×

ส่องความคืบหน้าอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ วัคซีนของใครคือผู้นำ ใครคือผู้ตาม และโอกาสที่ทั่วโลกจะได้ใช้งาน

โดย THE STANDARD TEAM
04.01.2021
  • LOADING...
ส่องความคืบหน้าอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ วัคซีนของใครคือผู้นำ ใครคือผู้ตาม และโอกาสที่ทั่วโลกจะได้ใช้งาน

การพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จนถึงตอนนี้ เรียกได้ว่าสามารถมองเห็นแสงแห่งความหวัง หลังจากที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิสราเอล รัสเซีย จีน และล่าสุดไม่กี่วันนี้คืออินเดีย ต่างทยอยอนุมัติใช้งานวัคซีนของหลายกลุ่มวิจัยหัวแถว ที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่มากพอ 

 

การแข่งขันส่งมอบวัคซีนของแต่ละกลุ่มวิจัย เพื่อยุติการระบาดของโควิด-19 จนถึงตอนนี้ก้าวหน้าไปแค่ไหน และโอกาสที่ทั่วโลกจะได้ใช้วัคซีนมีมากน้อยเพียงใด THE STANDARD รวบรวมข้อมูลความคืบหน้าล่าสุดจาก Reuters และถอดความมาให้ได้อ่านกัน รวมถึงตอบข้อสงสัยหลายประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการทดลองวัคซีนก่อนอนุมัติใช้ในหลายประเทศ

 

ใครคือผู้นำ?

บริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Pfizer และ BioNTech พาร์ตเนอร์จากเยอรมัน ถือเป็นผู้นำในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 หลังจากที่เป็นกลุ่มวิจัยแรกของโลกที่เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพจากการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูงกว่า 95% ซึ่งอังกฤษเป็นชาติแรกที่อนุมัติใช้งานวัคซีนตัวนี้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ตามด้วยแคนาดาในวันที่ 9 ธันวาคม และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติใช้งานฉุกเฉินวันที่ 11 ธันวาคม 

 

จากนั้นจึงมีอีกหลายประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย เม็กซิโก ที่อนุมัติใช้งานวัคซีนของ Pfizer และ BioNTech ตามด้วยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ที่อนุมัติใช้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ส่วนอินเดีย มีข่าวว่ากำลังเร่งตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติใช้งานฉุกเฉิน

 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศอนุมัติให้วัคซีนของ Pfizer และ BioNTech สามารถใช้งานฉุกเฉิน เพื่อสร้างความมั่นใจและเปิดทางให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านวัคซีนของตนเอง สามารถอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 ได้โดยเร็ว

 

Moderna คืบหน้าแค่ไหน?

บริษัท Moderna Inc. นั้นตามติด Pfizer มาเป็นอันดับ 2 โดยได้รับการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ หลังจากที่เปิดเผยข้อมูลเต็มของผลวิเคราะห์การทดลองในระยะท้ายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งพบว่าอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 94.1% 

 

โดย FDA สหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติใช้งานวัคซีนของ Moderna สำหรับกรณีฉุกเฉิน ในวันที่ 19 ธันวาคม ขณะที่แคนาดาอนุมัติในวันที่ 23 ธันวาคม และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป วันที่ 6 มกราคม

 

AstraZeneca

อินเดียอนุมัติใช้งานวัคซีนแบบ 2 โดสของ AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่มีชื่อเรียกว่าวัคซีน Covishield เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ วัคซีนตัวนี้ได้รับไฟเขียวให้ใช้งานฉุกเฉินแล้ว ทั้งในอังกฤษ อาร์เจนตินา และเอลซัลวาดอร์

 

สำหรับคำถามสำคัญที่ทำให้การอนุมัติใช้วัคซีนนั้นมีความซับซ้อน เป็นผลจากข้อมูลด้านความทนทานของวัคซีน ซึ่ง AstraZeneca เปิดเผยผลทดลองขั้นต้นในการทดลองทางคลินิกเฟสที่ 3 พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีน Covishield หากฉีดครบ 2 โดส จะมีประสิทธิภาพราว 62% แต่หากฉีดครั้งแรกครึ่งโดส และครั้งที่ 2 เต็มโดส จะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึงราว 90% 

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษไม่ได้ยึดเอาผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการวิเคราะห์และอนุมัติใช้งานวัคซีน

 

นอกจากนี้ AstraZeneca ก็กำลังอยู่ระหว่างหารือกับองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังตรวจสอบวัคซีน Covishield ก่อนพิจารณาอนุมัติใช้งาน

 

ใครอีกที่กำลังแข่งขันเพื่ออนุมัติใช้งานวัคซีน?

Johnson & Johnson บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ วางแผนเผยแพร่ข้อมูลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ของตนในช่วงเดือนมกราคม ก่อนเตรียมพร้อมขออนุมัติใช้งานในเดือนกุมภาพันธ์ หากวัคซีนมีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทลดจำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกลงจาก 60,000 เหลือ 40,000 คน เพื่อเร่งรัดผลลัพธ์ที่มีความเชื่อมโยงกับความเร็วในการติดเชื้อของผู้ร่วมทดลอง

 

Novavax เป็นอีกบริษัทสัญชาติอเมริกันที่อยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะท้ายในอังกฤษ โดยคาดว่าจะเปิดเผยข้อมูลขั้นต้นของการทดลองได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มต้นการทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงเดือนนี้

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิจัยอื่นที่พยายามพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยบริษัทยา Sanofi ของฝรั่งเศส และ GlaxoSmithKline ของอังกฤษ ประกาศความพ่ายแพ้ในการพัฒนาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังผลทดลองระยะกลางพบว่าวัคซีนของตนไม่ส่งผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุที่มากพอ แต่เตรียมเริ่มเดินหน้าการวิจัยอีกรอบในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

ในการทดลองวัคซีนต้องใช้อะไรประกอบ?

บริษัทต่างๆ มักจะทดสอบวัคซีนของตนกับยาหลอก (Placebo) ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นน้ำเกลือ ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี เพื่อดูว่าอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้น ต่ำกว่าผู้ที่ได้รับการฉีดยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

 

อาสาสมัครติดเชื้อได้อย่างไร?

การทดลองนั้นขึ้นอยู่กับการที่กลุ่มตัวอย่างติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ ดังนั้นระยะเวลาในการสร้างผลลัพธ์ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าไวรัสแพร่ระบาดเพียงใดในสถานที่ซึ่งทำการทดลอง โดยผู้ผลิตยาแต่ละรายจะกำหนดเป้าหมายการติดเชื้อจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ข้อมูลขั้นแรก

 

วัคซีนที่ใช้งานได้นั้นควรมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน?

องค์การอนามัยโลกต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้อย่างน้อย 70% ขณะที่ FDA ต้องการอย่างน้อย 50% ซึ่งหมายความว่าต้องมีการติดเชื้ออย่างน้อยสองเท่า กลุ่มในอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอกเช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนองค์การยาแห่งสหภาพยุโรประบุว่าอาจยอมรับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า

 

วัคซีนของจีนและรัสเซียเป็นอย่างไรบ้าง?

แม้ว่าวัคซีนของ Pfizer จะเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติและแจกจ่ายให้ใช้งานเป็นวงกว้าง หลังการเผยแพร่ข้อมูลการทดลองเฟสที่ 3 แต่สำหรับรัสเซียและจีน ได้เริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมาแล้วก่อนหน้านี้หลายเดือน

 

โดยทางรัฐบาลจีนนั้นเริ่มอนุมัติใช้งานวัคซีนโควิด-19 กรณีฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยฉีดให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่แนวหน้า รวมถึงกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง

ซึ่งจนถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พบว่ามีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน ขณะที่วัคซีนที่ถูกนำมาใช้นั้น มี 3 ชนิด รวมทั้งวัคซีนที่พัฒนาโดย China National Biotec Group (CNBG) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตวัคซีนรายสำคัญของจีน และวัคซีนของบริษัท Sinovac Biotech

 

ขณะที่ล่าสุด ในวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางการจีนยังอนุมัติใช้งานวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดย Sinopharm บริษัทผลิตยารายใหญ่ของรัฐบาลจีน ซึ่งทางบริษัทระบุว่าวัคซีนของตนนั้นมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้สูงราว 79%

 

ส่วนทางด้านรัสเซียได้เริ่มต้นอนุมัติใช้งานวัคซีนต้านโควิด-19 ชื่อว่า Sputnik V ที่พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 100,000 คน ซึ่งรัฐบาลรัสเซียมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้ โดยผลการทดลองขั้นต้นที่รัสเซียประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 91.4%

 

ทั้งนี้ อินเดียวางแผนผลิตวัคซีน Sputnik V จำนวน 300 ล้านโดสในปีนี้ ขณะที่อาร์เจนตินาได้ไฟเขียวให้ใช้งานวัคซีนจากรัสเซียในกรณีฉุกเฉินแล้ว หลังจากได้รับวัคซีนจำนวน 300,000 โดส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising