที่สูงกว่า ส่วนของเลียนแบบมักมีส่วนผสมของเซราไมด์ที่มีความเข้มข้นต่ำ

 

กรดไฮยาลูรอนิก

คำนี้หลายคนคุ้นเคยมาก กรดไฮยาลูรอนิกเป็นสารเนื้อเจลที่อยู่ในชั้นหนังแท้ เป็นสารที่เด่นเรื่องการเก็บกักความชุ่มชื้นสูง ซึ่งหลายๆ แบรนด์นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ให้คุณค่าการบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเข้าสู่ผิว เวลาทาครีมแล้วเหนียวเหนอะหนะ บางทีอาจเป็นเพราะมีกรดไฮยาลูรอนิกผสมอยู่เยอะ แต่ก็ดีและเหมาะกับผิวทุกประเภท แต่หากเทียบประสิทธิภาพในการคงความชุ่มชื้นให้ผิวระหว่างเซราไมด์กับกรดไฮยาลูรอนิก บอกเลยว่ากรดไฮยาลูรอนิกยังแพ้เซราไมด์

 

พาราเบน

เป็นสารที่ทำหน้าที่หยุดการก่อตัวของเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี ในวงการอาหารและยามักจะใช้พาราเบนเป็นส่วนประกอบอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นส่วนประกอบของสารกันบูดนั่นเอง แต่ถ้ามาอยู่ในเครื่องสำอางแล้วดีไหม? ตอบเลยว่าผลเสียมีมากกว่า เพราะเป็นตัวการที่ทำให้ผิวร่วงโรย ผิวแก่เร็ว และเป็นต้นเหตุของกระและริ้วรอยต่างๆ ด้วย เวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เขาแปะฉลากว่า ‘ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน’ จึงควรค่าแก่การเลือกซื้อ เพราะการไม่มีพาราเบนคือการไม่มีส่วนผสมของสารกันบูด และคงไม่มีใครอยากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันบูดกับผิวหน้าของตัวเองหรอกใช่ไหม

 

คอลลาเจน

หลายคนชอบคำว่า คอลลาเจน โดยเฉพาะคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น ริ้วรอยเริ่มมา ความร่วงโรยของผิวเริ่มแสดงออก การมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารคงความชุ่มชื้นอย่างคอลลาเจนจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของใครหลายคน มาทำความรู้จักคอลลาเจนกันให้มากขึ้นดีกว่า คอลลาเจนที่มีอยู่แล้วในผิวคนเรามีโครงสร้างเป็นเส้นใยอยู่ในชั้นหนังแท้ ยิ่งเรามีคอลลาเจนในชั้นผิวเยอะ ผิวของเราก็จะยิ่งนุ่ม ชุ่มชื้น แต่อย่าลืมว่าคอลลาเจนในชั้นผิวของเรากับคอลลาเจนที่อยู่ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีประสิทธิภาพในการคงความชุ่มชื้นต่างกัน เพราะในครีมบำรุงที่เราทาจะไม่สามารถซึมผ่านไปถึงชั้นหนังแท้ได้ ครีมใดๆ ที่ได้ชื่อว่ามีส่วนผสมของคอลลาเจนหรือช่วยเติมเต็มคอลลาเจนให้ผิวก็จะซึมลงไปได้แค่ผิวชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น

 

เรตินอยด์

คำนี้อาจยากและฟังดูไม่ค่อยคุ้น แต่รู้จักไว้เถอะ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อเรตินอยด์ตัวนี้เป็นฮีโร่ในการลดริ้วรอย จุดด่างดำ และฟื้นฟูผิวที่ถูกทำลาย ครีมใดๆ ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์จึงให้คุณค่าในการช่วยลดเลือนและรักษาปัญหาผิวนั่นเอง

 

อ้างอิง

FYI
  • สารสกัดและส่วนผสมต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามยังไม่หมดแค่นี้ เพราะยังมีสารอื่นๆ เช่น สฟิงโกลิพิด, เลซิติน, สารเสมือนเฮพาริน, น้ำมันทั้งจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ อีลาสติน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราเลือกมาเฉพาะบางส่วนที่พบเห็นได้บ่อยในฉลากผลิตภัณฑ์ความงาม เพื่อให้รู้จักและเข้าใจหน้าที่ของสารสกัดรวมถึงส่วนผสมต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X